- April 15, 2022
- somdej_admin
- Comment: 0
- เด็ก
นายแพทย์สฐาปกร ศิริวงศ์
ต่อมธัยรอยด์อยู่ที่ไหน ? และมีหน้าที่อย่างไร ?
ต่อมธัยรอยด์เป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย อยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอใต้กระดูกอ่อนของกล่องเสียง หรือใต้ลูกกระเดือกในเพศชาย มีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนที่ชื่อว่า “ธัยรอยด์ฮอร์โมน” ซึ่งมีความจำเป็นต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น สมอง ระบบประสาท หัวใจ เนื้อเยื่อต่างๆ กระดูกและกล้ามเนื้อ ฯลฯ ซึ่งทำให้เรากระฉับกระเฉง หัวใจทำงานเป็นปกติ มีการเผาผลาญพลังงานของเซลล์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และในเด็กยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายอีกด้วย ดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อร่างกายทุกเพศและทุกวัย
ภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานต่ำคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานต่ำ คือภาวะที่ร่างกายมีฮอร์โมนธัยรอยด์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปหากขาดฮอร์โมนเพียงเล็กน้อยหรือเป็นไม่นานก็จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่หากขาดฮอร์โมนรุนแรงและเป็นระยะเวลานานๆ เป็นเดือนหรือปี ก็จะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติได้ เช่น น้ำหนักตัวขึ้น ท้องผูกเรื้อรัง เป็นตะคริวบ่อยๆ เสียงแหบ ขี้หนาว เชื่องช้า ง่วงนอนและหลับบ่อย หากเป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะสมองเสื่อมได้
การเกิดภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด จากการผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ หลังจากการรักษาโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษด้วยรังสีไอโอดีน โรคธัยรอยด์อักเสบเรื้อรัง “ฮาชิโมโต้” (Hashimoto’s Thyroiditis) การฉายแสงที่คอ เป็นต้น
ภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานต่ำรักษาหายขาดได้หรือไม่ มีอันตรายอย่างไร ?
โดยสาเหตุดังกล่าวแล้วข้างต้น ส่วนใหญ่ภาวะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เนื่องจาก ต่อมธัยรอยด์ถูกทำลายไปอย่างถาวร แต่อย่างไรก็ดีการรักษาภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานต่ำนี้ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่รับประทานฮอร์โมนทดแทนเพียงวันละ 1 – 2 เม็ด เป็นประจำทุกวันก็สามารถป้องกันหรือรักษาอาการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นได้แล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานต่ำหรือการขาดฮอร์โมน ธัยรอยด์นั้นแม้ไม่สามารถหายขาดได้ แต่ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะส่วนมากมักไม่มีอาการใดๆ หรือมีก็ไม่ใช่อาการรุนแรง และกว่าที่จะเกิดอาการต่างๆ ได้ก็จะต้องขาดฮอร์โมนรุนแรงและขาดเป็นเวลานานๆ ติดต่อกัน
นอกจากนั้นยาที่ใช้รักษาก็มิใช่สิ่งแปลกปลอมแต่อย่างใด เป็นฮอร์โมนที่ปกติร่างกายของเราต้องมีอยู่แล้วนั่นเอง เพียงแต่ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องรับประทานเป็นประจำไปตลอดชีวิต
ภาวะธัยรอยด์เป็นพิษ
ภาวะธัยรอยด์เป็นพิษคือภาวะที่มีระดับฮอร์โมนธัยรอยด์ในเลือดมากกว่าปกติ ซึ่งทำให้เกิดอาการของระบบประสาทอัตโนมัติไวกว่าปกติ เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น มือสั่น ขี้ร้อน เหงื่ออกมาก หิวบ่อยกินเก่ง แต่น้ำหนักลด สมาธิสั้นอยู่ไม่ค่อยสุข กระวนกระวาย นอนไม่ค่อยหลับ ถ่ายอุจจาระบ่อย บางรายมาด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ในผู้หญิงประจำเดือนอาจมาน้อยลง มีสิวมาก หรือลมพิษบ่อย ในผู้ชายอาจพบอาการอ่อนแรงของแขนขาได้
สาเหตุของภาวะธัยรอยด์เป็นพิษที่พบบ่อย
– โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษแบบโรคเกรฟ
– เนื้องอกของต่อมธัยรอยด์ที่สร้างฮอร์โมนมากกว่าปกติ
– การอักเสบเฉียบพลันของต่อมธัยรอยด์จากเชื้อไวรัส หรือระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ
– การรับประทานยาฮอร์โมนธัยรอยด์ที่มากเกินขนาด
โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษแบบโรคเกรฟ
โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษแบบโรคเกรฟเป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุด มักพบในเพศหญิง วัยรุ่น ถึงวัยกลางคน สาเหตุเกิดจากมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันกระตุ้นให้มีการทำงานของต่อมธัยรอยด์ ที่มากกว่าปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการของภาวะธัยรอยด์เป็นพิษและจะมีต่อมธัยรอยด์ที่โตขึ้น การดำเนินโรค จะเป็นๆ หายๆ ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ ซึ่งส่วนใหญ่การรักษาจะมีด้วยกัน 3 วิธี คือ
1.การให้ยายับยั้งการสร้างฮอร์โมนต่อมธัยรอยด์ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีต่อมธัยรอยด์โตไม่มาก และอาการไม่รุนแรง การรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องกินยาต่อเนื่องระยะเวลา 1 ปีครึ่งเป็น อย่างน้อย ซึ่งหลังจากรักษาครบระยะเวลาแล้วยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกประมาณ 40 – 50% ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นหลังจากรับประทานยาครบแล้วผู้ป่วยยังจำเป็นต้องมาพบแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อตรวจว่ามีโรคกลับเป็นซ้ำหรือไม่ และนอกจากนั้นสิ่งที่ผู้ป่วยควรทราบคือเป้าหมายของการรักษา เพื่อให้อาการของภาวะธัยรอยด์เป็นพิษหายไป แต่ขนาดของ ต่อมธัยรอยด์จะไม่เปลี่ยนแปลง หรือยุบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
2.การให้ไอโอดีนเคลือบสารกัมมันตภาพรังสี (Iodine 131) การรักษาวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการมากหรือต่อมธัยรอยด์มีขนาดโตมาก ผลการรักษาทำให้หายจากภาวะเป็นพิษได้มากถึง 80 – 90% และสามารถทำให้ต่อมธัยรอยด์เล็กเป็นปกติได้ แต่มีข้อเสียคือหลังจากรักษาไปแล้วประมาณ 5 – 10 ปี ผู้ป่วยจะเข้าสู่ภาวะธัยรอยด์ต่ำ ซึ่งจะต้องรับประทานฮอร์โมนธัยรอยด์ไปจนตลอดชีวิต แต่อย่างไรก็ตามฮอร์โมนธัยรอยด์ดังกล่าวเป็นสารที่ร่างกายต้องมีอยู่แล้วตามปกติ จึงไม่มีอันตราย การรักษาด้วยวิธีนี้จำกัดอยู่เฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ๆ ดังนั้น การเดินทางจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้ป่วยจะต้องคำนึงถึง
3.การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต่อมธัยรอยด์มีขนาดโตมาก หรือสงสัยภาวะมะเร็งของ ต่อมธัยรอยด์ วิธีนี้สามารถลดระดับฮอร์โมนได้อย่างรวดเร็ว แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมเนื่องจากมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดสูง เช่น ภาวะแคลเซียมต่ำหรือเสียงแหบ อย่างถาวรได้
ยาต้านธัยรอยด์
ยาต้านธัยรอยด์เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะธัยรอยด์เป็นพิษ โดยเฉพาะโรคเกรฟ ในปัจจุบันมียาที่สำคัญ 2 ชนิดคือ เมททิมาโซล (Methimazole) และโพรพิวไธโอยูราซิล (Propylthiouracil หรือ PTU) ยาทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย สามารถรับประทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานได้ ผลข้างเคียงที่อาจพบได้น้อยมาก เช่น ผื่น ปวดข้อ เม็ดเลือดขาวต่ำ หรือตับอักเสบ ยาดังกล่าวทั้งสองสามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร แต่อย่างไรก็ดียา PTU มีปริมาณผ่านไปสู่เด็กได้น้อยกว่า และมีผลต่อเด็กน้อยกว่าเช่นกัน
ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเกรฟในระหว่างตั้งครรภ์จำเป็นจะต้องมาปรับยาโดยแพทย์เป็นระยะทุก 1 – 2 เดือน เพราะในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์จะมีระดับการเปลี่ยนแปลงของธัยรอยด์ฮอร์โมนได้มาก และเพื่อมิให้ระดับของธัยรอยด์ฮอร์โมนสูงหรือต่ำจนเกินไป ดังนั้นผู้ป่วยในกลุ่มนี้จำเป็นต้องรักษาอย่างใกล้ชิดและต้องมีการตรวจติดตามหลังคลอดอีกระยะหนึ่ง เพราะภาวะธัยรอยด์เป็นพิษจะกำเริบอีกในช่วง2 – 3 เดือนหลังคลอด ส่วนมารดาที่เป็นเกรฟนั้น บุตรมีโอกาสเป็นธัยรอยด์เป็นพิษเมื่อตอนโตขึ้น เนื่องจากส่วนหนึ่งมีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
ภาวะธัยรอยด์เป็นพิษเกิดได้จากหลายสาเหตุส่วนใหญ่เป็นโรคเกรฟ โรคนี้ถึงแม้ว่าจะไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมโรคได้ ผู้ป่วยส่วนหนึ่ง จำเป็นต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน หรือตลอดไป และจำเป็นต้องมีการตรวจเลือดและพบแพทย์เป็นระยะๆ ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่ควรกังวลใจและทำความเข้าใจกับโรคที่เป็นอยู่ และอยู่กับโรคธัยรอยด์ได้เหมือนคนปกติทั่วไป
……………………………………..