โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด

                                                                                                                                                   

                                                                                                                                               นายแพทย์ วันธวัช  อัมพรายน์

เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (Anterior Cruciate Ligament หรือ ACL)

เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าเป็นเส้นเอ็นที่อยู่ภายในข้อเข่า ซึ่งตำแหน่งจะอยู่บริเวณกึ่งกลางเข่าและค่อนมาทางด้านหน้าของคนเรา ซึ่งเส้นเอ็นนี้เชื่อมต่อระหว่างข้อกระดูกของต้นขายึดกันกับข้อกระดูกของหน้าแข้ง โดยการวางตัวของเอ็นจะทำมุมในลักษณะแนวเฉียงไขว้เป็นรูปกากบาทกับเส้นเอ็นไขว้หลัง (Posterior Cruciate Ligament) จึงเป็นที่มาของชื่อเส้นเอ็นไขว้หน้า 

หน้าที่ของเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า

โดยทั่วไปแล้วเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า มีหน้าที่ช่วยป้องกันการเคลื่อนที่ไปด้านหน้าของข้อกระดูกหน้าแข้งและป้องกันการบิดหมุนที่มากเกินไปของข้อเข่า ซึ่งจะช่วยให้เข่าเรามีความมั่นคงในการใช้งานในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นการเดิน ยืน วิ่ง กระโดด หรือออกกำลังกาย  จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม หรือมีอุบัติเหตุจากเข่าพลิกซึ่งจะทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บต่อหมอนรองกระดูกและกระดูกอ่อนภายในข้อเข่าของคนเรา  

สาเหตุที่ทำให้เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด

ส่วนใหญ่สาเหตุที่พบมักเกิดในอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา ซึ่งพบบ่อยในกีฬาที่มีการเปลี่ยนทิศทางพลิกบิดตัวกลับกะทันหัน  เช่น กีฬาฟุตบอล หรือกีฬาที่มีการกระโดดบ่อยๆ ซึ่งเวลาเหยียบลงพื้นจะเกิดเข่าพลิกบิดได้ เช่น กีฬาบาสเกตบอล แบดมินตัน หรือพบในกีฬาอื่นๆ ที่มีการกระแทกปะทะกันโดยมีการกระแทกเข้าที่ด้านหลังของข้อเข่า  ทำให้เข่ามีการเคลื่อนที่ไปข้างหน้ามากขึ้น เช่น กีฬาอเมริกันฟุตบอล   ซึ่งอุบัติเหตุจากกีฬาเหล่านี้จะทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นเอ็นได้ สาเหตุจากอุบัติเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้แต่ไม่บ่อยเท่ากับการเล่นกีฬา เช่น อุบัติเหตุจากการจราจร ที่ใช้ยานพาหนะ มอเตอร์ไซค์ หรือรถยนต์ โดยคนไข้ในกลุ่มนี้จะพบภาวะอื่นๆมากขึ้นร่วมด้วย เช่น ภาวะเส้นเอ็นไขว้หลังฉีกขาด หรือเส้นเอ็นด้านข้างเข่าฉีกขาด และในบางครั้งอาจจะพบมีภาวะที่รุนแรงถึงขั้นข้อเข่าหลุดเคลื่อน หรืออาจพบกระดูกหักบริเวณรอบข้อเข่าร่วมด้วย  

อาการของเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด

อาการที่คนไข้ส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ มีด้วยกันอยู่สองรูปแบบคือระยะเฉียบพลัน กับระยะเรื้อรัง ระยะเฉียบพลัน  คือระยะที่เพิ่งได้รับอุบัติเหตุมาใหม่ๆ คนไข้จะให้ประวัติว่าระหว่างเล่นกีฬาอยู่อาจมีเข่าพลิกบิดหรือถูกกระแทกจากด้านหลังเข่าแล้วรู้สึกเหมือนมีอะไรดีดกรึกอยู่ข้างในเข่า ขณะที่บางรายจะรู้สึกว่ามีอะไรฉีกขาดภายในเข่า หลังจากได้รับอุบัติเหตุ จะพบว่าหัวเข่าข้างนั้นปวดบวมขึ้นในทันที หรือภายในไม่กี่ชั่วโมง จนไม่สามารถทำกิจกรรมต่อไปได้ เช่น ไม่สามารถออกกำลังกายหรือ ไม่สามารถลงน้ำหนักเข่าข้างที่ปวด

กรณีที่สองคือระยะเรื้อรัง คือระยะที่คนไข้ได้รับอุบัติเหตุที่เข่ามานานพอสมควร โดยประมาณ 6 สัปดาห์ขึ้นไป คนไข้จะให้ประวัติว่า อาการปวดอาจจะมีบ้างแต่ไม่เท่าหลังอุบัติเหตุวันแรกๆ หรือบางรายไม่มีอาการปวดเลย  แต่จะมีปัญหาเรื่องเวลาใช้งานเดิน วิ่ง จะมีเข่าหลวม  มีเข่าทรุดเวลาพลิกบิดตัวเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วจะไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะวิ่ง หรือเล่นกีฬาได้เหมือนก่อนหน้านี้  ในบางรายอาจจะมีปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วยคือ ภาวะหมอนรองกระดูกฉีกขาดในเข่า คนไข้ก็จะให้ประวัติว่ามีปัญหาเรื่องหัวเข่าล็อกติดเหมือนมีอะไรไปขัดอยู่ในข้อเข่าซึ่งไม่สามารถเหยียดหัวเข่าได้ จะต้องใช้เวลาในการขยับไปมาสักพักจึงจะเข้าที่และเหยียดเข่าออกได้ 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตนเองหลังได้รับอุบัติเหตุสงสัยเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด 

ในระยะเฉียบพลันหลังจากได้รับอุบัติเหตุใหม่ๆ คนไข้จะมีอาการปวดบวมของข้อเข่าเนื่องจากเส้นเอ็นที่ฉีกขาดจะทำให้มีเลือดออกภายในข้อเข่า สิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นอันดับแรก  คือแนะนำให้หยุดการใช้งานการออกกำลังหรือการมีกิจกรรมขณะนั้นทันที ไม่ควรฝืนใช้งานต่อ เพราะเวลาฝืนใช้งานจะทำให้มีเลือดออกมีการอักเสบรวมทั้งมีอาการบวมปวดของเข่าที่เพิ่มมากขึ้น หรืออาจได้รับอุบัติเหตุที่หมอนรองกระดูกและกระดูกอ่อน ที่อยู่ภายในเข่าที่มากขึ้นไปอีก ต่อจากนั้น แนะนำให้นอนพัก และเหยียดเข่าข้างที่ได้รับอุบัติเหตุออกมาเท่าที่ทำได้และยกขาสูงโดยอาจหาผ้านุ่มๆ มารองบริเวณใต้ขาชั่วคราว และให้ประคบเย็นโดยใช้น้ำแข็งใส่ถุงพลาสติก หรือใช้เจลเย็นสำหรับประคบเพื่อลดอาการบวมที่เข่า  หลังจากนั้นควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อการรักษาต่อไป 

การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด 

เมื่อมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการซักประวัติเรื่องของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย โดยในระยะแรกๆ ที่คนไข้มีอาการปวดบวมในข้อเข่าอยู่  การตรวจร่างกายโดยละเอียดทั้งหมดอาจจะทำได้ลำบาก แพทย์จะทำการส่งตรวจฟิล์มเอกซเรย์ข้อเข่าเพื่อดูว่ามีปัญหากระดูกหักอยู่ในข้อเข่า หรือมีปัญหาข้อเคลื่อนอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่  หลังจากนั้นแพทย์จะทำการใส่เฝือกอ่อนสำหรับประคับประคองเข่า เพื่อลดการใช้งานของเข่าและลดการอักเสบปวดบวมในระยะแรกก่อน จากนั้นแพทย์จะนัดหมายมาตรวจภายหลังเมื่อเข่ายุบบวมดีตามปกติ

เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายพบว่ามีเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดจริง แพทย์จะเลือกพิจารณานัดส่งตรวจเอ็มอาร์ไอ หรือที่เรียกว่าเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพิ่มเติมเป็นรายๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่การส่งตรวจเอ็มอาร์ไอ จะรอให้เข่ายุบบวมก่อนที่ประมาณ 4-6 สัปดาห์ เหตุผล คือเพื่อให้การวินิจฉัยที่ชัดเจนมากที่สุดและลดความคลาดเคลื่อนของผลเอกซเรย์จากภาวะที่มีเลือดออกและมีการบวมภายในข้อเข่าอยู่  ยกเว้นในคนไข้บางรายที่แพทย์ตรวจแล้วสงสัยมีภาวะเร่งด่วนบางอย่าง เช่น อาจมีภาวะหมอนรองกระดูกในข้อเข่าฉีกขาดมากไปทำให้ขัดขวางการเหยียดของข้อเข่ามีกระดูกแตกหักที่ผิดปกติภายในข้อ หรือบริเวณรอบๆ ข้อเข่า  มีภาวะเส้นเอ็นอื่นๆ โดยรอบข้อเข่าฉีกขาด หรืออาจมีข้อเคลื่อนหลุด กรณีดังกล่าวแพทย์จะพิจารณาส่งตรวจเอ็มอาร์ไอแบบเร่งด่วนเป็นรายๆ ไป

แนวทางการรักษา เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด

เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด. การรักษาหลักมีอยู่สองวิธี คือวิธีการไม่ผ่าตัด และวิธีการผ่าตัด 

วิธีการไม่ผ่าตัด

วิธีการไม่ผ่าตัด ทำได้ 3 กรณี คือ

1. มีเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเพียงบางส่วน หมายถึงเส้นเอ็นฉีกขาดไม่หมดและยังมีเนื้อเส้นเอ็นที่ดีเหลืออยู่  โดยกรณีนี้แพทย์จะประเมินด้วยการซักถามประวัติคนไข้ซึ่งมักไม่พบปัญหาอาการเข่าหลวมเข่าทรุดเวลาที่ใช้งาน รวมถึงการตรวจร่างกายเพิ่มเติม และอาจจะร่วมกับการตรวจเอกซเรย์เอ็มอาร์ไอเพื่อช่วยในการวินิจฉัยแต่ถ้าหากคนไข้มีอาการผิดปกตินอกเหนือจากนี้ ก็แสดงว่าเอ็นไขว้หน้าที่ฉีกขาดบางส่วนนั้นกลับใช้งานไม่ได้แล้วโดยอาจจะเหลือเนื้อเส้นเอ็นที่ดีอยู่น้อยเกินไป ซึ่งแพทย์มักแนะนำให้ทำการผ่าตัดซึ่งได้ผลการรักษาที่ดีกว่า

2. คนไข้สูงอายุ มีความเสี่ยงการผ่าตัด โดยมักมีโรคประจำตัวต่างๆ และมีเรื่องเข่าเสื่อมเป็นทุนเดิมอยู่ และธรรมชาติคนไข้ในกลุ่มนี้ ก็จะมีการจำกัดการใช้งานของหัวเข่าในชีวิตประจำวัน รวมถึงการออกกำลังกายและการใช้งานไม่ได้หักโหมแบบกลุ่มวัยรุ่นวัยทำงาน การผ่าตัดมักจะไม่ได้ประโยชน์

3. คนไข้เองไม่อยากผ่าตัดเนื่องจากอาจกลัวความเสี่ยงจากการผ่าตัดหรือความเสี่ยงการดมยาสลบ ซึ่งคนไข้กลุ่มที่ไม่ผ่าตัดข้างต้นนี้ จะได้รับคำแนะนำให้หยุดและเลี่ยงกิจกรรมการออกกำลังกายที่ต้องมีการกระแทกหรือการพลิกบิดหัวเข่ามากๆ ทุกรูปแบบเพื่อป้องกันการมีอุบัติเหตุซ้ำที่เข่าข้างนั้นๆ โดยแพทย์จะแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสม แบบที่ไม่มีการกระแทกหัวเข่า เช่น การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน และการเล่นฟิตเนสเบาๆ แทนแต่ข้อเสีย คือจะไม่สามารถเล่นกีฬาหนักๆ แบบเดิมได้ 

วิธีการผ่าตัด

วิธีการผ่าตัด จะทำในกรณีที่แพทย์ตรวจพบว่ามีเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดทั้งหมด หรือมีเส้นเอ็นฉีกขาดบางส่วนแต่มีอาการใช้งานไม่ได้ และ เป็นคนไข้ในกลุ่มอายุน้อยเป็นนักกีฬา อยู่ในวัยทำงานที่ยังมีกิจกรรมการใช้งานการออกกำลังกายที่ค่อนข้างมากอยู่  ในคนไข้ดังกล่าวแพทย์ประเมินแล้วว่าการผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเอ็นไขว้หน้าใหม่จะได้ประโยชน์สูงที่สุด  โดยประโยชน์แรก คือเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุเข่าพลิกซ้ำๆจากการใช้งาน ซึ่งอนาคตจะทำให้มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมไวก่อนกำหนด ส่วนประโยชน์ที่สองคือเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงปราศจากโรค เมื่อหัวเข่ากลับมาใช้งานได้ดีขึ้นแล้ว คนไข้ก็จะสามารถออกกำลังกายได้ถึงแม้ว่าอาจจะไม่เท่ากับก่อนเกิดอุบัติเหตุแต่การใช้งานเข่าในกิจวัตรประจำวันก็มักจะดีขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการไม่ผ่าตัดเป็นส่วนใหญ่ 

สำหรับในเรื่องเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเอ็นไขว้หน้าใหม่ที่ทำ จะแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือการผ่าตัดแบบเปิดแผลผ่าตัด กับการผ่าตัดแบบ “ส่องกล้องเปลี่ยนเอ็นไขว้หน้าในข้อเข่า” ปัจจุบันนี้ได้รับความนิยมมากกว่า และเป็นมาตรฐานที่ทำกันอยู่เนื่องจากแผลผ่าตัดคนไข้จะมีขนาดเล็กกว่าแบบแรก การฟื้นตัวค่อนข้างเร็วกว่า สามารถทำกายภาพบำบัดได้เร็วขึ้น ส่วนในเรื่องอุปกรณ์การส่องกล้องผ่าตัดในปัจจุบันก็มีความทันสมัยมากขึ้น ตัวกล้องปัจจุบันคุณภาพจะเป็น HD (High Definition) เหมือนเราดูทีวีจอแบนในปัจจุบัน ทำให้เห็นรายละเอียด การผ่าตัดที่ดีขึ้นกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก  

ในส่วนของการนำเส้นเอ็นใหม่ที่นำใช้ในการเปลี่ยนเอ็นไขว้หน้าจะใช้เส้นเอ็นจากตัวคนไข้เองโดยตรง ที่นิยมใช้กันบ่อยมีอยู่สองชนิด ชนิดแรกคือเส้นเอ็นบริเวณด้านในเข่าจะเป็นที่นิยมกว่า  ส่วนชนิดที่สอคือเส้นเอ็นลูกสะบ้าบริเวณด้านหน้าเข่า ซึ่งแพทย์จะพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียในการเลือกใช้ กับคนไข้ในแต่ละราย  

วิธีการผ่าตัดแพทย์จะทำการส่องกล้องสำรวจภายในข้อเข่ารวมทั้งสำรวจหมอนรองกระดูกและกระดูกอ่อนภายในข้อโดยรอบทั้งหมดและทำการซ่อมแซมไปด้วย จากนั้นจะลงแผลเพื่อนำเส้นเอ็นอันใหม่ออกมาเตรียมไว้  ตัดเส้นเอ็นไขว้หน้าเก่าที่ยังเหลือเศษอยู่ออก และเจาะช่องกระดูกและร้อยเส้นเอ็นอันใหม่ผ่านเข้าไปช่องกระดูกที่เตรียมไว้พร้อมกับยึดเส้นเอ็นตัวใหม่ให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้เอ็นนั้นแนบติดไปกับช่องกระดูก หลังเสร็จเรียบร้อยแล้วแพทย์จะทำการทดสอบความแน่นตึงของเส้นเอ็นตัวใหม่ภายหลังผ่าตัดทันที

การดูแลหลังผ่าตัด และการทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด 

เมื่อออกจากห้องผ่าตัดคนไข้จะมีอุปกรณ์ช่วยพยุงเข่าแบบล็อกปรับองศาการงอเหยียดเข่า ส่วนคนไข้บางรายอาจจะมีหรือไม่มีสายระบายเลือดที่เข่าออกมาด้วยแพทย์จะยังให้นอนโรงพยาบาลต่อเพื่อสังเกตอาการบวมของแผลผ่าตัดและสังเกตอาการปวดซึ่งจะมียาแก้ปวดทั้งแบบรับประทานและแบบฉีดเข้าเส้นเลือดตามความรุนแรงของอาการปวด  รวมถึงจะมียาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อฉีดเข้าเส้นเลือด เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังผ่าตัดระหว่างที่นอนโรงพยาบาลแพทย์จะส่งกายภาพบำบัดฝึกเดินใช้ไม้ค้ำยัน โดยช่วงแรกจะยังไม่ให้ลงน้ำหนักเข่าที่เข่าผ่าตัดมามากเกินไปหลังผ่าตัดประมาณ 3 วัน แพทย์จะประเมินอาการคนไข้และดูแผลว่าถ้าไม่มีภาวะติดเชื้อ และอาการปวดบวมดีขึ้น แพทย์ก็จะให้กลับบ้าน แล้วนัดมาดูแผลรวมถึงการตัดไหมที่ประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นแพทย์จะนัดคนไข้มาดูอาการเป็นระยะพร้อมกับปรับองศาการงอเข่าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถงอเข่าได้ดีแล้ว ก็จะถอดเครื่องช่วยพยุงเข่ารวมทั้งเดินได้เต็มที่โดยไม่ใช้ไม้เท้า ทั้งหมดจะมีระยะเวลาอยู่ที่ประมาณ 6-8 สัปดาห์ หลังจากนั้นถ้าหากไม่พบปัญหาใดๆ แพทย์จะนัดมาดูอาการอยู่เป็นระยะๆ จนกระทั่งครบประมาณหนึ่งปี 

หลังผ่าตัดแล้วจะสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้หรือเปล่า ? 

โดยทั่วไปเป้าหมายหลักของการผ่าตัดส่องกล้องเปลี่ยนเส้นเอ็นไขว้หน้านี้ จะหวังผลต้องการให้คนไข้กลับไปออกกำลังกายได้โดยไม่มีอาการปวดและเข่ามั่นคง เพื่อหวังผลในเรื่องของสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงปราศจากโรคอย่างไรก็ตามก็มีปัจจัยหลายอย่างที่จำเป็นต้องพิจารณาว่าคนไข้สามารถ กลับไปเล่นกีฬาได้ถึงระดับไหน  จำเป็นต้องประเมินเป็นรายๆ ไป  ซึ่งจะประเมินอยู่ 3 ประการ คือ

ประการแรก ได้แก่ ภาวะความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดภายในเข่า เช่น อาจมีภาวะหมอนรองกระดูก หรือกระดูกอ่อนภายในเข่าที่ฉีกขาดรุนแรง หรือมีภาวะข้อเข่าเริ่มเสื่อม

ประการที่สอง ได้แก่ การผ่าตัดของแพทย์ ทั้งในเรื่องการใช้เส้นเอ็นเสริมและการยึดเส้นเอ็นให้เกิดความมั่นคงมากที่สุด

ประการสุดท้าย ได้แก่ ความร่วมมือในการทำกายภาพบำบัดของคนไข้รวมถึงไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ เช่น ภาวะเข่ายึดติดหลังผ่าตัด 

ภาวะข้อเข่าติดเชื้อหลังผ่าตัด หรือมีอุบัติเหตุเส้นเอ็นไขว้หน้าใหม่หลังผ่าตัดฉีกขาดซ้ำ

กรณีหลังผ่าตัดมีความเรียบร้อย คือ ความรุนแรงของอุบัติเหตุในเข่าไม่รุนแรง เส้นเอ็นหลังผ่าตัดติดแน่นดีและกายภาพบำบัดฝึกกล้ามเนื้อได้ผลดี สามารถงอเหยียดเข่าได้สุด ก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยจะสามารถกลับไปเล่นกีฬาแบบเดิมได้ตามที่ต้องการได้ แต่กรณีที่พบว่าความรุนแรงของอุบัติเหตุ ภายในข้อเข่าค่อนข้างมาก  หลังผ่าตัดเส้นเอ็นใหม่อาจจะไม่แน่นเท่าที่ควรหรือการทำกายภาพบำบัดหลังทำผ่าตัด ฝึกกล้ามเนื้อได้ผลไม่ดีมากนัก แพทย์จะแนะนำชนิดของกีฬาที่น่าจะเหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป และให้หลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการกระแทก หรือมีการพลิกบิดของเข่าที่มีความรุนแรง

สรุปแล้วผมอยากจะขอให้ทุกท่านได้รับทราบว่า ในกรณีที่มีปัญหาปวดบวมผิดปกติหลังได้รับอุบัติเหตุ ไม่ว่าจากการเล่นกีฬา หรือจากสาเหตุอื่นๆ หากท่านไม่มั่นใจ หรือไม่สบายใจ ผมแนะนำว่าควรได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกายกับแพทย์เพิ่มเติม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ผลที่ตามมาคืออาจพบปัญหาเรื่องข้อเข่าเสื่อมก่อนกำหนด  ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถรักษาได้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาต่างๆ ของแพทย์ตอนนี้เป็นการรักษาแบบปลายเหตุ คือ เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากคนไข้มีอุบัติเหตุไปแล้ว มีโอกาสที่คนไข้จะไม่สามารถกลับไปเป็นปกติได้ดังเดิม ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล   โดยหวังผลเรื่องสุขภาพแข็งแรง และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหมจนเกินไป โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ  ที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ อันจะส่งผลให้เกิดโรคขึ้น ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อตัวคนไข้เองนะครับ

                                                              …………………………………………………..