สาเหตุข้อเข่าเสื่อม
1. น้ำหนักตัวมาก
2. อายุเกิน 40 ปี
3. การยืน หรือนั่งงอเข่านาน ๆ
4. การมีลักษณะเข่าโก่งออกนอก หรือโค้งเข้าใน
5. จากสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าอ่อนแรง เช่น ได้รับบาดเจ็บ
6. ปัจจัยส่งเสริมอื่น ๆ เช่น ขาดอาหาร หญิงวัยหมดประจำเดือน การได้รับยาฉีดเข้าข้อ
โรคข้ออักเสบจากสาเหตุอื่น เช่น โรคเกาต์ โรครูมาตอยด์ ฯลฯ
อาการ
– ปวดรอบเข่า นั่งแล้วลุกลำบาก หรือปวดมากเวลาเดิน
– บวม และร้อนรอบเข่า
– เคลื่อนไหวข้อเข่าได้ไม่เต็มที่ งอ และเหยียดไม่สุด เวลาเคลื่อนไหวข้อจะมีเสียงดัง
– สภาพเข่าโก่ง หรือโค้งผิดรูปมากขึ้น
อาการเหล่านี้จะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ ในระยะแรกมักจะเป็นๆ หายๆ แต่เมื่อเป็นมากขึ้น ก็จะมีอาการปวดรุนแรงขึ้น และปวดตลอดเวลา
การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นส่วนใหญ่จะวินิจฉัยได้จากการซักถามประวัติ และการตรวจร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้องเอ็กซเรย์ เพราะในหัวเข่าของคนสูงอายุทั่วไปเมื่อถ่ายเอ็กซเรย์ก็จะพบว่ามีช่องว่างของข้อเข่าแคบลง และมีหินปูนจับอยู่ตามขอบของข้อได้โดยที่ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด
การป้องกัน
– ลดน้ำหนักตัว โดยควบคุมอาหาร
– หลีกเหลี่ยงการนั่งกับพื้น การนั่ง งอเข่า ชันเข่า นั่งพบเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่ง ยอง ๆ และเวลา ขับถ่ายควรใช้ส้วมแบบนั่ง
หรือใช้เก้าอี้เจาะรูวาง
– หลีกเหลี่ยงการขึ้นที่สูง การขึ้นบันได้ บ่อย ๆ การยืน หรือการเดินนาน ๆ
– ออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่มีอาการปวดเข่า
วิธีการบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า
การบริหารข้อเข่าอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเข่าแข็งแรง ซึ่งทำให้ข้อเข่ากระชับ เคลื่อนไหวได้ดี
ท่าที่ 1 นอนหงาย หาหมอนรองบริเวณข้อเท้าข้างหนึ่ง กดเข่าของเท้าที่มีหมอนหนุนให้ติดพื้น ให้นับนาน 5-10 วินาที
ท่าที่ 2 นอนหงาย เหยียดเข่าตรง ยกขาขึ้นมาพ้นพื้นตรงๆ ครั้งละข้าง เกร็งไว้นับ 1-10 ช้าๆ
ท่าที่ 3 นั่งห้อยขาข้างเตียง หรือห้อยขาที่เก้าอี้ เหยียดเข่าตรงขึ้นมา เกร็งไว้นับ 1-10 ช้าๆ
การรักษา
1. การรักษาทางยา ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ ไม่ซื้อยาใช้เอง เพราะยาที่ใช้จะเป็นยาแก้ปวด เมื่อใช้ไม่ถูกวิธีจะเกิดปัญหาต่อสุขภาพ
ผู้ป่วย เช่น เกิดแผลในกระเพาะอาหาร โลหิตจางหรือมีอาการแพ้ยา
2. การทำกายภาพบำบัดเพื่อคงการเคลื่อนไว้ของเข่า และลดการอักเสบ
3. การรักษาโดยการผ่าตัดซึ่งอยู่ในการพิจารณาของแพทย์ในผู้ป่วยแต่ละราย การผ่าตัดมี 2 วิธี คือ
3.1 การผ่าตัดกระดูกขาให้ตรง
3.2 การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า และใส่ข้อเข่าเทียม คือการใส่ข้อเข่าเทียมเข้าแทนข้อที่เสื่อม ซึ่งผลการผ่าตัดทำให้อาการปวดดีขึ้น
สรุป
ข้อเข่ามีความหมายต่อสุขภาพ ขอให้ท่านสนใจเสียแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพของข้อเข่าที่แข็งแรงทุกวันในปัจจุบัน และอนาคต ท่านที่มีอาการปวดเข่าสามารถรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลสมเด็จ พระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย ซึ่งให้บริการคลินิกนอกเวลา วันจันทร์ –ศุกร์ เวลา 17.00-19.00 น. วันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 9.00-11.00 น. และคลินิกในเวลาราชการวันจันทร์ –ศุกร์ เวลา 9.00-16.00 น.
———————————————–