โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

ในช่วงฤดูฝนของทุกปีเป็นช่วงที่เด็กจำนวนไม่น้อยมักจะป่วยด้วยโรคต่างๆ ทั้งไข้หวัด   โรคไข้เลือดออก หอบหืดกำเริบ ฯลฯ รวมทั้งโรคที่พบได้บ่อยแต่สร้างความกังวลใจกับพ่อแม่ ผู้ปกครองจำนวนมาก อย่างเช่น โรคมือ เท้า ปาก     

                 โรค มือ เท้า ปาก หรือ Hand Foot Mouth disease นั้นเป็นโรคที่มีชื่อล้อตามอาการของโรคโดยตรง คือผู้ป่วยจะมีแผลในปาก มีผื่นตามฝ่ามือฝ่าเท้า และอาจมีผื่นเพิ่มเติมอีกตำแหน่ง (แต่ไม่มีอยู่ในชื่อโรค) คือผื่นบริเวณรอบๆ ทวารหนัก หลังจากการติดเชื้อผู้ป่วยส่วนมากหายได้เอง 

แต่ยังมีผู้ป่วยส่วนน้อยเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ และอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ อย่างไรก็ตามโรคมือ เท้า ปาก นั้น เป็นโรคที่ป้องกัน รักษาได้ ถ้าหากมีความรู้ ความเข้าใจ และรู้จักที่จะป้องกันอย่างถูกวิธี

 โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากอะไร?

               โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัส หลักๆ 2 ชนิด คอกแซกกี่ไวรัส เอ 16 (Coxsackie A16 virus) และ เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus 71) และยังอาจเกิดจากเชื้อไวรัสได้อีกหลายชนิดด้วยกัน

 ใครคือกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ?

             โรคมือ เท้า ปาก นั้นมักเป็นในเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี และพบมากที่สุดในเด็กอายุน้อยว่า 5 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กที่แออัด เข้าโรงเรียนแล้ว หรืออยู่ในที่ชุมชนที่มีการระบาดของโรค สำหรับผู้ใหญ่นั้นมักไม่มีอาการของโรคเนื่องจากอาจจะเคยได้รับเชื้อโรคนี้แล้วตั้งแต่วัยเด็ก แต่ผู้ใหญ่ที่สัมผัสเชื้อโรคใหม่ก็อาจเป็นผู้นำเชื้อจากเด็กป่วยไปสู้เด็กที่ยังไม่ป่วยได้เช่นกันนะคะ

 ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสก่อโรคมือ เท้า ปากได้อย่างไร?

                  โรคมือ เท้า ปาก มักระบาดมากในฤดูฝน และมีการติดต่อทางการรับเชื้อเข้าปากโดยตรงผ่านทางสิ่งคัดหลั่งต่างๆ จากร่างกาย เช่น อุจจาระ น้ำมูก น้ำลาย ตลอดจนน้ำจากตุ่มผื่นใสๆ ตามร่างกายของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยสัมผัสสิ่งคัดหลัง เช่น น้ำมูก น้ำลายของตนเองแล้วสัมผัสกับของใช้อื่น หรือเล่นของเล่นร่วมกับเด็กอื่น ทำให้เด็กที่ยังไม่ป่วยก็จะมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่บนของเล่นนั้นได้ การแพร่เชื้อเกิดขึ้น มากที่สุดในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย เมื่ออาการป่วยทุเลาลงแล้วการแพร่เชื้อลดลง แต่ยังสามารถพบเชื้อทางอุจจาระได้นานประมาณ 2-3 สัปดาห์

โรคมือ เท้า ปาก มีอาการอย่างไร?

                  ประมาณ 3-5 วันหลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีไข้ อาจมีไข้สูงได้ถึง 39 องศาเซลเซียส   และอาจมีไข้ได้นาน 3-5 วัน ผู้ป่วยอาจบ่นเจ็บในช่องปาก ไม่ยอมรับประทานอาหาร หรือกลืนน้ำลาย เพราะมีตุ่มแผลตื้นๆ ในช่องปาก มักพบมากกว่า 1 แผล โดยพบมากบริเวณกระพุ้งแก้ม และเพดานอ่อน ร่วมกับ  มีผื่นเป็นตุ่มน้ำสีขาวบนฐานสีแดงบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และรอบทวารหนัก กดเจ็บ ตุ่มมักไม่แตกออก   และหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์

            โดยส่วนใหญ่แล้วโรคมือ เท้า ปาก มักไม่มีอาการรุนแรงและหายได้เอง แต่ก็มีบางส่วนที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น เนื้อสมองอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีภาวะหัวใจวาย หรือน้ำท่วมปอดได้

 เมื่อใดที่ต้องพบแพทย์และสัญญาณอันตรายของโรค?

                 เมื่อมีผู้ป่วยสงสัยว่าเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรปรึกษาทุกรายเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และสามารถเฝ้าระวัง ติดตามอาการผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อการเก็บข้อมูลรายงานการระบาดของโรค และเตรียมเฝ้าระวังการแพร่เชื้อในชุมชน

                 อาการที่ต้องเฝ้าระวังและควรได้รับการดูแลในโรงพยาบาล ได้แก่ ภาวะไข้สูงนานหลายวัน กระสับกระส่าย มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง มีการเกร็ง
กระตุกของแขนหรือขา หรือภาวะทางระบบหัวใจ และปอด เช่น หายใจเร็วหอบเหนื่อย มีชีพจรไม่คงที่ เป็นต้น อย่างไรก็ตามโดยส่วนมากแล้วอาการผู้ป่วยมักจะมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง

รักษาได้อย่างไร?

                โรคมือ เท้า ปาก นั้นโดยมากอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ให้รับประทานยาและเช็ดตัวลดไข้ ผู้ป่วยเจ็บปากไม่สามารถรับประทานอาหารได้อาจพิจารณาให้ยาชาอมกลั้วปากลดการเจ็บ หรือในรายที่รับประทานอาหารและน้ำไม่ได้เลย มีภาวะขาดน้ำมากอาจพิจารณาให้สารน้ำ (น้ำเกลือ )ทางหลอดเลือดดำ

                    ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าโรคมือ เท้า ปาก นั้นเกิดจากเชื้อไวรัส ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ (ที่มักเรียกกันทั่วไปว่ายาแก้อักเสบ)

แนวทางการดูแลบุตรหลานที่ป่วย

                 ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ ให้รับประทานยา และเช็ดตัวลดไข้ตามคำแนะนำของแพทย์ ในกรณี ที่ผู้ป่วยเจ็บปากมากไม่ยอมรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ นอกจากจะใช้ยาชากลั้วปากแล้ว ผู้ดูแลอาจให้เด็กรับประทานน้ำแข็งหรือไอศครีมนิ่มๆ ก็ได้ เพราะอาหารที่เย็นจะช่วยลดความรู้สึกเจ็บในช่องปาก ช่วยลดภาวะขาดน้ำในผู้ป่วยได้ และผู้ปกครองยังควรเฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วย หากมีสัญญาณอันตรายดังที่ได้กล่าวมาแล้วควรจะพาผู้ป่วยพบแพทย์อีกครั้งทันที

                   นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อสู่เด็กคนอื่น สิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองควรปฏิบัติ คือ  การแยกผู้ป่วยออกจากเด็กคนอื่นๆ และให้ผู้ป่วยหยุดเรียน
งดไปในที่ชุมชนสาธารณะ นานจนกว่าตุ่มสะเก็ดจะแห้ง หรือนานประมาณ 
7-10 วัน ควรดูแลความสะอาดของเสื้อผ้า และสิ่งของต่างๆ ที่ผู้ป่วยสัมผัส   เพื่อไม่ให้เป็นตัวน้ำเชื้อสู่ผู้อื่น โดยสรุป คือ โรคมือ เท้า ปาก นั้นเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก มีการติดต่อกันได้ง่าย อาการของโรคมักไม่รุนแรง ให้การรักษาตามอาการ ผู้ป่วยมักหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ และที่สำคัญที่สุดคือ โรคมือ เท้า ปากเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ เพียงแต่ต้องใช้ความเข้าใจ พร้อมกันนี้จะต้องให้ความร่วมมือในการรักษาสุขอนามัย และแยกผู้ป่วยอย่างเหมาะสม แค่นี้ก็เพียงพอแล้วนะคะ

   ———————————————–