- May 2, 2022
- somdej_admin
- Comment: 0
- กระดูกและกล้ามเนื้อ
นายแพทย์สุรพล อธิประยูร
ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือแพทย์โรคกระดูกว่าอาการปวด-เข่าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ข้อเข่าเสื่อมสภาพจากการใช้งานนานซึ่งมักเกิดในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และได้รับการรักษาทางยาจำพวกยาลดการอักเสบของข้อแล้วอาการไม่ดีขึ้น ยังมีอาการปวด-บวมของข้ออยู่ตลอดเวลาเมื่อเดินไกลๆ ก็จะมีอาการเจ็บปวดมากขึ้นก็เชื่อว่าการวินิจฉัยที่แพทย์บอกน่าจะเป็นจริง แพทย์อาจส่งตรวจทางรังสีโดยถ่ายเอ็กซเรย์ของเข่าทั้ง 2 ข้างในท่ายืนเพื่อจะดูว่ากระดูกอ่อนผิวข้อสึกไปมากน้อยเพียงใด ถ้ามีอาการสึกมากจะเห็นช่องข้อแคบลง แนวของข้อเสียไป และมีกระดูกแหลมๆ ยื่นออกไปด้านข้างๆ ของส่วนกระดูกข้อต่อก็ชัดเจนว่าภาวะ หรือโรคข้อเสื่อม สภาพในผู้สูงอายุที่เป็นอยู่นั้นมีมากทีเดียว น่าจะต้องไปรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าต่อไปซึ่งจะทำให้อาการที่เคยมีหายไปได้ และข้อเข่ากลับมาใช้งานได้ดีอีกครั้งหนึ่ง
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนี้เป็นการผ่าตัดที่ไม่มีความยุ่งยากมากนัก โดยก่อนผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายเพื่อดูว่ามีความผิดปกติของระบบอื่นๆ ด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ จะต้องมีการตรวจเช็คหัวใจ ปอด ความดันโลหิต เบาหวาน และไตว่าปกติอยู่หรือไม่ หากยังมีความผิดปกติต้องได้รับการรักษาเสียก่อน จนกว่าแพทย์จะเห็นว่าพร้อมต่อการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ในการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการวางยาสลบ หรืออาจใช้วิธีฉีดยาเข้าไขสันหลังเพื่อไม่ให้มีอาการเจ็บปวดขณะรับการผ่าตัด แพทย์จะผ่าตัดเปิดข้อเข่าโดยมักจะให้แผลอยู่ตรงแนวกลางตั้งแต่ส่วนล่างของต้นขาลงมาถึงส่วนบนของหน้าแข้ง เมื่อตรวจดูสุขภาพความผิดปกติภายในแล้วแพทย์จะเริ่มตัดเอาส่วนของกระดูกผิวข้อที่เสียไปออก ซึ่งอาจจะรวมกระดูกผิวข้อของสะบ้าหัวเข่าด้วยแล้วจึงจะใส่ชิ้นส่วนของ ข้อต่อเทียมซึ่งมีโครงสร้างหลักเป็นโลหะผสม ส่วนผิวข้อจะเป็นพวกพลาสติกที่ทนต่อแรงอัดสูงได้ ซึ่งเป็นวัสดุที่ทนทานและไม่เกิดปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อของร่างกาย โดยแพทย์จะจัดแนวของข้อเทียมให้อยู่ในแนวใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด แล้วยึดตรึงข้อเทียมด้วยสารซีเมนต์ที่ใช้ทางการแพทย์ เมื่อตรวจสอบการเคลื่อนไหวของข้อว่าดีแล้วจึงจะเย็บแผลปิด
ผู้ป่วยจะต้องอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 5 – 7 วัน โดยก่อนกลับจะได้รับการทำกายภาพบำบัด ให้ข้อเข่าเหยียดงอได้ และสามารถจะเดินโดยใช้ไม้ค้ำยันช่วยสักระยะหนึ่ง ซึ่งหลังจาก 6 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะได้รับการอนุญาตให้เดินได้ตามปกติ
มีคนสูงอายุหลายๆ คนในวัฒนธรรมต่างประเทศที่ต้องอยู่คนเดียวโดยไม่มีคนดูแล ไม่มีลูกหลานมาเอาใจใส่ เวลามีการเจ็บไข้ได้ป่วยที่มีผลต่อการเดิน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตง่ายๆ จึงเป็นเรื่องใหญ่ เเละสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาอย่างมาก ถ้าเป็นข้อเข่าเสื่อมมากๆและเริ่มมีอาการปวดเข่าทุกครั้งที่ลงน้ำหนักเดินก็มักจะไม่รีรอ หากเห็นว่าการรักษาโดยการผ่าตัด เปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะช่วยทำให้พวกเขากลับมาเดินได้คล่องเหมือนเดิม จะไม่รอจนกระทั่งเข่าทรุด หรือโก่งมากจนเกินไป ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนขอให้แพทย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ เพื่อที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้อีกครั้งหนึ่ง ข้อเทียมนั้นทำมาจากโลหะ เเละพาสติกอย่างดี มีมาตรฐานที่เอาไปใส่ในเนื้อเยื่อมนุษย์ได้ ไม่เกิดการต่อต้าน (Medical Grade) ราคาวัสดุเหล่านี่จึงมีราคา เเพงมากกว่าวัสดุที่เราใช้ทางอุตสาหกรรม (Engineer Grade) โดยที่เราคาดไม่ถึงการออกเเบบข้อเทียมนั้น จะทำให้เป็นรูปร่างคล้ายเหมือน หรือใกล้เคียงข้อเข่าของคนเรามากที่สุด ถ้าเรามาดูข้อเข่าของคนเราก็จะเห็นว่าประกอบไปด้วย ส่วนผิวของข้อที่เกิดจากกระดูกต้นขา (Femur) เเละปลายขา (Tibia) สัมผัสกันโดยมีผิวของลูกสะบ้า(Patella) เป็นตัวเชื่อม ผิวของข้อเหล่านี้ถ้ายังอยู่สภาพดีอยู่จะต้องเรียบ และลื่น เพื่อที่ว่าเวลาคนเรานั่งงอเข่า หรือเหยียดเข่าผิวสัมผัสที่เคลื่อนไหวจะไม่มีแรงเสียดทานมากจนทำให้เกิดความร้อน และการอักเสบทำลาย ผิวข้อเกิดขึ้น เช่นเดียวกับข้อเข่าเทียม มีการออกแบบมาให้ผิวโลหะเป็นมันวาวคล้ายกระจกสามารถ นำมาส่องหน้าหมอผ่าตัดได้เลย นอกจากนั้นแล้วเวลามีการเคลื่อนไหวของตัวข้อเทียมผิวโลหะ ที่เราใส่เข้าไปก็ไม่ได้สัมผัสกันเอง แต่จะมีพลาสติก (Polyethylene) เรียบลื่นกันมาให้อีกชั้นหนึ่ง
ภาพ แสดงข้อเข่าเทียม มองจากด้านหน้า (ซ้าย) และมองจากด้านหลัง (ขวา)
การพัฒนาในการออกเเบบข้อเข่าเทียมมีมาตลอด เเละดีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับรถยนต์ ที่มีการออกแบบหน้าตาใหม่ๆ ออกมาทุกปี มีสิ่งที่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกอยู่ภายในรถให้เลือกมากขึ้น เช่นเดียวกับข้อเทียมในยุคปัจจุบันที่มีให้เลือกหลายแบบ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น รุ่นที่ทำให้เข่างอได้มาก (Maximum Flexion) รุ่นที่การหมุนตัว (Rotation) เหมือนกับข้อเข่าธรรมชาติมากขึ้น รุ่นที่ทำออกมาสำหรับเข่าของเพศหญิง (Gender knee) เท่านั้น มีบริษัทชั้นนำทั่วโลกหลายบริษัทหันมาวิจัย และแข่งขันกันผลิตข้อเทียมใหม่กันอย่างมากมาย
สิ่งที่จำเป็นในการทำให้ผลของการเปลี่ยนขัอเข่าเทียมได้ผลดี จำเป็นต้องมีความรู้ในการดูแล ถนอมรักษาข้อเข่าเทียมที่ใส่เข้าไปด้วย จะต้องไม่ใช้งาน อย่างหักโหม งอเข่านั่งกับพื้นหรือแบกของหนักๆ จะต้องเข้าโปรแกรมในการบริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ห้วเข่าให้แข็งแรงขึ้นทุกคน เพื่อลดแรงกระแทกที่ข้อเทียม ต้องรักษาความสะอาดที่ผิวหนังบริเวณแผลผ่าตัดตลอดไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากยังถือว่าข้อเทียมนั้นเป็นสิ่งที่แปลกปลอมของร่างกายไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรมชาติ ตัวมันเองก็พร้อมที่จะถูกกระตุ้นให้ติดเชื้อได้ง่ายเวลาที่เรามีแผลติดเชื้อตามผิวหนัง ฟันผุ หรือมีการถอนฟันจึงต้องระมัดระวังว่าเชื้อโรคจะวิ่งมาตามกระแสเลือด และสะสมอยู่บริเวณ ข้อเข่าเทียม กระตุ้นทำให้เนื้อเยื่อที่หัวเข่าเกิดการติดเชื้อขึ้นมาได้ การทานยาป้องกันการติดเชื้อ ก่อนไปหาทันตแพทย์ หรือมีแผลที่ผิวหนังก็เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติทุกครั้ง
ถึงแม้ข้อเข่าเทียมจะสามารถทำงานได้ดี แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็เตือนว่าผู้ป่วยที่รับการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องระมัดระวังดูแลแม้จะใช้งานได้ตามปกติ แต่ก็ไม่ควรใช้งานหนักจนเกินไปเพราะอาจทำให้อายุการใช้งานสั้นลงได้ซึ่งโดยทั่วไปความทนทานของข้อเข่าเทียม ควรยาวนานเกิน10 ปี การยกของหนักเป็นเวลานาน การเดินทางไกล การแบกหาม หรืองอในท่าที่งอมากๆ โดยที่มีน้ำหนักกดไปที่ข้อเข่าเทียมเป็นอันตรายที่พึงระวัง และควรมาพบแพทย์ตามนัดเสมอ เพราะแพทย์อาจจะช่วยให้ทราบความผิดปกติที่เกิดแต่เนิ่น ๆ ได้
ภาพวาดแสดงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
สรุป ข้อเข่ามีความหมายต่อสุขภาพขอให้ท่านสนใจเสียแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพของข้อเข่าที่แข็งแรงทุกวันในปัจจุบัน และอนาคตท่านที่มี อาการปวดเข่าสามารถรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย ซึ่งเปิดให้บริการคลินิกนอกเวลาวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 17.00-19.00 น. วันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 09.00 – 11.00 น. และในเวลาราชการวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 16.00 น.
…………………………………………