โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

เมื่อหูดับ…ควรทำอย่างไร?

อาการ “หูดับ” เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงต้องเคยประสบกับอาการหูดับมาก่อนบ้างแล้ว บางครั้งหายเอง บางครั้งต้องรับประทานยาถึงจะหาย  แล้วทีนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่จะต้องพบแพทย์ อาการหูดับบางท่านอาจรวมถึงการที่มีหูอื้อเวลาขึ้นที่สูง เช่น ขึ้นลิฟท์ ขึ้นดอยสูงๆ หูอาจดับอื้อ รู้สึกเวลาพูดจะมีเสียงก้องในหู   ได้ยินเสียงรอบตัวลดลงไม่ชัด ถ้าเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออ้าปากแล้วกลืนน้ำลายจะรู้สึกดีขึ้น หูดับแบบนี้เกิดจากการปรับความดันของท่อปรับความดันระหว่างหูชั้นกลางกับความดันภายในช่องจมูกทำงานผิดปกติชั่วคราว  แต่ถ้าเป็นหวัด หรือภูมิแพ้ท่อปรับความดันนี้อาจจะบวมทำให้หูอื้อไม่หาย ดังนั้นจะต้องรับประทานยาลดน้ำมูกอาการถึงจะดีขึ้น

 

จริงๆ แล้วนะคะ  อาการหูดับในทางการแพทย์หมายถึงการที่ประสาทหูเกิดการเสื่อมทันทีทันใด   โดยไม่รวมถึงอาการจากท่อปรับความดันหูผิดปกติ อาจแยกคร่าวๆ ได้ว่าถ้าประสาทหูเสื่อมจะไม่ได้ยิน    เสียงก้องของตัวเองในหูเวลาพูดและไม่ว่าจะเคี้ยวหมากฝรั่ง กลืนน้ำลาย  หรือจะทำอย่างไรก็ไม่หาย  อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นหูดับที่เกิดจากประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน  แล้วสาเหตุเกิดจากอะไร?  จากการติดตามผู้ป่วยประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันพบว่าไม่ทราบสาเหตุถึง 85-90% ส่วนที่ทราบสาเหตุ 10-15% เท่านั้น

 

หูดับที่ทราบสาเหตุ

                ผู้ป่วยที่หูดับแล้วทราบสาเหตุแน่ชัดนั้นมักจะมีสาเหตุมาจาก

1.  การบาดเจ็บ

1.1 การบาดเจ็บที่ศีรษะ กระดูกบริเวณกกหูหัก (fracture of temporal bone)ทำให้มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทหูหรือเซลล์ประสาทหู

1.2  การผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดหูชั้นกลา หรือหูชั้นใน เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกโกลน (stapedectomy)การผ่าตัดเนื้องอกของหูหรือของประสาทการทรงตัว (acoustic neuroma)

1.3 การเปลี่ยนแปลงของความกดดันของหูชั้นใน เช่น การเปลี่ยนแปลงของความกดดันของบรรยากาศ (barotraumas)เช่น ดำน้ำโดยไม่ได้รับการฝึกที่ถูกต้อง  เครื่องบินที่ปรับความดันภายในเครื่องไม่ดี และการได้ยินเสียงที่ดังมากในระยะเวลาสั้นๆ (acoustic trauma)  เช่น  เสียงปะทัด  เสียงระเบิด  เสียงปืน  เป็นต้น

2. เนื้องอก เช่น เนื้องอกของประสาททรงตัวที่มีการเพิ่มขนาดอย่างเฉียบพลัน เช่น มีเลือดออกในก้อนเนื้องอกจนอาจจะไปกดทับประสาทหูได้

3. การติดเชื้อของหูชั้นใน เช่น หูชั้นในอักเสบ (labyrinthitis)  การติดเชื้อซิฟิลิส

4. สารพิษและพิษจากยา ยาบางชนิดอาจทำให้หูตึงชั่วคราวได้ เช่น ยาแก้ปวดแอสไพลิน    ยาขับปัสสาวะ หลังหยุดยาดังกล่าว อาการหูอื้อหรือหูตึงมักจะดีขึ้น และอาจกลับมาเป็นปกติ        ยาบางชนิดอาจทำให้ประสาทหูเสื่อมอย่างถาวรได เช่น สเตรปโตมัยซิน กานามัยซิน ประสาทหู   ที่เสื่อมจากยานี้อาจเกิดทันทีหลังจากใช้ยา หรือเกิดหลังจากหยุดใช้ยาไประยะหนึ่งแล้วก็ได้

5. โรคมีเนียร์หรือน้ำในหูไม่เท่ากัน โรคนี้น้ำในหูที่มีปริมาณมาก อาจจะกดเบียดทำลายเซลล์ประสาทหู ทำให้ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันได้ มักมีอาการเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะบ้านหมุนร่วมด้วย

หูดับที่ไม่ทราบสาเหตุ

หูดับที่ไม่ทราบสาเหตุนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจาก

1. การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม งูสวัด โดยเชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระแสเลือด  ทำให้เกิดเส้นประสาทหูอักเสบได้

2. การอุดตันของหลอดเลือดในหูชั้นใน ซึ่งเส้นเลือดมีขนาดเล็ก เช่น ภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง   ภาวะเส้นเลือดหดตัวเฉียบพลันจากความเครียด

3. การรั่วของน้ำในหูชั้นใน จากการสั่งน้ำมูกแรงๆ การเบ่งแรงๆ จากอาการท้องผูกโดยต้องมีภาวะเวียนศีรษะบ้านหมุนร่วมกับหูดับทันทีหลังจากเบ่ง  หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ

วิธีรักษา

                ถ้าทราบสาเหตุให้รักษาตามสาเหตุ ส่วนถ้าไม่ทราบสาเหตุมักจะหายได้เอง  แต่ถ้าไม่หายเองภายใน  2 สัปดาห์  ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละรายต่อไปนะคะ

การป้องกัน

                การป้องกันหูดับนั้นเป็นวิธีการที่ง่าย และดีที่สุดที่ทุกคนควรจะปฏิบัติ ดังนี้

1. ไม่ควรเปิดเพลงฟังด้วยการใช้หูฟังดังเกินไป

2. หลีกเลี่ยงสถานที่  หรือสภาวะแวดล้อมที่มีเสียงดังเกินไป  เช่น ผับ บาร์

3. ถ้าหากว่าท่านไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานที่  ที่มีเสียงดัง อึกทึกครึกโครมได้ ทางที่ดีคือควรจะหาเครื่องป้องกันเสียงดังมาใส่หูทุกครั้งที่เข้าไปในสถานที่ดังกล่าว

สรุปแล้ว เมื่อมีอาการหูดับก็คงทราบกันแล้วนะคะว่าจะปฏิบัติตนอย่างไร ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกัน

ไม่ให้หูดับน่าจะดีกว่าเมื่อเป็นแล้วค่อยมาพบแพทย์ นั่นเป็นวิธีการแก้ที่ปลายเหตุที่ไม่ถูกต้องนะคะ…แล้วค่อยพบกันใหม่ในคราวหน้า….สวัสดีค่ะ

………………………………