ปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ทราบกันดีว่า เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดจากสุนัขไปสู่คนได้ แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วสัตว์ที่สามารถเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ ไม่ได้มีเพียงสุนัขเท่านั้น และโรคนี้หากติดต่อ สู่คนจนถึงระยะของโรค หรือระยะที่เชื้อไวรัสได้เข้าสู่สมองแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทางการแพทย์ทำได้เพียงประคับประคองอาการให้ผู้ป่วยสบายที่สุด ก่อนจะจากไปเท่านั้น อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถป้องกันการติดโรคได้ โดยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เมื่อมีความเสี่ยงในการรับเชื้อจากสัตว์ ซึ่งโรคนี้ไม่ได้อยู่ไกลตัวชาวศรีราชาอย่างที่คิด เพราะ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้ถูกประกาศเป็นเขตโรคระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าอยู่บ่อยครั้ง การนำความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า และการปฏิบัติตัวเมื่อสัมผัสโรค เพื่อนำไปสู่การป้องกันการติดโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เผยแพร่เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ
สัตว์อะไร เป็นแหล่งโรคพิษสุนัขบ้าได้บ้าง?
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า สามารถติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ และสามารถเป็นแหล่งโรคติดต่อมาสู่คนได้ เช่น สุนัข แมว โค กระบือ ม้า สุนัขจิ้งจอก หรือแม้กระทั่งสัตว์ที่เราอาจ คาดไม่ถึง เช่น ค้างคาว ก็เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนได้
อาการของสัตว์ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า
สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง อาจดุร้าย หรือหวาดกลัวผิดปกติ กระวนกระวาย เป็นอัมพาต น้ำลายไหล กลืนลำบาก ตอบสนองต่อการกระตุ้นของเสียง หรือแสงมากกว่าปกติ สัตว์มักเสียชีวิตหลังมีอาการแสดง ใน 7 – 10 วัน ซึ่งระยะที่มีอาการของโรคนี้ สัตว์จะมีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าออกมาทางน้ำลาย สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ผ่านการกัดคน หรือสัตว์อื่น
การติดต่อ
เชื้อไวรัสจะอยู่ในน้ำลาย เนื้อเยื่อระบบประสาทของสัตว์ที่ติดเชื้อ ดังนั้นผู้ที่มีโอกาสสัมผัสโรคคือ ผู้ที่ถูกกัด ข่วน หรือน้ำลายกระเด็นเข้าบาดแผล หรือผิวหนังที่มีรอยถลอก หรือถูกเลียที่เยื่อบุปาก จมูก ตา หรือกินอาหารดิบที่ปรุงจากสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
เมื่อถูกสัตว์กัดต้องทำอย่างไร?
หลังจากถูกสัตว์กัด ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น และไปพบแพทย์
- การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1. ล้างแผลด้วยน้ำสบู่ ฟอกหลายๆ ครั้ง ล้างสบู่ออกให้หมดระวังอย่าให้แผลช้ำ ห้ามใช้ครีมทา
2. เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ควรใช้ยาโพวีโดนไอโอดีน
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการล้างแผล จะช่วยลดปริมาณเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าที่สัมผัสเข้าสู่ร่างกายทางแผลได้
- การรับวัคซีน และภูมิต้านทานอิมมูโนโกลบูลิน
เมื่อไปพบแพทย์ ๆ จะพิจารณาการรักษา การให้วัคซีน และภูมิต้านทานอิมมูโน โกลบูลิน ตามประวัติการสัมผัสโรค และการตรวจร่างกายที่ตรวจพบ ซึ่งบางรายจำเป็นต้องได้รับทั้ง 2 ชนิด บางรายได้รับเพียงวัคซีนก็เพียงพอ
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
ในปัจจุบัน วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าในผิวหนัง บริเวณต้นแขน ไม่ได้ฉีดรอบสะดือดังแต่ก่อน โดยจะฉีดให้ทั้งหมด 5 เข็ม คือ วันแรกที่มาพบแพทย์ และตามนัดอีก 4 ครั้ง ครั้งละ 1 เข็ม ถ้าหากฉีดวัคซีนครบตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโรคแล้ว วัคซีนจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจากการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ที่สัมผัสโรคในประเทศไทย 113 คน ที่ได้รับการฉีดวัคซีนภายหลังการสัมผัสโรคพบว่าไม่พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนั้นยังมีงานวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูลของแพทย์และคณะวิจัยอีกหลายท่านที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้
ภูมิต้านทานอิมมูโนโกลบูลิน
ภูมิต้านทานอิมมูโนโกลบูลิน เป็นภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าสำเร็จรูป ที่ผลิตโดยการฉีด วัคซีนให้กับม้าหรือคน จนกระทั่งมีภูมิต้านทานอยู่ในระดับที่สูงพอจึงเจาะเลือดมาผลิดเป็นอิมมูโนโกลบูลิน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การรับภูมิต้านทานชนิดนี้ แพทย์จะพิจารณาฉีดให้แก่ผู้สัมผัสโรคเป็นรายๆ ไป โดยจะฉีดให้ในวันแรกที่รับวัคซีน ซึ่งคำนวณปริมาณตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วย
ระยะก่อนแสดงอาการและระยะโรคสำคัญอย่างไร?
ระยะก่อนแสดงอาการ
เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติ เป็นช่วงที่เชื้อไวรัสจะเดินทางจากบริเวณที่รับเชื้อเข้าสู่สมอง ระยะนี้ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 3 – 12 สัปดาห์ แต่สามารถใช้เวลานานกว่านี้ได้ในบางราย ระยะนี้เป็นระยะที่วัคซีนสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เพื่อนำไปสู่การป้องกันการเกิดโรคได้
ระยะโรค
เป็นระยะที่เชื้อไวรัสได้เข้าสู่สมองแล้วผู้ป่วยจะมีอาการแสดงของโรค ผู้ป่วยมักเสียชีวิตใน 7 – 10 วัน ระยะนี้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่มีผลในการรักษา ซึ่งการรักษาจะรักษาตามอาการของโรคเป็นหลัก
ผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการ เป็นอย่างไร?
อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคนสามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
1. อาการคลุ้มคลั่ง หรืออาการทางสมองเป็นอาการสำคัญ ผู้ป่วยจะมีอาการสลับสับเปลี่ยนระหว่างการรู้ตัวที่ปกติ สามารถพูดคุย โต้ตอบ รู้เรื่องทุกอย่าง และลักษณะที่กระวนกระวายต่อสิ่งเร้า เช่น แสง เสียง มีอาการกลัวน้ำ กลัวลม น้ำลายมากผิดปกติ จนต้องบ้วน หรือถ่มเป็นระยะ จำตนเองไม่ได้ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มซึม และไม่รู้สึกตัว
2. อาการอัมพาต หรืออาการอ่อนแรงแขนขา เป็นอาการสำคัญ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรง ลามขึ้นไปจากขา ไปยังแขน และลามไปทั่วตัว มีไข้ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่มีอาการผิดปกติของการรับรู้ และสติสัมปชัญญะเลย
3. กลุ่มที่ไม่มีอาการที่บ่งชี้ สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าดังเช่น 2 กลุ่มแรก อาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถวินิจฉัยได้จากอาการเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้หากเชื้อไวรัสเข้าสู่สมอง อยู่ในช่วงระยะโรคแล้ว การรักษาทำได้เพียงการดูแลแบบประคับประคอง และรักษาตามอาการเท่านั้น
แม้โรคพิษสุนัขบ้า จะเป็นโรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมสู่คนที่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันการติดต่อได้เมื่อสัมผัสโรค ด้วยการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง และมาพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการควบคุมโรคนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย รวมทั้งความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสุนัข และแมว ซึ่งเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับคนมากที่สุด ควรนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ปีละ 1 ครั้ง อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการลดการ ติดเชื้อในสัตว์ และเป็นการป้องกันโรคอีกทางหนึ่งด้วย
……………………………………………