เภสัชกรหญิงทิพวรรณ วงเวียน
ยาต้านไวรัส COVID - 19
ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID - 19 มีการระบาดไปทั่วโลกและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะสำหรับการติดเชื้อไวรัส Covid-19 เป็นเพียงการรักษาตามอาการ และเป็นการรักษาด้วยยาเดิมที่มีในท้องตลาด พบว่าจากการระบาดจำนวนมากที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ทำให้นักวิทยาศาสตร์นำยาที่มีในโลกกว่า 70,000 ชนิด มาศึกษาวิจัยในหลอดทดลอง จึงพบว่ายาหลาย ๆ ชนิด มีฤทธิ์ในการยับยั้งไวรัส COVID - 19 โดยมีกลไกยับยั้งเชื้อไวรัสที่แตกต่างกัน และได้นำยามากกว่า 1 ชนิดมาใช้ร่วมกันในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส COVID - 19 ในสถานการณ์เร่งด่วนในปัจจุบัน ได้แก่
สำหรับการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID -19 ในประเทศไทย ทางกรมการแพทย์ได้เผยแพร่แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์ COVID -19 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยกำหนดแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งจัดทำโดย คณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด-19 ประกอบด้วย คณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลและการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตลอดตามสถานการณ์การรักษา ฉบับปรับปรุงล่าสุด วันที่ 8 เมษายน 2563 มีแนวทางการดูแลรักษาและการใช้ยาต้านไวรัส กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามอาการ 4 กลุ่ม ดังนี้
1) Confirmed case ไม่มีอาการ (asymptomatic) :
- แนะนำให้นอนโรงพยาบาล หรือในสถานที่รัฐจัดให้ 2-7 วัน เมื่อไม่มีภาวะแทรกซ้อน พิจารณาให้ไปพักต่อที่โรงพยาบาลเฉพาะอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มป่วย หลังจากนั้นให้พักฟื้น และสวมหน้ากากอนามัย ระมัดระวังสุขอนามัย จนครบ 1 เดือน นับจากวันที่เริ่มป่วย
- ให้ดูแลรักษาตามอาการ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนมากหายได้เอง รวมทั้งอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา
2) Confirmed case with mild symptoms and no risk factor :
(ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ที่ไม่มีภาวะเสี่ยง/โรคร่วมสำคัญ)
- แนะนำให้นอนโรงพยาบาล 2-7 วัน ดูแลรักษาตามอาการ พิจารณาให้ยา 2 ชนิด นาน 5 วัน คือ
1) ยาต้านมาลาเรีย (chloroquine หรือ hydroxychloroquine) ร่วมกับ
2) ยาต้านไวรัสเอชไอวี (darunavir+ritonavir หรือ loipinavir/ritonarvir) หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (azithromycin) ##
- เมื่ออาการดีขึ้นและผลถ่ายภาพรังสีปอดยังคงปกติ พิจารณาให้ไปพักต่อที่โรงพยาบาลเฉพาะอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันเริ่มป่วย หลังจากนั้น แนะนำให้พักฟื้นและสวมหน้ากากอนามัย ระมัดระวังสุขอนามัย จนครบ 1 เดือน นับจากวันที่เริ่มป่วย
- หากภาพถ่ายรังสีปอดแย่ลง (progression of infiltration) ให้พิจารณาเพิ่มยา favipiravir เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก
3) Confirmed case with mild symptoms and risk factor
ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ แต่มีปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วมสำคัญ ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ เช่น อายุมากกว่า 60 ปี, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ, โรคไตเรื้อรัง (CKD), โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด, โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้, ภาวะอ้วน (BMI ≥35 กก./ตร.ม.), ตับแข็ง, ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และ lymphocyte น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.มม.
- แนะนำให้ใช้ยาอย่างน้อย 2 ชนิด นาน 5 วัน คือ
1) ยาต้านมาลาเรีย (chloroquine หรือ hydroxychloroquine) ร่วมกับ
2) ยาต้านไวรัสเอชไอวี (darunavir+ritonavir หรือ loipinavir/ritonarvir)
อาจพิจารณาให้ยาชนิดที่ 3 ร่วมด้วย คือ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (azithromycin) ##
- หากภาพถ่ายรังสีปอดแย่ลง (progression of infiltration) ให้พิจารณาเพิ่มยา favipiravir เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก
4) Confirmed case with pneumonia หรือ ถ้า x-ray ปอดปกติ แต่มีอาการ หรืออาการแสดง เข้าได้กับ pneumonia และ SpO2 ที่ room air น้อยกว่า 95% :
- แนะนำให้ใช้ยาอย่างน้อย 3 ชนิด นาน 10 วัน ยกเว้น favipiravir
1) ยาต้านไวรัส (favipiravir) 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ร่วมกับ
2) ยาต้านมาลาเรีย (chloroquine หรือ hydroxychloroquine) ร่วมกับ
3) ยาต้านไวรัสเอชไอวี (darunavir+ritonavir หรือ loipinavir/ritonarvir)
อาจพิจารณาให้ยาชนิดที่ 4 ร่วมด้วย คือ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (azithromycin) ##
- เลือกใช้ respiratory support ด้วย HFNC ก่อนใช้ invasive ventilation
- พิจารณาใช้ organ support อื่นๆ ตามความจำเป็น
## การใช้ยาต้านมาลาเรีย (chloroquine หรือ hydroxychloroquine) ร่วมกับ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (azithromycin) เป็นสูตรที่มีหลักฐานการวิจัยทางคลินิกน้อยมาก ต้องการการศึกษาเพิ่มเติม แพทย์ควรติดตามผลการรักษาด้วยยาสูตรนี้อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการรักษาได้
อย่างไรก็ตามโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ดังนั้นการรักษาต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นควรติดตามสถานการณ์การรักษาจากหน่วยงานที่เชื่อถื่อได้เป็นระยะๆ ส่วนแนวทางการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยอาจมีการปรับปรุงเช่นเดียวกัน ดังนั้นสามารถเข้าไปศึกษาแนวทางการดูแลรักษาในประเทศไทยได้ที่ website กรมการแพทย์ เข้าถึงได้ที่http://covid19.dms.go.th/Content/Select_Content_Grid_Home_7_8?contentCategoryId=8
*********************************