โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

                                                                                                                                 นายแพทย์ณัฐวุธ  ศาสตรวาหา


เคยไหม..อยู่ดีๆ  ก็ขยับนิ้วไม่ได้  จะงอก็ไม่ได้จะเหยียดก็ไม่ได้  บางครั้งอยู่ดีๆ  นิ้วก็กระตุกขึ้นมาเฉยๆ  บางครั้งอุตส่าห์จับเหยียดจนออกกลับงอไม่เข้าเสียอีก  แถมยังปวดนิ้วขึ้นมาอีกด้วย ทั้ง ๆ  ที่ไม่ได้กระแทกอะไรเสียหน่อย  อาการต่างๆ  เหล่านี้ภาษาชาวบ้าน  เรียกว่า  นิ้วล็อคนั่นเอง  คืออาการผู้ป่วยจะเหมือนนิ้วล็อค  คือเวลางอนิ้วแล้วจะเหยียดนิ้วกลับเหยียดไม่ออก  เหมือนโดนล็อคไว้  ภาษาอังกฤษเรียกว่า  “Trigger Finger”  เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วซึ่งอยู่ที่บริเวณฝ่ามือ  ตรงตำแหน่งโดนนิ้ว  มีโอกาสเป็นได้ทุกนิ้ว  นิ้วที่เป็นบ่อยคือนิ้วกลาง  นิ้วนาง  และนิ้วหัวแม่มือตามลำดับ  ผู้ป่วยบางคนอาจเป็นหลายนิ้วพร้อมกัน  หรือเป็นมือทั้งสองข้างร่วมกันก็ได้

อาการของโรคนี้แบ่งเป็น  4  ระยะ  คือ

1. ระยะที่หนึ่ง  มีอาการปวดเป็นหลัก  โดยจะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ  และจะมี     อาการปวดมากขึ้นถ้าเอานิ้วกดบริเวณโคนนิ้วมือด้านหน้า  แต่ยังไม่มีอาการล็อคของนิ้ว

2. ระยะที่สอง  มีอาการสะดุด  (Triggering)  เป็นอาการหลัก  และอาการปวดก็มักจะเพิ่มมากขึ้นด้วย  เวลาขยับนิ้ว  งอ  และเหยียดนิ้วจะมีอาการสะดุดของนิ้ว  และปวดมาก

3. ระยะที่สาม  มีอาการติดล็อคเป็นอาการหลัก  โดยเมื่องดนิ้วลงไปแล้วนิ้วจะติดล็อคจน ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกได้เอง  ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยแกะ  หรืออาจมีอาการมากขึ้น จนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง

4. ระยะที่สี่  มีอาการอักเสบบวมมากจนนิ้วติดอยู่ในท่างอไม่สามารถเหยียดให้ตรงได้ ถ้าใช้มือช่วยเหยียดจะปวดมาก

วิธีป้องกันนิ้วล็อค

1. ไม่หิ้วของหนัก  เช่น  ถุงพลาสติก  ตะกร้า  ถังน้ำ  ถ้าจำเป็นต้องหิ้วควรใช้ผ้าขนหนู- รอง  และหิ้วให้น้ำหนักลงที่ฝ่ามือ  แทนที่จะให้น้ำหนักลงที่ข้อนิ้วมือ  หรือใช้วิธีการ  อุ้มประคองจะช่วยลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือได้

2. ไม่ควรบิด  หรือซักผ้าด้วยมือเปล่าจำนวนมากๆ  และไม่ควรบิดผ้าให้แห้งสนิท เพราะต้องออกแรงมาก  อาจจะทำให้เอ็นเสียดสีกับปลอกหุ้มเอ็นมากกว่าปกติ

3. นักกอล์ฟที่ต้องตีแรง  ตีไกล  ควรใส่ถุงมือ  หรือใช้ผ้าสักหลาดหุ้มด้ามจับให้หนา หรือนุ่มขึ้นเพื่อลดแรงปะทะ  และไม่ควรไดร์กอล์ฟต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ

4. เวลาทำงานที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่าง  ควรระวังการกำมือ  หรือออกแรงบิดเครื่องมือ เช่น  ไขควง  เลื่อย  ค้อน  ควรใส่ถุงมือ  หรือห่อหุ้มด้ามจับให้ใหญ่  และนุ่มขึ้น

5. ชาวสวนควรระวังการตัดกิ่งไม้ด้วยกรรไกร  หรือใช้จอบขุดดินควรใส่ถุงมือ  เพื่อลดการบาดเจ็บของปลอกเอ็นกับเส้นเอ็น  และควรใช้สายยางรดน้ำต้นไม้แทนการหิ้วถังน้ำ

6. คนที่ยกของหนักเป็นประจำ  เช่น  ถังแก๊ส  พ่อครัวควรหลีกเลี่ยงการยกมือเปล่า  ควรมีผ้านุ่มๆ  มารองจับขณะยก  และใช้เครื่องทุ่นแรง  รถเข็น  หรือรถลาก

7. หากจำเป็นต้องทำงานที่ต้องใช้มือ  กำ  หยิบ  บีบเครื่องมือเป็นเวลานาน  ควรใช้เครื่อง-ทุ่นแรง  เช่น  ใช้ผ้าห่อด้ามจับให้หนานุ่มขึ้น

8. งานบางอย่างที่ต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่องทำให้มือเมื่อยล้า  หรือระบมควรพักมือเป็นระยะๆ  เช่น  ทำ  45  นาที  ควรจะพักมือ  10  นาที  เป็นต้น

สำหรับวิธีการการรักษาโรค  “นิ้วล็อค”  ประกอบด้วย

1. การใช้ยารับประทาน  เพื่อลดการอักเสบ  ปวด  บวม ร่วมกับพักการใช้มือ

2. การใช้วิธีทางกายภาพบำบัด  เช่น  การใช้เครื่องดามนิ้วมือ  การนวดเบาๆ  การใช้ความร้อนประคบ  และการออกกำลังกายเหยียดนิ้ว  การรักษาด้วยยา  และกายภาพ-บำบัดอาจใช้ร่วมกันได้  และมักใช้ได้ผลดีเมื่ออาการของโรคอยู่ในระยะที่หนึ่ง และระยะที่สอง

3. การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่  เพื่อลดการอักเสบ  ปวด  และบวม  เป็นการรักษาที่มี  ประสิทธิภาพค่อนข้างมาก  ส่วนมากมักจะหายเจ็บ  บางรายอาการติดสะดุดจะดีขึ้นแต่มักจะได้ผลชั่วคราว  และแต่ละนิ้วไม่ควรฉีดยาเกิด  2-3  ครั้ง  การรักษาโดยการฉีดยานี้สามารถใช้ได้ในอาการของโรคตั้งแต่ระยะที่หนึ่งจนถึงระยะสุดท้าย

4. การรักษาโดยการผ่าตัด  ถือว่าเป็นการรักษาที่ดีที่สุดในแง่ที่จะไม่ทำให้กลับมาเป็นโรคอีก  หลักในการผ่าตัด  คือ  ตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็น  บริเวณโคนนิ้วที่หนาอยู่ให้เปิดกว้างออกเพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านไปได้โดยสะดวกไม่ติดขัด  หรือสะดุดอีก  ทั้งนี้การผ่าตัดแบ่งออกได้เป็น  2  วิธี  คือ  การผ่าตัดแบบเปิด  และการผ่าตัดแบบปิด

การผ่าตัดแบบเปิด  เป็นวิธีมาตรฐานที่ควรทำในห้องผ่าตัด  โดยฉีดยาชาเฉพาะที่  ผ่าตัดเสร็จก็กลับบ้านได้  หลังผ่าตัดให้หลีกเลี่ยงการใช้งานหนัก  และห้ามโดนน้ำประมาณ  2  สัปดาห์

การผ่าตัดแบบปิด  โดยการใช้เข็มเขี่ย  หรือสะกิดปลอกหุ้มเอ็น  โดยจะมีแผลแค่รูเข็มที่ใช้เท่านั้น  วิธีนี้อาจมีผลแทรกซ้อนได้  ถ้าไปเขี่ย  หรือสะกิดถูกเส้นประสาท  หรืออาจทำให้เส้นเอ็นบอบช้ำ  จึงไม่แนะนะสำหรับนิ้วที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเส้นประสาทสูงคือ  นิ้วหัวแม่มือ  และนิ้วชี้  การผ่าตัดแบบปิดนี้ใช้ได้ในคนไข้ที่มีอาการของโรคตั้งแต่ระยะที่สองขึ้นไปเท่านั้น

————————–