โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

โรคเอดส์กับการอยู่ร่วมกัน

โรคเอดส์กับการอยู่ร่วมกัน

                      นางพรเพ็ญ  เมธาจิตติพันธ์

คำว่า เอดส์ มาจากภาษาอังกฤษว่า AIDS ซึ่งย่อมาจากคำเต็มว่า Acquired Immuno   Deficiency Syndrome ซึ่งแต่ละคำมีความหมาย ดังนี้

              A = Acquired หมายถึง เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด หรือสืบทอดทางกรรมพันธุ์

              I = Immuno หมายถึง ระบบภูมิต้านทาน หรือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

              D = Deficiency หมายถึง ความบกพร่อง การขาดไปหรือเสื่อม

              S = Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการคือมีอาการหลาย ๆ อย่างไม่เฉพาะที่ระบบใดระบบหนึ่ง

              แปลรวมว่า “กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม”  เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เสื่อม หรือบกพร่องลง เป็นผลทำให้เป็นโรคติดเชื้อ หรือเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าคนปกติ อาการมักจะรุนแรง เรื้อรัง และเสียชีวิตในที่สุดเชื้อเอชไอวีเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่ม Lentivirus ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของกลุ่มไวรัส Retrovirus ไวรัสกลุ่มนี้ขึ้นชื่อในด้านการมีระยะแฝงนาน การทำให้มีเชื้อไวรัสในกระแสเลือดนาน การติดเชื้อในระบบประสาท และการทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้ออ่อนแอลง เชื้อเอชไอวีมีความจำเพาะต่อเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 T lymphocyte และ Monocyte สูงมาก โดยจะจับกับเซลล์ CD4 และฝังตัวเข้าไปภายใน เชื้อเอชไอวีจะเพิ่มจำนวนโดยสร้างสายดีเอ็นเอโดยเอนไซม์ Reverse transcryptase หลังจากนั้นสายดีเอ็นเอของไวรัสจะแทรกเข้าไปในสายดีเอ็นเอของผู้ติดเชื้ออย่างถาวร และสามารถเพิ่มจำนวนต่อไปได้

                เชื้อเอชไอวีทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซท์ ที่มีชื่อว่า CD4 เมื่อเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ต่ำลง จะทำให้ร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน และเกิดอาการของโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อนในที่สุด

 

              ปัจจุบันในการวินิจฉัยว่าติดเชื้อหรือไม่ เราไม่ได้ตรวจหาเชื้อโดยตรง แต่เป็นการตรวจว่าร่างกายเรามีปฏิกิริยาต่อเชื้อหรือไม่ โดยการตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวี ซึ่งการตรวจดังกล่าวอาจให้ผลลบได้ในกรณีที่ได้รับเชื้อมาใหม่ ๆ เนื่องจากร่างกายยังไม่ได้สร้างปฏิกิริยาตอบสนองภายหลังการรับเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ เลย บางรายอาจมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วๆไป เช่น มีไข้ ผื่นตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ อาการมักกินเวลาสั้นๆ และหายไปได้เอง หลังจากนั้นผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ เลยเชื้อไวรัสจะส่งผลให้ระดับเม็ดเลืดขาวที่เรียกว่าซีดีโฟร์ลดลงอย่างช้าๆ จนผู้ป่วยเริ่มเกิดอาการของเอชไอวีเกิดขึ้น เช่น ฝ้าในปาก ผึ่นคันตามตัว น้ำหนักลด

อัตราเฉลี่ยของประเทศไทยตั้งแต่รับเชื้อจนเริ่มป่วยใช้เวลา 7-10 ปี ในช่วงที่เรามีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายแต่ไม่ป่วยเพราะเรายังมีภูมิคุ้มกันที่ยังควบคุม หรือจัดการกับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้ เรียกว่า เป็นผู้ติดเชื้อ และเมื่อภูมิคุ้มกันถูกทำลายเหลือจำนวนน้อย จนไม่สามารถควบคุม หรือจัดการกับเชื้อโรคบางอย่างได้ทำให้เราป่วยด้วยเชื้อโรคนั้น ๆ เรียกว่าเราเริ่มมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นผู้ป่วยเอดส์

การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอดส์ทำได้ 2 วิธี

              1. ตรวจจากแอนติเจน วิธีนี้สามารถทำได้ช่วง 7 – 14 วัน หลังจากมีความเสี่ยง ว่าจะให้ผลบวก หรือลบ เช่น วิธี  PCR  แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างจะสูง

              2. ตรวจจากแอนติบอดี้ วิธีนี้สามารถทำได้ช่วง 8 สัปดาห์ขึ้นไป หลังจากมีความเสี่ยง ว่าจะให้ ผลบวกหรือลบ ค่าใช้จ่ายจะถูกกว่า แต่ถ้าจะให้แน่นอน จะต้องหลัง 3  เดือนขึ้นไปจะเชื่อถือได้ดีสุด

หลักการใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ดี

               เนื่องจากยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีมีผลลดจำนวนเชื้อไวรัสให้น้อยลง พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวซีดี4 เพิ่มมากขึ้น ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น โอกาสที่จะ ติดเชื้อโรคฉวยโอกาสก็จะลดลง และสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มียาที่ทำให้หายขาด ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่เริ่มใช้ยาจึงต้องใช้ยาติดต่อกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อยับยั้งเชื้อ ควบคุมไม่ให้เชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นและจะต้องใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี อย่างน้อย 3 ชนิด เพื่อให้เกิดผลดี ทั้งยังต้องกินยาตรงเวลาสม่ำเสมอทุกวัน มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาการดื้อยาได้ง่าย ดังนั้น ก่อนเริ่มใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี ผู้ป่วยควรได้มีความรู้    และความเข้าใจเรื่องการใช้ยากลุ่มนี้ อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวิธีใช้ จำนวนและขนาดของเม็ดยา  เวลาที่ใช้ยา ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ และมีความพร้อมในการปฏิบัติตามการใช้ยาอย่างถูกต้อง ตรงเวลา และสม่ำเสมอ ซึ่งสรุปได้เป็นข้อๆ ดังนี้

              1. การเริ่มใช้ยาจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น

              2. ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ต้องมีค่าระดับเม็ดเลือดขาวซีดี4 ต่ำกว่า 350 หรือเมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการอื่นๆผิดปกติ อันใดอันหนึ่งของโรคติดเชื้อฉวยโอกาส

              3. ผู้ใช้ยาควรมีความรู้และความเข้าใจเรื่องการใช้ยากลุ่มนี้อย่างชัดเจน และมีความพร้อมปฏิบัติตามการใช้ยาอย่างถูกต้อง ตรงเวลา สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง

              4. ต้องใช้ยาอย่างน้อย 3 ชนิดร่วมกัน ตามคำแนะนำของแพทย์

              5. ผู้ใช้ยาควรมีความรู้ถึงผลดีของการรักษา และผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อเฝ้าระวัง สังเกต  และดูแลตนเองขณะใช้ยา หรือไปพบแพทย์

เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้น

 การเลือกแพทย์และโรงพยาบาลที่รักษา

               ปัจจัยข้อหนึ่งที่ทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จคือแพทย์ผู้รักษาและโรงพยาบาล ทีมงานทางการแพทย์จะต้องมีคุณภาพ ต้องเข้าใจปัญหาที่ผู้ป่วยต้องประสบอยู่  ต้องวางแผนการรักษา ให้ความรู้       การป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ การป้องกันผู้อื่นมิให้ได้รับเชื้อจากตัวผู้ป่วย ผู้ที่ติดเชื้อมักจะมีปัญหาอื่นร่วมด้วย เช่นปัญหาทางด้านจิตใจ ปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาสุขภาพจิต  และปัญหาสังคม ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถปรึกษากับทีมงานที่รักษา ซึ่งจะต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

เมื่อผลเลือดท่านให้ผลบวกต่อเชื้อ HIV

แสดงว่าท่านได้รับเชื้อไวรัส HIV ในกระแสเลือดแล้ว การที่เลือดให้ผลบวกมิได้หมายความว่าท่านเป็นโรคเอดส์ ผู้ที่ได้รับเชื้อ HIV โดยทั่วไปใช้เวลา 8-10 ปีจึงจะกลายเป็นโรคเอดส์ เมื่อท่านมีเชื้อไวรัสใน เลือดสิ่งที่ท่านต้องทำคือ

1. ไม่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น เชื้อ HIV จะอยู่ในเลือด น้ำเหลือง น้ำนม น้ำหล่อลื่นของผู้ชายและผู้หญิง ท่านสามารถป้องการแพร่เชื้อโดย

เมื่อท่านมีเชื้อ HIV ท่านต้องป้องกันผู้อื่นไม่ให้ได้รับเชื้อจากท่าน เช่น เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว คู่ที่มีเพศสัมพันธ์ ท่านต้องเรียนรู้การมีเพศสัมพันธ์ที่ลดการติดเชื้อ กิจกรรมทางเพศชนิดใดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง กิจกรรมใดที่มีความเสี่ยงต่ำ ให้สวมถุงยางคุมกำเนิดเมื่อจะร่วมเพศทั้งทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือมีเพศสัมพันธ์ทางปาก

ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เพราะท่านอาจจะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นแล้ว ท่านอาจจะได้รับเชื้อตัวใหม่ทำให้อาการของท่านแย่ลง

การกอด หรือจูบโดยที่ไม่มีแผล การสัมผัสจะไม่แพร่เชื้อ

ไม่ใช้แปรงสีฟัน มีดโกนหนวด ที่ตัดเล็บร่วมกัน

ไม่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง

ไม่บริจาคเลือดให้แก่ผู้อื่น

สามารถใช้โถส้วม การใช้แก้ว ชาม ร่วมกันได้ เพราะไม่ทำให้ติดเชื้อสู่ผู้อื่น

2.การดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการรักษาใหม่ๆ

รับอาหารที่มีคุณภาพ ปรึกษาแพทย์ว่าอาหารที่ควร และไม่ควรรับประทาน

ผักผ่อนให้เต็มที่

งดสุรา และบุหรี่เพราะจะทำให้ท่านมีภูมิคุ้มกันที่แย่ลง

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอที่เหมาะสมกับตนเอง

ให้ทำจิตใจให้ผ่องใส หางานทำตลอดเวลาไม่ควรจะสัมผัสกับกรง กระบะอาหาร อุจจาระของสัตว์ น้ำสำหรับเลี้ยงปลา หากผู้ป่วยต้องสัมผัสสัตว์จะต้องล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง      สัตว์ก็สามารถนำเชื้อไปสู่ผู้ป่วยได้นะคะ…สวัสดีค่ะ

**************************************