โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

                                                                                                                                                                                                                                                                                                   นายแพทย์ไตรรงค์  โตสุขุมวงศ์

แผลเป็นนั้นมีหลายรูปแบบ  แต่แผลเป็นที่ถือว่าผิดปกตินั้นจะแบ่งออกได้เป็น  3  ลักษณะ  คือ

1.  ลักษณะแผลเป็นที่โตนูน  และแผลเป็นที่โตนูนก็จะมี  2  แบบ  คือ

1.1  แผลเป็นนูนเกิน  เป็นแผลที่โตนูนแต่ไม่เกินขอบเขตแผลเดิมใน ระยะแรกจะมีลักษณะนูน  แดง  คัน

1.2  แผลเป็นคีลอยด์  เป็นแผลเป็นที่โตนูน  และขยายใหญ่เกินขอบเขตของแผลเดิมไปมาก

2.  ลักษณะแผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไป  จะมีลักษณะเป็นร่อง  หรือรูบุ๋มลึกลงไปใต้ผิวหนัง

3.  ลักษณะแผลเป็นที่มีการหดรั้งร่วมด้วย  ซึ่งแผลเป็นชนิดนี้จะดึงรั้งอวัยวะบริเวณแผลให้ผิดรูปได้

แผลเป็นทั้ง  3  ลักษณะนี้อาจจะมีผิวสีซีดหรือผิวสีเข้มก็ได้

การป้องกัน

การป้องกันการเกิดแผลเป็น  เป็นเรื่องสำคัญมาก  โดยเฉพาะการที่มีแผลใหม่ๆ  เราจะเริ่มโดยการแนะนำให้ผู้ป่วยนวด  หรือการกดบริเวณนั้นๆ  โดยทั่วไปแล้วการนวดอย่างสม่ำเสมอในระยะประมาณ  3-6  เดือนแรกเป็นเรื่องจำเป็นมาก  เพราะจะช่วยให้แผลเป็นนั้นลดการขยายตัวและนูนเกินได้  ในบางครั้งแผลเป็นที่มีขนาดใหญ่กว้าง  เช่นแผลเป็นที่เกิดจากไฟไหม้  หรือน้ำร้อนลวก  อาจจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือพิเศษ  หรือผ้ารัด  หรือ  pressure  garment  ซึ่ง  pressure  garment  นี้จะต้องสวมใส่เพื่อที่จะรัดบริเวณที่เกิดแผลเป็น  เช่น  ใบหน้า  ลำตัว  แขน  ขา  ในช่วงระยะประมาณ  6  เดือน ถึง  1  ปีแรกหลังจากที่ได้รับอุบัติเหตุ  หรือว่าจะนวดสามารถลดการเกิดแผลเป็นได้เช่นเดียวกัน  ดังนั้นในช่วงระยะแรกที่แผลเป็นมีการอักเสบอยู่การนวดก็จะช่วยลดไม่ให้แผลเป็นมีการขยายใหญ่โตได้

การรักษา

การรักษาแผลเป็นที่เกิดขึ้นแล้ว  จะแบ่งเป็น  4  วิธี  คือ

วิธีที่1  คือวิธีอนุรักษ์ก่อน  โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่าเกิน  95%  จะรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด  ควรใช้แผ่นซิลิโคนปิด  ซึ่งแผ่นซิลิโคนนี้จะมีลักษณะเป็นแผ่นเจลใสๆ  ที่ทำมาจากซิลิโคน  เราสามารถปิดไว้บนบาดแผล  หลังจากบาดแผลหายดีแล้วประมาณ  7  วัน  การปิดแผลนี้แนะนำให้ปิดตลอด  24  ชั่วโมง  เป็นเวลา  3  เดือน  ข้อดีจะทำให้บริเวณผิวหนังที่อยู่ใต้แผ่นซิลิโคนนี้มีความชุ่มชื้นมากขึ้นซึ่งจะทำให้ลดการอักเสบของแผลได้

วิธีที่2  เนื่องจากว่าบางครั้งเราพบว่าการปิดด้วยซิลิโคนอาจจะไม่สะดวกเท่าที่ควร  การใช้แผ่นเทปเหนียวหรือ  microporous  tape  ก็จะสามารถทดแทนได้เช่นเดียวกัน  แผ่นเทปเหนียวนี้สามารถใช้ปิดลงบนบาดแผลได้โดยตรงและจะทำให้ผิวหนังบริเวณใต้เทปนี้มีความชุ่มชื้นมากทำให้มีการอักเสบลดน้อยลง

วิธีที่3  การฉีดด้วยยาสเตียรอยด์  ซึ่งจะลดการอักเสบของการเกิดเป็นแผลเป็นนูนเกิน  คือคีลอยด์ได้  ยาที่แนะนำคือ  Triamcinolone  acetonide  ซึ่งเป็นยาฉีดเฉพาะที่  สามารถลดการอักเสบ  ซึ่งการฉีดยาเข้าไปในแผลเป็นโดยตรง  อาจจะทำให้มีอาการเจ็บได้พอสมควรในขณะฉีดยา  ขอแนะนำว่าควรฉีดยาที่แผลเป็นนี้ในช่วงระยะประมาณไม่เกิน  1  ปี  แรกหลังจากได้รับบาดเจ็บฉีดประมาณเดือนละ  1  ครั้ง  ซึ่งความถี่ในการฉีดขึ้นอยู่กับการตอบสนองของยาว่าจะมีผลเป็นอย่างไร

วิธีที่4  การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับรูปแบบของแผลเป็นนั้น  ถ้าเป็นกรณีที่เกิดเป็นแผลเป็นนูนเกิน  หรือคีลอยด์  เราก็อาจจะใช้วิธีตัดออก  หรือลดขนาดลงบางส่วน  วิธีนี้อาจจะใช้ร่วมกับการรักษาโดยวิธีอื่น  เช่น  การฉีดยา  หรือการปิดด้วยแผ่นซิลิโคนก็ได้  การผ่าตัดมีอยู่หลายวีธี  อาจจะใช้วิธีตัดออกโดยตรงแล้วเย็บปิดเป็นเส้นตรง  หรืออาจจะตัดออกเป็นรูปซิกแซก  เพื่อให้แผลเป็นที่เกิดขึ้นใหม่มีลักษณะใกล้เคียงกับรอยย่นตามผิวหนังและการผ่าตัดอีกวิธีหนึ่งก็คือการลดขนาดของแผลเป็น  วิธีนี้เราจะใช้วิธีการตัดแผลเป็นออกบ้างบางส่วน  โดยจะไม่ตัดออกทั้งหมด  หลังจากนั้นจะนัดผู้ป่วยมาเพื่อติดตามผลการรักษา  หากแผลเป็นมีขนาดเล็กลงอาจจะนัดมาตัดซ้ำอีกครั้งเรียกว่าการตัดแบบทีละน้อย  หรือวีธีการผ่าตัดอีกวิธีคือการใช้วิธีขัดกรอผิวหนัง  ซึ่งการขัดกรอผิวหนังนี้จะใช้ในกรณีที่มีแผลเป็นที่รอยขรุขระหรือไม่เรียบหรือเป็นรอยบุ๋ม  แผลเป็นนี้ส่วนใญ่มักจะเกิดจากสิวอักเสบหรือโรคสุกใส  การใช้หัวกรอหรือใช้แสงเลเซอร์ยิงบริเวณที่เป็นรอยขรุขระนี้เพื่อจะปรับสภาพผิวให้ราบเรียบขึ้น  แต่ข้อควรระวังคืออาจจะเกิดมีการเกิดผิวสีเข้มบริเวณนั้นได้

การรักษาแผลเป็นนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาดูว่าแผลเป็นนั้นเป็นแผลเป็นนูนชนิดใด  หากเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์จะต้องพิจารณาการรักษาอย่างเหมาะสม  มิฉะนั้นอาจจะมีแผลเป็นใหญ่โตเกินกว่าขนาดเดิมได้  โดยทั่วไปแล้วแผลเป็นมักจะสามารถป้องกันได้  ดังนั้นหากว่าเรารู้จักวิธีการดูแลรักษาภายหลังจากที่ได้รับแผลเป็นใหม่ๆ  ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้แผลเป็นนั้นนูนเกินหรือเป็นคีลอยด์ได้ในอนาคตหากจะเกิดเป็นแผลขึ้นมา

…………………………..……………..