โรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคติดต่อที่สำคัญโรคหนึ่งของประเทศไทย โรคนี้มีการแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายโดยผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อที่ไม่ได้ป้องกัน เชื้อไวรัสตับอักเสบบีถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งตับ และยังมีความทนทานต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อมากกว่าเชื้อไวรัสเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ถึง 50-100 เท่า แม้ว่าจะมีวัคซีนที่ปลอดภัยและป้องกันการติดเชื้อได้มานานมากกว่า 25 ปี แต่การสำรวจครั้งล่าสุดประเทศไทยจัดถูกจัดให้เป็นแหล่งระบาดของโรคในระดับกลาง มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่ร้อยละ 2-7 หรือมีคนไทยประมาณ 1.3-4.7 จาก 67 ล้านคนที่ติดเชื้อ ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 หรือประมาณ 5 แสน ถึง 1.5 ล้านคนของผู้ติดเชื้อจะมีอาการตับแข็งและมะเร็งตับ นอกจากนี้แล้วยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มอายุ 15-54 ปี จำนวน 8.6-10.4 รายต่อประชากรแสนราย ในปี พ.ศ. 2550
ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญจำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานอาจจะน้อยกว่าที่เป็นจริง เนื่องจากโรคไวรัสตับอักเสบบีมีหลายระยะของโรค ตั้งแต่ระยะที่ไม่แสดงอาการจนถึงการเป็นตับแข็งและมะเร็งตับ ผู้ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยจะไม่ไปพบแพทย์ ในอดีต ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้จะถูกเรียกว่า “เป็นพาหะ” ซึ่งทำให้เข้าใจผิดไปว่าไม่เป็นอันตราย โดยที่ความจริงแล้วผู้ป่วยอาจมีเชื้อไวรัสในร่างกายจำนวนมาก หรือมีเอนไซม์ตับที่สูงมากถึงขั้นเป็นอันตรายต่อตับ อาจเกิดอาการตับแข็ง หรือเป็นมะเร็งตับแล้วทำให้เสียโอกาสในการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ผู้ติดเชื้อเหล่านี้ยังมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีก ดังนั้นคนไทยทุกคนจึงควรได้รับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ปัจจุบันมีการรับรองให้ใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีที่ได้ผลในราคาไม่แพง โดยมีงานวิจัยที่ยืนยันว่า การใช้ยาต้านไวรัสจะได้ผลดีในผู้ป่วยที่ยังไม่เป็นตับแข็ง การตรวจคัดกรองและการรักษาจะช่วยลดปริมาณเชื้อในตัวผู้ป่วย ที่มีผลในการลดความรุนแรงของโรค เพิ่มคุณภาพชีวิต ตลอดจนลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
โรคไวรัสตับอักเสบบีมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการปวดร้อยละ 93.3 มีอาการอ่อนล้า ร้อยละ 90.0 และเบื่ออาหารร้อยละ 79.0
ผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งจะมีอาการท้องอืด อ่อนล้า และเป็นตะคริว ด้านจิตใจผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าร้อยละ 94.4 และนอนไม่หลับร้อยละ 49.2 สำหรับประเทศไทยแล้วผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีมากกว่า ร้อยละ 50.0 ให้ข้อมูลว่ามีปัญหาสุขภาพด้านความปวดและความวิตกกังวล ผู้ป่วยที่มีอาการตับอักเสบระยะเริ่มต้นจะมีอาการเจ็บป่วยด้านร่างกายที่มีผลต่ออารมณ์และความวิตกกังวล ตลอดจนทำให้ทำงานได้ลดลง เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส โดยมีการตรวจและรักษาอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลไประยะหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จนสามารถทำงานได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการตับแข็งหรือมะเร็งตับ ถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถทำงานได้และมีโอกาสเสียชีวิตจากความรุนแรงของโรคเนื่องจากตับวาย ดังนั้นการตรวจพบความผิดปกติของเอนไซม์ตับและทำการรักษาตั้งแต่ต้นจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสอาการดีขึ้นมากกว่าผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับแล้ว
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทำให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจอย่างมากทั้งต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม เมื่อโรคมีความรุนแรงมากขึ้นจะทำให้ต้นทุนในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น การศึกษาในประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงจะมีต้นทุนการรักษาเป็นเงิน 21,525 บาทต่อรายต่อปี ส่วนผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 4.5 เท่า เป็นเงิน 92,785 บาทต่อรายต่อปี เมื่อคาดประมาณจากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ จะพบว่าประเทศไทยมีต้นทุนการรักษาโรคนี้ถึง 66-238 พันล้านบาทต่อปี ผลงานวิจัยที่ผ่านมาจึงขอแนะนำว่าควรจะให้มีการป้องกันและการรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ก่อนที่จะโรคจะรุนแรงในระยะตับแข็งและตับวาย การรักษาด้วยยาต้านไวรัสจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดต้นทุนและมีความคุ้มค่าโดยเฉพาะในประเทศที่มีการระบาดของโรค แต่มีข้อจำกัดที่ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาไปเป็นระยะเวลานานควบคู่กับการติดตามตรวจวินิจฉัยเพื่อประเมินความก้าวหน้าของโรค โดยมีโอกาสเกิดการดื้อยาต้านไวรัส และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษามากขึ้นเป็นลำดับในอนาคต
สำหรับท่านที่ติดเชื้อไวรัสอักเสบบี แพทย์จะตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อจะดูว่าท่านจำเป็นต้องได้รับ การรักษาหรือไม่ หรือเฝ้าดูไปก่อน เพราะไม่ใช่ทุกๆ คนที่มีเชื้อไวรัสแล้วจะต้องได้รับการรักษาทันที เพราะถ้าไม่เข้าเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ ถึงแม้ท่านจะได้รับการรักษาทันทีก็จะไม่ได้ผลซึ่งไม่จำเป็นเพราะอาจมีราคาแพงและมีภาวะแทรกซ้อนได้ การที่จะรักษาหรือไม่? เมื่อไหร่? จะรักษาด้วยอะไร? เป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะพิจารณาและดูความเหมาะสมให้กับท่าน แต่ท่านก็มีสิทธิ์ที่จะสอบถามแพทย์เพื่อหาข้อมูลสำหรับการตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะรักษาหรือไม่? เมื่อไหร่? หรือควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไรกับชีวิตของท่านเอง
หากท่านเป็นแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ ควรจะมีการตรวจประเมินการทำงานของตับและมีการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของโรคในผู้ติดเชื้อทุกราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ควรได้รับคำปรึกษาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบบีอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพเพื่อลดความวิตกกังวลและเพิ่มความตระหนักในการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความรู้ในการป้องกันความรุนแรงของโรคที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากการมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตับ เช่น การดื่มเหล้า การตรากตรำและการพักผ่อนไม่เพียงพอ ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับผิดปกติควรมีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถทำงานได้ มากขึ้น และยังเป็นการป้องกันการเกิดตับแข็ง มะเร็งตับ ตลอดจนลดการแพร่กระจายเชื้อได้
———————————————–