โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

โรคไวรัสอีโบลา หรือไข้เลือดออกอีโบลา

          โรคไวรัสอีโบลา เป็นโรคของมนุษย์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา เริ่มมีอาการ 2-21วัน (ระยะฟักตัว) หลังสัมผัสเชื้อไวรัส อาการเริ่มแรกมีไข้ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ จากนั้นมีคลื่นไส้อาเจียน และท้องเสียร่วมกับการทำงานของตับและไตลดลงตามมา เมื่อถึงจุดนี้ บางคนเริ่มมีปัญหาเลือดออกบริเวณทางเดินอาหาร ถ่ายเป็นเลือด มีเลือดออกทางจมูก ปาก ทวาร หู ตา เชื้อจะแพร่กระจายมากที่สุดในช่วงที่ผู้ป่วยอาการหนัก คือ ช่วงที่มีอาการอาเจียน ท้องเสีย ช็อค เลือดออก การติดเชื้อจากคนสู่คน เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือดที่ติดเชื้อ สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำอสุจิ และยังพบการแพร่กระจายเชื้ออีโบลาในพิธีศพได้บ่อย เนื่องจากผู้มาร่วมพิธีศพอาจมีการสัมผัสโดยตรงกับร่างกายของผู้เสียชีวิต มนุษย์รับเชื้อนี้ครั้งแรกเมื่อสัมผัสกับเลือด หรือสารคัดหลั่งในร่างกายจากสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น ลิง หรือค้างคาวผลไม้

เชื่อว่าค้างคาวผลไม้เป็นตัวพาหะและแพร่เชื้อโรคโดยไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัส เมื่อติดเชื้อแล้วโรคอาจแพร่จากคนสู่คนได้ ผู้ที่รอดชีวิตอาจสามารถส่งผ่านโรคทางน้ำอสุจิได้เป็นเวลา 7 สัปดาห์

          ในการวินิจฉัยต้องแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกันออกก่อน เช่น มาลาเรีย อหิวาตกโรค และไข้เลือดออกจากไวรัสอื่นอาจทดสอบเลือดหาแอนติบอดีต่อไวรัสดีเอ็นเอของไวรัส หรือตัวไวรัสเองเพื่อยืนยันการวินิจฉัย โรคนี้มีอัตราตายสูงระหว่าง 60-90% ของผู้ติดเชื้อไวรัส มีการระบุโรคนี้ครั้งแรกในประเทศซูดาน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีรายงานการระบาดครั้งแรกปี 2519 ในแอฟริกาใต้สะฮารา ปี 2555 มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 1,000 คนต่อปี การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดจนถึงปัจจุบัน คือ การระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก พ.ศ. 2557 ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ โดยระบาดในประเทศกินี เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย และเซเนกัล จนถึง วันที่ 28สิงหาคม 2557 มีผู้ป่วยยืนยันแล้ว 3069 คน เสียชีวิต 1552 คน

อาการและอาการแสดง

        อาการและอาการแสดงของอีโบลา ปกติเริ่มเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยรู้สึกเหนื่อย ไข้ ปวดศีรษะ และปวดข้อ กล้ามเนื้อ และปวดท้อง นอกจากนี้ อาการอาเจียน ท้องร่วง และไม่อยากอาหารยังพบได้ทั่วไป เวลาเฉลี่ยระหว่างได้รับเชื้อจนเริ่มมีอาการ คือ 8 -10 วัน (ระยะฟักตัว 2 – 21วัน) ผิวหนังอาจมีผื่นจุดราบและผื่นนูน (ในราว 50% ของผู้ป่วย) อาการเริ่มแรกของโรคไวรัสอีโบลาอาจคล้ายกับอาการเริ่มแรกของมาลาเรีย ไข้เลือดออกเด็งกี หรือไข้เขตร้อนอื่น ก่อนโรคดำเนินเข้าสู่ระยะเลือดออก

สาเหตุ

        เชื้อไวรัสอีโบลา จะอยู่ในสัตว์ คนได้รับเชื้อนี้จากสัตว์ที่มีเชื้อโรค การติดต่อจากคนสู่คนโดยการได้รับ สารคัดหลั่ง ขณะนี้ยังไม่มียาสำหรับรักษาโรคนี้ Ebola virus อยู่ใน family ที่เรียกว่า Filoviridae นักวิทยาศาสตร์แบ่งไวรัสอีโบลานี้เป็น 5 ชนิด 4 ชนิดมีรายงานว่าทำให้เกิดโรคในคนได้แก่เชื้อ

        • Ebola-Zaire virus
        • Ebola-Sudan virus
        • Ebola-Ivory Coast virus
        • Ebola-Bundibugyo virus

การแพร่เชื้อ

        ไม่เป็นที่ทราบทั้งหมดว่าอีโบลาแพร่อย่างไร? เชื่อว่าโรคไวรัสอีโบลาเกิดหลังไวรัสอีโบลา แพร่สู่มนุษย์ครั้งแรกโดยการสัมผัสกับสารน้ำจากร่างกายของสัตว์ที่ติดเชื้อ การแพร่เชื้อจากคนสู่คนเกิดขึ้น โดยผ่านการสัมผัสกับเลือด หรือสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อโดยตรง(รวมการฉีดดองศพผู้ตายที่ติดเชื้อ) หรือโดยการสัมผัสกับเวชภัณฑ์ที่ปนเปื้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเข็ม และกระบอกฉีดยา การแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสทางปาก และผ่านการสัมผัสทางเยื่อบุตาน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด แนวโน้มการติดเชื้อโรคไวรัสอีโบลาเป็นวงกว้างนั้นถือว่าต่ำ เพราะโรคนี้แพร่เฉพาะโดยการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยที่มีอาการเท่านั้น การเริ่มต้นอาการที่รวดเร็วทำให้การระบุผู้ป่วย และจำกัดความสามารถของบุคคลในการแพร่โรคด้วยการเดินทางง่ายขึ้น เพราะศพผู้เสียชีวิตยังติดเชื้อได้ แพทย์บางคนจึงต้องใช้มาตรการเพื่อกำจัดศพในทาง ที่ปลอดภัยแม้จะขัดต่อพิธีกรรมฝังศพของท้องถิ่นก็ตาม

        เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ไม่สวมเสื้อผ้าป้องกันที่เหมาะสมอาจสัมผัสเชื้อได้ ในอดีตการแพร่เชื้อ ที่ได้มาจากโรงพยาบาลเกิดในโรงพยาบาลในทวีปแอฟริกาเนื่องจากการใช้เข็มซ้ำ และขาดการป้องกันที่ดี โรคไวรัสอีโบลาไม่แพร่เชื้อผ่านอากาศตามธรรมชาติ แต่ไวรัสสามารถแพร่เชื้อได้จากละอองที่สร้างจากห้องปฏิบัติการโดยการปั่นเลือดขนาด 0.8–1.2 ไมโครเมตร ที่หายใจเข้าไปได้ เนื่องจากช่องทางติดเชื้อ ที่เป็นไปได้นี้ ไวรัสเหล่านี้จึงถูกจัดเป็นอาวุธชีวภาพหมวดเอ ล่าสุดไวรัสนี้ได้แสดงว่าสามารถแพร่กระจายจากหมูสู่สัตว์จำพวกไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์ได้โดยไม่ต้องมีการสัมผัสใด ๆ ทั้งสิ้น

ตัวเก็บเชื้อ

        ค้างคาวถือว่าเป็นตัวเก็บเชื้อตามธรรมชาติ ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด โดยมีหลักฐานการพบค้างคาวอาศัยอยู่นอกโรงงานฝ้ายซึ่งผู้ป่วยรายแรก ๆ ของการระบาดครั้งปี 2519 และ 2522 ทำงานอยู่ และยังอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กในปี 2518 และ 2523

การวินิจฉัย

        ประวัติผู้ป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติการท่องเที่ยว และทำงานร่วมกับผู้ป่วย การสัมผัสสัตว์ป่า มีความสำคัญต่อการวินิจฉัยโรคไวรัสอีโบลา ยืนยันการวินิจฉัยโดยการแยกไวรัส ตรวจหาอาร์เอ็นเอ หรือโปรตีนไวรัส หรือตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อไวรัสในเลือดของบุคคล การแยกไวรัสโดยการเพาะเลี้ยงเซลล์ การตรวจหาอาร์เอ็นเอไวรัสโดยปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (PCR) และการตรวจหาโปรตีนโดยวิธีอีไลซา (ELISA) มีประสิทธิภาพเร็วในผู้ที่เสียชีวิตจากโรค การตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อไวรัส มีประสิทธิภาพช้าในโรค และในผู้ที่ฟื้นตัว

        ระหว่างการระบาด การแยกไวรัสมักเป็นไปไม่ได้ วิธีการวินิจฉัยที่ใช้มากที่สุดจึงเป็นเรียลไทม์ PCR และการตรวจโปรตีนด้วย ELISA ซึ่งสามารถทำได้ในโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลเคลื่อนที่ พบและระบุวิริออนฟิโลไวรัสได้ในการเพาะเลี้ยงเซลล์โดยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเนื่องจากรูปทรงเส้นด้าย อันเป็นเอกลักษณ์ของพวกมัน แต่กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนไม่อาจบอกความแตกต่างระหว่างฟิโลไวรัสชนิดต่าง ๆ ได้แม้ความยาวแตกต่างกันบ้าง

การวินิจฉัยแยกโรค

        อาการของโรคไวรัสอีโบลาคล้ายกับอาการของโรคไวรัสมาร์เบิร์กมีการสับสนได้ง่ายกับโรคอื่นจำนวนมากที่พบบ่อยในแอฟริกาแถบเส้นศูนย์สูตร เช่น ไข้เลือดออกจากไวรัสอื่น มาลาเรียชนิดฟัลซิปารัม ไข้ไทฟอยด์ โรคติดเชื้อชิเกลลา โรคจากริกเก็ตเซีย เช่น ไข้รากสาดใหญ่ อหิวาตกโรค ภาวะเลือดเป็นพิษเหตุติดเชื้อแกรมลบ โรคไลม์ เช่น โรคไข้กลับ หรือลำไส้อักเสบ EHEC โรคติดเชื้ออื่นที่ควรรวมอยู่ในการวินิจฉัยแยกโรคด้วย รวมถึง โรคฉี่หนู ไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ กาฬโรค ไข้คิว โรคติดเชื้อราแคนดิดา โรคติดเชื้อราฮีสโตพลาสมา โรคติดเชื้อทริปาโนโซมา โรคติดเชื้อลิชมาเนียอวัยวะ โรคฝีดาษเลือดออก โรคหัด และโรคตับอักเสบจากไวรัสเร็วร้าย โรคไม่ติดเชื้อที่อาจสับสนกับโรคไวรัสอีโบลา ได้แก่ มะเร็ง เม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดโปรไมอิโลไซติก กลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตก-ยูรีเมีย การได้พิษงู การพร่องปัจจัยเลือดจับลิ่ม หรือความผิดปกติของเกล็ดเลือด มีลิ่มเลือดในหลอดเลือดขนาดเล็ก หลอดเลือดฝอยพอง และมีเลือดออกที่เป็นกรรมพันธุ์ โรคคาวาซากิ และกระทั่งภาวะพิษวาร์ฟาริน

การป้องกัน

        โดยส่วนใหญ่คือ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์ป้องกันบุคคลทั่วกายที่เหมาะสมและการฆ่าเชื้อเทคนิคเพื่อเลี่ยงการติดเชื้อเกี่ยวกับการไม่สัมผัสกับเลือด หรือสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อรวมทั้งเลือด และสารคัดหลั่งจากศพ ซึ่งจำเป็นต้องสงสัยและทำการวินิจฉัยโรคโดยเร็ว จะต้องใช้ความระมัดระวังมาตรฐานสำหรับผู้ป่วยทุกคนในสถานบริการสาธารณสุข มาตรการที่แนะนำเมื่อดูแลผู้ติดเชื้อรวมทั้งการแยกผู้ป่วย การทำความสะอาดอุปกรณ์ และการสวมเสื้อผ้าป้องกัน ได้แก่ หน้ากาก ถุงมือ เสื้อกาวน์ และแว่นตาป้องกัน การล้างมือมีความสำคัญแต่อาจทำได้ลำบากในพื้นที่ซึ่งไม่มีแม้น้ำสำหรับดื่มเลย

        สามารถกำจัดไวรัสอีโบลาได้ด้วยความร้อน (ให้ความร้อน 60 °C เป็นเวลา 30 ถึง 60 นาที หรือต้มเป็นเวลา 5 นาที) ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์ โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (สารฟอกจาง) หรือแคลเซียมไฮโปคลอไรต์ (ผงฟอกจาง) ที่ความเข้มข้นที่เหมาะสม โรคระบาดขนาดใหญ่ส่วนมากเกิดในพื้นที่ยากจนทุรกันดารซึ่งไม่มีโรงพยาบาลสมัยใหม่ หรือเจ้าหน้าที่แพทย์ เนื่องจากขาดอุปกรณ์ และการปฏิบัติสุขลักษณะที่เหมาะสม พิธีกรรมฝังตามประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีที่ต้องฉีดดองศพ ควรถูกห้ามปราม หรือเปลี่ยนแปลง

การกักโรค

        การกักโรค หรือการแยกโดยบังคับ ปกติมีผลลดการแพร่โรคได้ รัฐบาลมักกักโรคซึ่งพื้นที่ที่เกิดโรค หรือปัจเจกบุคคลที่อาจติดเชื้อ ในสหรัฐอเมริกา กฎหมายอนุญาตให้กักโรคผู้ติดเชื้ออีโบลา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

วัคซีน

        ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับมนุษย์ วัคซีนขั้นทดลองที่มีหวังที่สุด คือ วัคซีนดีเอ็นเอ หรือวัคซีน ที่มาจาก แอดิโนไวรัส ไวรัสปากอักเสบตุ่มพองอินเดียนา หรืออนุภาคคล้าย filovirus เนื่องจากวัคซีนขั้นทดลองเหล่านี้สามารถป้องกันไพรเมตที่มิใช่มนุษย์จากโรคที่ ebolavirus ชักนำได้ วัคซีนดีเอ็นเอ วัคซีนยึดแอดิโนไวรัส และวัคซีน VSIV เข้าสู่การทดลองทางคลินิกแล้ว

        วัคซีนช่วยปกป้องไพรเมตที่มิใช่มนุษย์ การก่อภูมิคุ้มกันใช้เวลาหกเดือน ซึ่งขัดขวางการใช้วัคซีนเพื่อรับมือการระบาด ในปี 2546 ในการแสวงการเริ่มต้นประสิทธิภาพที่เร็วขึ้น มีการทดสอบวัคซีนตัวหนึ่งโดยใช้ตัวนำโรคแอดิโนไวรัสที่มีโปรตีนเดือยอีโบลา กับลิงแสม 28 วันให้หลัง พวกมันถูกทดสอบด้วยไวรัส และยังคงต้านทานอยู่ วัคซีนที่อาศัยไวรัสปากอักเสบตุ่มพองผสมอ่อนฤทธิ์ ที่มีไกลโคโปรตีนของอีโบลาหรือมาร์เบิร์กในปี 2548 ป้องกันไพรเมตที่มิใช่มนุษย์ และเปิดการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ การศึกษาในเดือนตุลาคมเสร็จสิ้นการทดลองในมนุษย์ครั้งแรก การให้วัคซีนสามรอบในสามเดือนชักนำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอย่างปลอดภัย มีการติดตามผู้รับการทดลองเป็นเวลาหนึ่งปี และในปี 2549 การศึกษาโดยทดสอบวัคซีนเข็มเดียวออกฤทธิ์เร็วเริ่มต้น การศึกษาใหม่นี้แล้วเสร็จในปี 2551 การทดสอบวัคซีนกับสายพันธุ์อีโบลาที่คล้ายกับสายพันธุ์ที่ติดเชื้อในมนุษย์เป็นก้าวถัดไป ในวันที่ 6 ธันวาคม 2554 มีรายงานการพัฒนาวัคซีนอีโบลาสำหรับหนูสำเร็จ วัคซีนชนิดนี้สามารถทำให้แห้งแบบเยือกแข็งได้ ไม่เหมือนกับวัคซีนชนิดก่อน ๆ ฉะนั้นจึงเก็บได้นานคอยการระบาดมีการใช้วัคซีนทดลองที่นักวิจัย ที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติของแคนาดาผลิตในวินนีเพ็กในปี 2552 เพื่อชิงรักษานักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้หนึ่งที่อาจติดเชื้อระหว่างอุบัติเหตุห้องปฏิบัติการ แต่การติดเชื้อไวรัสอีโบลาแท้จริงอาจไม่สามารถแสดงได้โดยปราศจากข้อสงสัยในการทดลองสามารถใช้ไวรัสปากอักเสบตุ่มพองอินเดียนาผสมที่แสดงออก ซึ่งไกลโคโปรตีนของไวรัสอีโบลา หรือไวรัสซูดานสำเร็จในแบบจำลองไพรเมตที่มิใช่มนุษย์เป็นมาตรการป้องกันโรคหลังสัมผัสเชื้อ ปัจจุบัน การแนะนำของศูนย์ควบคุมโรคกำลังอยู่ระหว่างการทบทวน

ห้องปฏิบัติการ

        ไวรัสอีโบลาเป็นจุลชีพก่อโรคกลุ่มเสี่ยง 4 ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งต้องการการกักกันเทียบเท่าความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 4 นักวิจัยห้องปฏิบัติการต้องได้รับการฝึกอย่างเคร่งครัดในการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 4 และสวมอุปกรณ์ป้องกันบุคคลอย่างเหมาะสม

คำแนะนำสำหรับการดูแลรักษา

        1. ไม่มีการรักษาเฉพาะในประเทศไทยเพราะยารักษาเฉพาะทางนั้นยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทดลองยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนยาตามระบบ โดยเฉพาะความปลอดภัยดังนั้นการจะนำยาเข้ามาใช้ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการด้านการวิจัยดูแลรักษาของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และพิจารณาเป็นกรณี สำหรับรายการยาที่อยู่ระหว่างการศึกษาทดลองได้แก่ Z Mapp

        2. การรักษาแบบประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง และปลอดภัย ให้การดูแลรักษาตามอาการของผู้ป่วย ได้แก่ การให้สารน้ำ การให้ออกซิเจน การให้เลือด มักพบว่าผู้ป่วยขาดน้ำอย่างรุนแรง

การพยากรณ์โรค

        โรคนี้มีอัตราตายสูง 60- 90% เมื่อเดือนเมษายน 2557 สารสนเทศจากองค์การอนามัยโลกรายงานการอุบัติโรคทั้งสิ้นจนปัจจุบัน อัตราตายรวมที่ 60%-65% มีข้อบ่งชี้โดยอาศัยอัตราตายระหว่างประเทศที่การรักษาอาการโดยเร็ว และมีประสิทธิภาพ คือ การอภิบาลประคับประคองเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ อาจลดอัตราตายอย่างมีนัยสำคัญ หากผู้ติดเชื้อรอดชีวิต การฟื้นตัวอาจเร็ว และสมบูรณ์ได้ ผู้ป่วยระยะยาวมักมีการเกิดปัญหาแทรกซ้อนระยะยาว เช่น อัณฑะอักเสบ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ผิวหนังลอกหรือผมร่วง อาการของตา เช่น ไวต่อแสง น้ำตาไหลมาก ม่านตาอักเสบ ม่านตา และซิลิอารีบอดีอักเสบ คอรอยด์อักเสบและ ตาบอดด้วย ไวรัสอีโบลาและไวรัสซูดานยังอาจคงอยู่ในน้ำอสุจิของผู้รอดชีวิตบางคนได้นาน 7 สัปดาห์ ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อ และโรคผ่านการร่วมเพศ

        อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกท่านอย่าตระหนก และขอให้ใช้ชีวิตตามปกติ และติดตามข่าวสาร ความคืบหน้าเรื่องผู้ป่วย และโรคไวรัสอีโบลาจากกระทรวงสาธารณสุข ขอให้หมั่นล้างมือหลังสัมผัสสิ่งของ หรือออกจากห้องน้ำห้องส้วม ขอยืนยันว่าโรคนี้ติดต่อกันยาก การติดต่อจะเกิดขึ้นได้จะต้องสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง และอาการอื่น ๆ โดยเชื้อจะอยู่ในเลือด หรือสารคัดหลั่งที่ออกมาจากผู้ป่วย รวมทั้งอาเจียนของผู้ป่วย การสัมผัสอย่างผิวเผิน เช่น บ้านใกล้กัน เดินสวนกัน กินข้าวร้านเดียวกัน หรือร่วมโต๊ะเดียวกัน จะไม่ติดโรค ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานว่ามีผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสอีโบลา แม้ว่าคนไทยจะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ต่ำ แต่กระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ประมาท ได้จัดระบบเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และป้องกันโรคนี้ไว้แล้วอย่างเข้มแข็ง

———————————————–