ข้อไหล่ของคนเรานั้น เป็นข้อต่อของร่างกายที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกสะบัก กระดูก ไหปลาร้าและกระดูกต้นแขน โดยที่มีเส้นเอ็นและเยื่อหุ้มข้อโดยรอบที่คอยทำหน้าที่เคลื่อนไหวและประคับประคองความแข็งแรงของข้อไหล่
เมื่อเกิดมีภาวะอักเสบของเยื่อหุ้มข้อไหล่ ซึ่งจะทำให้เกิดพังผืดหนาตัวขึ้นที่บริเวณโดยรอบจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการปวดและจำกัดการเคลื่อนไหวของ ข้อไหล่ทุกทิศทางจนกระทั่งไม่สามารถขยับข้อไหล่ได้ โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 2 ของกลุ่มประชากรทั่วไป ซึ่งจะพบมากในเพศหญิงที่มีอายุในช่วงประมาณ 40 – 60 ปี มักพบว่าเป็น ข้อไหล่ข้างที่ไม่ใช่ข้างถนัดหรือข้างที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน รวมทั้งผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่างเช่น โรคเบาหวาน ภาวะฮอร์โมนธัยรอยด์ผิดปกติ หรือโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง (Autoimmune disease) อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้
ผู้ป่วยที่มีโรคข้อไหล่ติดนั้นจะมีอาการและความรุนแรงแตกต่างกันไปขึ้นกับระยะของโรคในขณะนั้นว่าอยู่ในระยะใดก็ตาม
ในระยะแรกของผู้ที่มีภาวะของโรคข้อไหล่ติดนั้น เรียกว่า ระยะเจ็บปวด (Freezing stage) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่บริเวณข้อไหล่โดยที่อาการจะเพิ่มมากขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะตอนกลางคืน หรือตอนที่นอนทับไหล่ข้างที่มีอาการ การเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะยังไม่จำกัดมาก ระยะนี้มักอยู่ในช่วง 6 สัปดาห์ จนถึง 9 เดือน
ระยะที่ 2 เรียกว่า ระยะข้อยึด (Frozen stage) ระยะนี้อาการปวดจะยังคงมีอยู่ หรือลดลงบ้าง แต่การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลงมากหรืออาจจะขยับข้อไหล่ไม่ได้เลย ระยะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 9 – 15 เดือน
ระยะสุดท้าย หรือระยะฟื้นตัว(Thawing stage) อาการปวดจะลดลงจนกระทั่งหายไป การเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะค่อยๆ ดีขึ้น ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน จนกระทั่งถึง 2 ปีในบางรายเท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ โรคข้อไหล่ติดนั้นเป็นโรคที่หายได้เองตามธรรมชาติ แต่ใช้ระยะเวลาการดำเนินของโรคที่ยาวนาน ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ต้องทนทุกข์เป็นอย่างมาก ซึ่งแพทย์ผู้ให้การรักษาก็จะเข้ามามีบทบาทโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคทั้งในเรื่องของการลดความเจ็บปวด และการเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ วิธีการรักษาที่ได้ผลมีหลากหลายวิธี เช่น การรับประทานยาต้านการอักเสบเพื่อลดอาการปวด การบริหารข้อไหล่หรือ การกายภาพบำบัด การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อไหล่เพื่อลดอาการเจ็บปวดขณะบริหารข้อไหล่ การดัดข้อไหล่ในขณะที่ผู้ป่วยดมยาสลบ อย่างไรก็ตามในกรณีที่โรคไม่ตอบสนองต่อการรักษาดังที่กล่าวมาแล้วนั้น การผ่าตัด ก็เป็นทางเลือกที่ได้ผลดี และสามารถช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยวิธีการผ่าตัดที่ผมจะขออนุญาตแนะนำในปัจจุบันก็คือ การผ่าตัดโดยวิธีการส่องกล้องเข้าไปเพื่อตัดเลาะพังผืดรอบข้อไหล่ โดยผู้ป่วยจะใช้เวลาฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 2 – 3 วัน ก็จะสามารถกลับไปทำการบริหารข้อไหล่ที่บ้านได้เองครับ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการปวดบริเวณข้อไหล่ หรือรู้สึกว่าข้อไหล่ขยับได้น้อยลง หรือขยับได้ ไม่เหมือนเดิมนั้น ไม่ได้แปลว่าท่านจะเป็นโรคข้อไหล่ติดทุกคนนะครับ ยังมีสาเหตุอีกหลายสาเหตุที่มีลักษณะของอาการใกล้เคียงกับโรคข้อไหล่ติด ทางที่ดี ถ้าท่าน หรือคนรู้จักมีอาการปวดหัวไหล่ หรือขยับ ข้อไหล่ได้น้อยลงเป็นระยะเวลาติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ ผมขอ แนะนำให้มาพบแพทย์เฉพาะทาง ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลที่ท่านและครอบครัวไว้วางใจ หรือจะมาที่โรงพยาบาลสมเด็จ พระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย ก็ได้นะครับ พวกเราแพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ยินดีให้คำปรึกษา แนะนำ รักษา ช่วยเหลือท่านด้วยความจริงใจเต็มขีดความสามารถ และศักยภาพของพวกเรา…………สวัสดีครับ
……………………………………………………..