โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

เบาหวานในขณะตั้งครรภ์

                                                                                                                                                                                                                                                                                                 นพรัตน์  ศิริวงศ์      

                ในร่างกายของเราอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการผลิตอินซูลินคือตับอ่อน   เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปในร่างกาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแป้งและน้ำตาลจะถูกเปลี่ยนเป็นกลูโคส เข้าสู่กระแสเลือด  ซึ่งร่างกายจะใช้น้ำตาลกลูโคสเพื่อสลายเป็นพลังงานให้กับร่างกาย โดยอาศัยอินซูลินเป็นตัวนำน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อและสมอง 

                เบาหวานที่พบขณะตั้งครรภ์  เป็นเบาหวานชนิดหนึ่งซึ่งพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นในขณะที่ตั้งครรภ์  โดยไม่เคยมีประวัติการเป็นเบาหวานมาก่อน  หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเบาหวาน ได้ง่ายกว่าคนทั่วไปเพราะในภาวะตั้งครรภ์นั้นรกจะสร้างฮอร์โมนสำคัญหลายชนิด  บางชนิดมีผลต้านฤทธิ์  การทำงานของอินซูลินทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายดื้อต่ออินซูลิน  ตับอ่อนของหญิงตั้งครรภ์จึงต้องทำงานเพิ่มขึ้น  เพื่อสร้างฮอร์โมนอินซูลินให้มีเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในผู้ที่ตับอ่อน ไม่สามารถทำงานชดเชยได้เพียงพอ  ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้ได้ตามปกติ  น้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น และเกิดเป็นภาวะเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ขึ้น

                หญิงตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

                หญิงตั้งครรภ์ที่มีปัจจัยเหล่านี้  มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

                1.อายุตั้งแต่25 ปีขึ้นไป

                2.อ้วน ( ดัชนีมวลกาย มากกว่า30 )

                3.มีประวัติบุคคลในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรงเป็นเบาหวาน

                4.มีประวัติการตั้งครรภ์และการคลอดที่ผิดปกติเช่น การแท้ง  การตายคลอด  ทารกตายในครรภ์  เคยคลอดบุตรน้ำหนักแรกคลอดมากกว่ากิโลกรัม ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ 

                การเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์  ถ้าไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาตามมา ดังต่อไปนี้

                1.ความดันโลหิตสูงเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

                2.การแท้งคลอดก่อนกำหนด

                3.รกเสื่อมเร็วผิดปกติ

                4.ทารกตัวโตซึ่งอาจเพิ่มอุบัติการณ์การช่วยคลอดหรือการผ่าตัดคลอด

                5.ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่ทารกมีหัวใจโตภาวะเหลืองหรือดีซ่านภาวะน้ำตาลต่ำในระยะแรกคลอด

                ข้อปฏิบัติสำหรับหญิงตั้งครรภ์  เป็นสิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ต้องปฏิบัติไปจนคลอดบุตร เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขณะตั้งครรภ์หรือหลังคลอด  ประกอบด้วย

                1.การควบคุมอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานอย่างเพียงพอและเพื่อให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์

                2.การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติควรมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง เป็นประจำ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด

                3.หากใช้วิธีการควบคุมอาหารอย่างเดียวไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม เช่น การใช้ยารับประทาน หรือการฉีดอินซูลินควบคู่กับการควบคุมอาหารด้วย

                4.การตรวจครรภ์เป็นประจำโดยสูตินรีแพทย์

                5.การตรวจพิเศษอื่น ๆ ได้แก่ การตรวจอัลตราซาวนด์  การตรวจภาวะของทารกในครรภ์ (NST)

อาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์

                หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน  ควรรับประทานอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม โดยมีเทคนิคง่าย ๆ  คือการรับประทานครั้งละน้อย ๆ  แต่บ่อยครั้ง  โดยแบ่งอาหารเป็น 2 ส่วนคืออาหารมื้อหลัก เช้า เที่ยง เย็น ให้เลือกรับประทานข้าวและกับข้าวที่เน้นเนื้อสัตว์และผักเป็นส่วนใหญ่ ส่วนอาหารมื้อว่างให้เลือกรับประทานนมและผลไม้ โดยมีวิธีการเลือกสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

               1.โปรตีน ได้มาจากอาหารประเภทเนื้อสัตว์และไข่ โดยเน้นรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ และไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง เช่น เนื้อปลา  เนื้อไก่ หมูเนื้อแดง ไข่  หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป  เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน ลูกชิ้น หมูบด หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันในการปรุงอาหาร ให้ใช้การต้ม ตุ๋น นึ่ง ลวก อบ ย่าง แทนการผัดและทอด

                2. ผัก  เป็นแหล่งของวิตามินและเกลือแร่ แบ่งเป็น 2  ประเภท ได้แก่  ผักใบชนิดต่างๆ  ผักกาด  คะน้า  ตำลึง  ซึ่งมีใยอาหารและวิตามินมาก สามารถเลือกรับประทานได้มากเท่าที่ต้องการ  และผักจำพวกที่เป็นหัวและถั่วต่างๆ   แครอท  ฟักทอง  เผือก มัน ข้าวโพด ถั่วลิสง ซึ่งมีแป้งและพลังงานมากกว่าผักใบชนิดต่างๆ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงผักหัวและถั่วต่างๆ และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันในการปรุงเช่นเดียวกัน

                3. ผลไม้  เป็นแหล่งวิตามิน เกลือแร่และใยอาหารที่ดี  ควรรับประทานผลไม้แทนขนมเป็นประจำทุกวันและทุกมื้อ  ผลไม้ที่รับประทานควรเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย รสไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง ชมพู่ ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะละกอ แอปเปิ้ล สาลี่ แก้วมังกร พยายามงดผลไม้ที่มีรสหวานจัดหรือผลไม้ที่มีน้ำตาลมาก เช่น เงาะ ทุเรียน ลำไย ขนุน น้อยหน่า ละมุด หลีกเลี่ยงน้ำผลไม้   ทุกชนิด รวมถึงน้ำมะพร้าวด้วย

                4. น้ำนม  เป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์  ควรดื่มนมสดชนิดจืดและพร่องมันเนย หรือนมสดขาดมันเนยเพื่อหลีกเลี่ยงไขมันในนม และไม่ควรดื่มนมปรุงแต่งหรือน้ำนมแปลงรูป นมหวาน นมเปรี้ยว โยเกิร์ตหรือโยเกิร์ตพร้อมดื่ม เนื่องจากอาจจะมีการเติมน้ำตาล  หรือผลไม้เชื่อม 

                5. คาร์โบไฮเดรต  ได้แก่ อาหารจำพวกข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวแป้งและน้ำตาล  เช่น ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง  ขนมหวานต่างๆ  น้ำหวาน น้ำตาล  อาหารกลุ่มนี้จะย่อยกลายเป็นน้ำตาล    และดูดซึมเข้ากระแสเลือดทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้  ควรเลือกรับประทานข้าวซ้อมมือ  หรือขนมปังโฮสวีต ซึ่งจะมีใยอาหารมากกว่าข้าวขัดขาว และควรหลีกเลี่ยงข้าวเหนียว เพราะมีพลังงานที่สูง

                6. ไขมัน  ควรหลีกเลี่ยงการผัดและทอด  หากจำเป็นควรใช้ไขมันจากพืช  เช่น น้ำมันถั่วเหลือง  น้ำมันข้าวโพด หรือน้ำมันรำข้าว  และควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ส่วนที่มีไขมันสูง เช่น หมูติดมัน หนังไก่  หนังเป็ด และเลี่ยงไขมันจากสัตว์  น้ำมันหมู  กะทิ  เนย  ครีมเทียม

ตัวอย่างรายการอาหารที่ควรบริโภคใน 1 วัน

                    มื้อเช้า

                    – ข้าวกล้อง 2-3 ทัพพี ต้มจืดใส่ผัก อกไก่อบ

                    มื้อสาย

                    – นมจืด 1 แก้ว ฝรั่ง 1 ผล

                    มื้อเที่ยง

                    – ข้าวกล้อง 2-3 ทัพพี ปลาย่าง 1 ตัว แกงส้มผักรวม

                    มื้อบ่าย

                    – น้ำเต้าหู้ไม่ใส่น้ำตาล 1 แก้ว ขนมปังแครกเกอร์ 1 ห่อเล็ก

                    มื้อเย็น

                    – ข้าวกล้อง 2 ทัพพี ไข่ต้ม 1 ฟอง น้ำพริกปลาป่น พร้อมผักสด

                    มื้อก่อนนอน

                    – นมจืด 1 แก้ว กล้วย 1 ผล

                    ปัญหาที่พบจากการควบคุมอาหารคือไม่สามารถปรุงอาหารเองได้ จำเป็นต้องซื้อกับข้าวรับประทาน ซึ่งจะเลือกอาหารที่เป็นผักและปราศจากน้ำมัน ได้ยากขึ้น ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องซื้อกับข้าวกิน เลี่ยงลำบาก อาจจะต้องหุงข้าวกล้องและอาจต้องนำผักสดหรือผักลวกติดตัวไปด้วย

                การรักษาเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จำเป็นต้องได้รับการติดตามเป็นระยะๆ จากแพทย์ จนกระทั่งคลอด เมื่อคลอดบุตรเรียบร้อยแล้วระดับฮอร์โมนของการตั้งครรภ์จะลดลงเป็นปกติ  ดังนั้นระดับน้ำตาลในเลือดของหญิงตั้งครรภ์ก็จะกลับไปเป็นเหมือนกับตอนก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะกลับเป็นปกติ ดังนั้นหลังคลอดบุตรแล้ว มารดาสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ แพทย์จะนัดมาตรวจระดับน้ำตาลหลังรับประทานกลูโคส  75 กรัม ที่ประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อตรวจสอบว่ามีภาวะความทนต่อกลูโคสบกพร่องหรือเป็นเบาหวานหรือไม่  ในกรณีที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหลังคลอดแสดงว่าอาจเป็นเบาหวานมาก่อนตั้งครรภ์  ซึ่งหากน้ำตาลยังสูงมากและต้องการให้นมบุตรก็จำเป็นต้องฉีดอินซูลินไปก่อน  เนื่องจากอินซูลินไม่ผ่านน้ำนมจึงสามารถเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาได้อย่างปลอดภัย  ในขณะที่ยารับประทานรักษาเบาหวานอาจผ่านทางน้ำนมได้

                   ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้น ส่วนใหญ่หลังคลอดแล้วมักจะหายเป็นปกติ แต่หากเกิด การตั้งครรภ์ครั้งใหม่ ก็มีโอกาสเกิดเบาหวานได้อีก ดังนั้นถ้าเกิดการตั้งครรภ์อีกครั้งต้องแจ้งให้แพทย์ ทราบเรื่องเบาหวานตั้งแต่เมื่อเริ่มฝากครรภ์เพื่อจะได้ตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ และเบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัยถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานในอนาคต  เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นเบาหวานประมาณ  10 %  ในระยะเวลา 10 ปี  และสูงเกือบ 50% ในระยะเวลา 20 ปี  ดังนั้นถ้าท่านมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ท่านควรจะทำการลดน้ำหนักตัวโดยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกายเป็นประจำ  รวมทั้งควรตรวจคัดกรองหาเบาหวานทุกปี  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เมื่อท่านต้องการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไปด้วยนะคะ

…………………………………………….