โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

 โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า GERD เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร โดยของที่ไหลย้อนส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เรอเปรี้ยว แสบร้อนหน้าอก โดยที่อาจมี หรือไม่มีหลอดอาหารอักเสบก็ได้ และอาการดังกล่าวนี้สร้างปัญหา และมีผลรบกวนต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

        เนื่องจากโรคกรดไหลย้อน อาจจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อร่วมด้วย คล้ายๆ กับอาการของโรคกระเพาะอาหารจึงทำให้คนส่วนใหญ่มักจะเหมารวมว่าตนเองอาจจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร และไปหาซื้อยาลดกรด (antacid) ที่มีวางจำหน่ายตามท้องตลาดมารับประทาน ซึ่งยาประเภทนี้มีประสิทธิภาพไม่สูงพอที่จะรักษา ทำให้การรักษาไม่ตรงจุด โดยเฉพาะคนไทยเรามักจะคิดว่าการไปพบแพทย์เป็นเรื่องใหญ่ และนิยมซื้อยามารับประทานเอง ระยะหลังมานี้จึงพบผู้ที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

        สาเหตุของโรค
        สาเหตุที่สำคัญคือ การคลายตัวของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารที่ไม่สัมพันธ์กับการกลืน พบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความถี่ของการคลายตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายโดยที่ไม่มีการกลืนเป็นจำนวนครั้งที่มากกว่าคนปกติ
        นอกจากนี้แล้วยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้แก่
        •   ความดันขณะบีบตัวของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารลดลงต่ำกว่าในคนปกติ
        •  ภาวะไส้เลื่อนกระบังลม (ส่วนหนึ่งของกระเพาะอาหารเคลื่อนขึ้นไปอยู่ในช่องทรวงอกเหนือกระบังลม)
        •  การบีบตัวของหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหารที่ผิดปกติ
        •  ภาวะบางอย่างที่เป็นเหตุให้เกิดกรดไหลย้อนเพิ่มขึ้น เช่น ความอ้วน, ตั้งครรภ์

        โรคนี้ทำให้มีอาการอย่างไร?
         ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการแสบร้อนบริเวณกลางหน้าอก หรือมีอาการเรอเปรี้ยว (มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาที่คอหรือปาก) และจะเป็นมากขึ้นหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย บางรายอาจมาด้วยอาการที่ไม่ตรงแบบ ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคของอวัยวะอื่นๆ เช่น จุกที่คอ เจ็บหน้าอก (จนคิดว่าเป็นโรคหัวใจ) มีกลิ่นปาก ฟันผุ ขณะที่อีกบางส่วนมีอาการของระบบหูคอจมูก และ ติดทางเดินหายใจ เช่น ไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง เจ็บคอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ หรือหอบหืด เป็นต้น โรคนี้ไม่เพียงแต่จะพบในผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในเด็กทุกช่วงอายุตั้งแต่วัยทารกจนถึงเด็กโต 

ในเด็กเล็ก อาการที่ควรคิดถึงโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโต ไม่สมวัย ไอเรี้อรัง หอบหืด ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจในขณะหลับ (sleep apnea)ได้

   จะวินิจฉัยได้อย่างไร?
        โดยปกติแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากอาการของผู้ป่วยที่เข้าได้ดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม (ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการที่บ่งบอกว่าจะเป็นโรคอื่น เช่น น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด หรือมีไข้) เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อนแล้ว ก็จะสามารถให้การรักษาเบื้องต้นได้ทันที การที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหลังการรับประทานยาภายในเวลาที่เหมาะสม ถือเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรค กรดไหลย้อน

        ในกรณีที่มีข้อสงสัยในการวินิจฉัยโรค หรือผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้นภายหลังการรักษา แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาการ การตรวจทางรังสีโดยการกลืนแป้ง การตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร หรือการตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร (24 hour pH monitoring) ซึ่งถือเป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐาน และได้ผลแม่นยำที่สุดในปัจจุบัน

        การรักษา
        มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้หายจากอาการ หรือลดอาการของผู้ป่วยให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รักษาอาการอักเสบของหลอดอาหาร และป้องกันผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในหลอดอาหาร

        การรักษามีหลายขั้นตอน มีตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การให้ยารับประทาน การให้การรักษาผ่านทางกล้อง และการผ่าตัด

        วิธีที่สำคัญ และง่ายที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่
        •  หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
        •  งดอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อคโกแลต
        •  หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม
        •  ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานโดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคอ้วน
        •  นอนหนุนหัวเตียงสูงอย่างน้อย 6-8 นิ้ว (นอนตะแคงซ้ายอาจช่วยให้ดีขึ้น)
        •  หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในปริมาณมาก ๆ ในแต่ละมื้อ โดยเฉพาะมื้อเย็น และเว้นระยะห่างระหว่างการรับประทานอาหารกับการนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
        •  ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดเกินไป
        •  เคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมอาจช่วยลดปริมาณกรดในหลอดอาหารได้

        ถ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่ดีขึ้นควรทำอย่างไร?
         ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยารับประทาน ยาที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นยาหลักในการรักษาโรคนี้ คือ ยาลดการหลั่งกรดในกลุ่ม PPI ( Proton Pump Inhibitor) โดยแพทย์จะให้รับประทานยา PPI เป็นเวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์ติดต่อกัน ถ้าอาการดีขึ้นมากจะพิจารณาให้หยุดยา หรือลดขนาดยาให้อยู่ในระดับที่ควบคุมอาการได้ บางรายอาจจะต้องรับประทานยาหลายเดือน หรือหลายปี โดยอาจพิจารณารับประทานยาช่วงสั้น ๆ ไม่กี่วันเฉพาะช่วงที่มีอาการ หรือรับประทานยาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งการใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแล ของแพทย์ และเภสัชกรเท่านั้น

        ในรายที่รับประทานยาต่อเนื่องแล้วยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการส่องกล้อง หรือผ่าตัด

       

อาการเตือน (Alarm Symptom)
         เมื่อมีอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการสืบค้นหาสาเหตุเพิ่มเติม เพราะอาจไม่ใช่อาการของโรคกรดไหลย้อน หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคกรดไหลย้อนเกิดขึ้นแล้ว เช่น หลอดอาหารอักเสบขั้นรุนแรง หรือเป็นแผล หลอดอาหารตีบ หรือเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร อาการที่ถือเป็นสัญญาณเตือน ได้แก่
         •  อาเจียนมาก
         •  น้ำหนักลดลงชัดเจน
         •  กลืนลำบาก หรือกลืนแล้วติด
         •  กลืนแล้วเจ็บ
         •  อาเจียนเป็นเลือด
         •  มีภาวะอ่อนเพลียอันเนื่องมาจากโลหิตจาง
         •  คลำได้ก้อนบริเวณคอ หรือช่องท้อง
         •  เริ่มมีอาการหลังอายุ 50 ปี
         •  อาการไม่ดีขึ้นเลยหลังได้รับยาแล้ว
        

        อย่างไรก็ตาม โรคกรดไหลย้อนโดยทั่วไปแล้ว ถือว่ามีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น ค่อนข้างต่ำมากโดยพบว่าผู้ป่วยชาวเอเชียที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อน และได้รับการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น มีการอักเสบของหลอดอาหาร และเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ต่ำกว่าชาวตะวันตกอย่างมีนัยสำคัญ

        โรคกรดไหลย้อน แม้จะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่อาการที่เกิดขึ้นเป็นๆ หายๆ ก็สร้างความทุกข์ใจ กังวลใจให้แก่ผู้ที่เป็นโรคนี้ได้มาก การมีความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติของโรค และการดำเนินของโรค รวมถึงการรู้จักปฎิบัติตัวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้อาการของโรคลดน้อยลงไป และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการรับประทานยาเป็นเวลานานๆ

 

———————————————–