พระราชประวัติ
สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

     สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จทรงพระชนม์อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งยุคสมัย พระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยมนุษยธรรม ทรงบำเพ็ญพระราชกรณีกิจ นานัปการเพื่อร่วมสร้างสังคมไทยให้พัฒนาอย่างยั่งยืนและมั่นคง
     สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๕ ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองฺค์เจ้าสว่างวัฒนา
พระราชโอรสธิดาที่ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ๖ พระองค์ ได้แก่
     ๑.  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย
     ๒.  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ต้นราชสกุลเทวกุล
     ๓.  สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
     ๔.  สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
     ๕.  สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ
     ๖.  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์
 
 
     เมื่อสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาภายในพระราชวังตาม ราชประเพณี ทรงได้ชื่อว่ามีความจำเป็นเลิศ ทรงเรียนรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทรงฝึกหัดงานหัตถศิลปราชสำนัก จนทรงเชี่ยวชาญอย่างยิ่งในงานผ้า ประเภทปักถักกรอง
     พ.ศ. ๒๔๑๑ สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ามี พระชนมายุเพียง ๖ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา
     ด้วยพระอุปนิสัย ร่าเริง มีพระสิริโฉมงดงาม อีกทั้งฉลาดมีไหวพริบ เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้า และทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓
     ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระราชนัดดา ทรงเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗
     สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระราชโอรสธิดารวม ๘ พระองค์ ได้แก่
     ๑. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชสมภพ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑ เสด็จสวรรคต ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗
     ๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาภรณ์ ประสูติ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๒ สิ้นพระชนม์ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๒
     ๓.  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา ประสูติ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๔ สิ้นพระชนม์ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๔
     ๔.   สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ประสูติ ๙ มิถุยายน พ.ศ. ๒๔๒๕ สิ้นพระชนม์ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๒
     ๕.  สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ประสูติ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๗ สิ้นพระชนม์ 
๑๕ กุมภาพันธ์พ.ศ. ๒๔๘๑
     ๖.   สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ ประสูติ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๑ สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๔๔๑
     ๗.  สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จพระราชสมภพ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ 
เสด็จสวรรคต ๒๔๗๒ ทรงเป็นต้นราชสกุลมหิดล
     ๘.   สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง ประสูติ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ สิ้นพระชนม์ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖
     สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงอภิบาลพระราชโอรสธิดาที่กำพร้าพระมารดาอีก ๔ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท และพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ในเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ กับพระองค์เจ้าประภาพรรณพิไล และพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ในเจ้าจอมมารดาพร้อม ทรงพระเมตตาประดุจพระราชโอรสธิดาของพระองค์เอง
     ในฐานะสมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงรับใช้ใกล้ชิดเบื้อง พระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาจดจำจนรอบรู้กิจการขนบธรรมเนียมราชประเพณี ได้ตามเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ อยู่เสมอ บางครั้งก็ตามเสด็จไปยังต่างประเทศ เช่น มลายู สิงคโปร์ ชวา โดยเฉพาะการเสด็จพระราชดำเนินไปสิงคโปร์ พ.ศ. ๒๔๓๓ เป็นคราวแรกที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระอัครมเหสีอย่างเป็นทางการในต่างแดน
     เมื่อเสด็จไปทรงรักษาพระอาการประชวร ณ พระตำหนักศรีราชาใน พ.ศ. ๒๔๔๒ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดให้สร้างสถานพยาบาลขึ้นที่บริเวณที่ประทับ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า โรงพยาบาลสมเด็จ ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และด้วยพระเมตตาแก่ประชาชน สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงริเริ่มจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ใช้เกวียนเป็นพาหนะนำแพทย์และเวชภัณฑ์ไปสู่ชนบทห่างไกลในพื้นที่ศรีราชา ทรงดำรงตำแหน่งสภาชนนีแห่งสภาอุณาโลมแดง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ องค์กรการกุศลนี้ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ทหารที่เจ็บป่วย ต่อมา คือ สภากาชาดไทย ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จองค์สภานายิกา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๓ จนกระทั่งเสด็จสวรรคต
     ทรงเป็นแรงบันดาลใจและสนับสนุนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกให้ทรงงานด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การพยาบาล และการอุดมศึกษา พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อช่วยพัฒนาทั้งด้านกายภาพ ทุนการศึกษา และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
     การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพ ทรงส่งเสริมให้สตรีมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ทรงสนับสนุนพระราชธิดาให้ทรงงานด้านการศึกษา พระราชทานพระราชินูปถัมภ์แก่โรงเรียนสตรีหลายแห่ง เช่น โรงเรียนราชินี กรุงเทพฯ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เชียงใหม่ โรงเรียนวรนารีเฉลิม สงขลา และโรงเรียนสหายหญิง สระบุรี เป็นต้น ทรงเน้นย้ำไม่ให้ เรียนแต่วิชาการ แต่ต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อการงานอาชีพและการดำรงชีวิตในสังคมด้วย
     ด้วยพระราชอัธยาศัยใฝ่รู้ เสด็จฯไปทรงฟังปาฐกถาในมหาวิทยาลัย เมื่อมีอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น เครื่องเอกซเรย์เข้ามาเมืองไทย ก็เสด็จฯไปทอดพระเนตร ทรงศึกษาพระพุทธศาสนาทรงอ่านพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ ด้วยเหตุนี้จึงทรงส่งเสริมการเรียนรู้ โปรดเกล้าฯให้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมในวัดปทุมวนาราม พระราชทานพระราชทรัพย์จัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา วรรณคดี และประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงริเริ่มให้จัดทำหนังสือประชุมพงศาวดาร
     ทรงเป็นสตรีล้ำสมัยในด้านเศรษฐกิจและการจัดการ ทรงลงทุนในกิจการโรงสี ป่าไม้ ประกันภัยประกันชีวิต ทอผ้าและงานศิลป์อื่นๆ ทรงจัดงานแสดงศิลปหัตถกรรมไทย ณ อาคารสตรี ในงานนิทรรศการโลก ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ผลงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ส่งไปจัดแสดงได้รับเหรียญรางวัล และประกาศยกย่องชมเชย
     สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีน้ำพระราชหฤทัยเมตตากรุณาต่อผู้ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อนอยู่เสมอ เมื่อคราวเกิดอุทกภัยใหญ่ พ.ศ. ๒๔๖๐ โปรดให้นำข้าวสารในวังสระปทุมแจกแก่ราษฎรที่ขาดแคลน โปรดเกล้าฯให้ขุดบ่อน้ำ สระน้ำ สร้างสะพาน เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในหลายท้องที่ ด้วยทรงพระราชดำริว่า “จะทำการกุศลทั่วไปไม่เลือก”
     สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จสวรรคต ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ พระชนมายุ ๙๓ พรรษา