อาการเจ็บป่วยที่พบมากในเด็ก
1. อาการไข้
2. อาการท้องเสีย
3. อาการจากอุบัติเหตุหกล้ม แผลฟกช้ำ และแผลถลอก
4. อาการเลือดกำเดาออก
การดูแลรักษาเบื้องต้น
อาการไข้
ไข้ตัวร้อนดูได้จาก…
ความรู้สึกสัมผัสจากผู้ที่อุ้มเด็กอยู่ประจำไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือพี่เลี้ยง ถ้ารู้สึกว่า เด็กตัวร้อนมากขึ้นกว่าปกติต้องรีบดูแลรักษาพยาบาล
หากปล่อยไว้เนิ่นนานไข้สูงมาก จะทำให้เด็กมีอาการชักซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสมอง และการพัฒนาการของเด็กได้
วัดไข้ด้วยเทอร์โมมิเตอร์ ส่วนใหญ่วัดทางรักแร้จะปลอดภัยกว่าการวัดทางปากซึ่งเด็กอาจ เคี้ยวเทอร์โมมิเตอร์จนแตกในปาก บาดเจ็บ หรือ
วัดทางก้นซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกรำคาญ วิธีวัดทางรักแร้โดยเอาเทอร์โมมิเตอร์วางไว้ในซอกรักแร้ จับแขนเด็กหนีบไว้ให้แน่น
ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที แล้วดูอุณหภูมิ ถ้าขึ้นเกิน 37.5 องศาเซลเซียสก็ถือวาเด็กมีไข้
การดูแลรักษาอาการไข้ ควรใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาให้ชุ่ม ถอดเสื้อผ้าเด็กออกให้หมด พยายามเช็ดให้ทั่วตัว โดยเฉพาะซอกคอ ซอกแขน ซอกขา ข้างหน้า ข้างหลัง หัว เช็ดนานๆ เปลี่ยนน้ำที่เช็ดบ่อยๆ เช็ดจนตัวเด็กเย็น อาจใช้เวลาครึ่งชั่วโมง ถ้าเด็กร้องมากขณะเช็ดตัวก็ต้องเช็ดต่อ มิฉะนั้นอาการไข้จะทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กซึ่งจะทำให้เด็กชักได้ และให้เด็กรับประทานยาลดไข้พวก PARACETAMAL โดยดูตามอายุ และน้ำหนักตัว ถ้าอายุประมาณ 1 ขวบ น้ำหนัก 10 กิโลกรัม ควรให้ยา ประมาณ 1 ช้อนชา หรือ 5 มิลลิลิตร เด็กเล็กกว่านี้ก็ลดขนาดยาลง ถ้าโตกว่านี้ก็เพิ่มขนาดยาขึ้น การเช็ดตัวร่วมกับการให้ยาลดไข้ แก่เด็กรับประทานนั้นจะช่วยให้อาการไข้ของเด็กลดลงได้ดี ถ้าหากเด็กมีไข้สูง และมีอาการชักเกิดขึ้นโดยดูได้จากเด็กจะตาลอยๆ กระตุกตามแขน ขา ลำตัว ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดต้องตั้งสติให้มั่นคงอย่าตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ให้รีบเช็ดตัวเด็กให้เร็วและแรงกว่าเดิม แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
เมื่อถึงโรงพยาบาลแพทย์จะให้ยารักษาอาการชัก เด็กก็จะหายชัก ในระหว่างนำเด็กส่งโรงพยาบาลจะต้องเช็ดตัวตลอดเวลา
การเช็ดตัวเด็ก บางคนใช้น้ำเย็นเช็ดเพราะคิดว่าความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างน้ำเย็นกับอุณหภูมิของตัวเด็กมีมากกว่า ความร้อนน่าจะระบายได้ดีกว่าเช็ดด้วยน้ำธรรมดา แต่ความจริงแล้ว ความเย็นของน้ำกลับทำให้เส้นเลือดของเด็กหดตัว การระบายความร้อนกลับช้าลง หรือบางคนใช้น้ำอุ่นเช็ด เพราะคิดว่าความร้อนของน้ำจะทำให้เส้นเลือดของเด็กขยายตัว ความร้อนน่าจะออกจากตัวเด็กได้ดีขึ้น แต่ความแตกต่างของอุณหภูมิของน้ำกับอุณหภูมิของเด็กมีน้อย การระบายความร้อนก็จะน้อยลงเช่นกัน การเช็ดด้วยน้ำอุ่นควรทำในหน้าหนาว หรือช่วงกลางคืนที่อากาศเย็น ทำให้เด็กไม่หนาวสั่น หรือการเช็ดด้วยน้ำผสมแอลกอฮอล์ เพื่อหวังให้แอลกอฮอล์ไปขยายเส้นเลือด ความร้อนจะได้ระบายออกดีขึ้น แต่ผลข้างเคียงของแอลกอฮอล์มีมากสำหรับเด็ก และเด็กบางคนแพ้แอลกอฮอล์ เนื่องจากต้องเช็ดทั่วตัว และเช็ดนานการดูดซึมของแอลกอฮอล์ทางผิวหนังเด็กเกิดขึ้นได้มาก ดังนั้นการเช็ดตัวเด็กขณะมีไข้จึงควรใช้น้ำธรรมดาจะดีที่สุดในการระบายความร้อนออกจากตัวเด็ก และไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่หนา ควรใส่เสื้อผ้าเนื้อเบาบางเพื่อระบายความร้อนให้ออกจาก
ร่างกายของเด็กไข้ก็จะลดลง
อาการท้องเสีย
สาเหตุของท้องเสียเป็นได้ทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ส่วนใหญ่ในเด็กมักจะ เป็นจากเชื้อไวรัส ตามหลังจากเป็นไข้หวัด พ่อแม่ต้องสังเกตลักษณะอุจจาระของเด็ก ถ้าเป็นน้ำมักไม่ค่อยอันตรายมากนัก แต่ถ้าอุจจาระเป็นมูกเลือดมักจะเป็นจากเชื้อแบคทีเรียต้องรีบรักษาให้ยาปฏิชีวนะ หรือการถ่ายเป็นเลือดสดๆ อาจเป็นจากลำไส้บิดตัวมาก ลำไส้กลืนกันจนทำให้เลือดออกในลำไส้ ความรุนแรงจะต่างกัน ถ้าสังเกตว่าอุจจาระผิดปกติให้เอาอุจจาระใส่ถุงพลาสติกแล้วไปพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือท้องเสียแล้วมีอาเจียนด้วย จะทำให้เด็กอ่อนเพลียมาก รับประทานยา และน้ำเกลือแร่อาเจียนก็จะออกหมด ซึ่งเด็กอาจอาการแย่ลงทางที่ดีควรรีบไปพบแพทย์
การป้องกันอาการท้องเสียในเด็ก ควรดูแลตั้งแต่การชงนม เมื่อเอาขวดนมมาใส่น้ำใส่นมที่จะชงเรียบร้อยแล้ว ให้เอาฝาจุกที่มีจุกนมปิด แล้วเอาฝาครอบปิดทับอีกครั้ง กดให้แน่นแล้วค่อยเขย่าขวดนม นมจะไม่หก ไม่ให้เอานิ้วมือของผู้ชงนมซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้ล้างมือให้สะอาดไปอุดที่จุกนม จุกนมเป็นส่วนที่จะเข้าปากเด็กถ้าไม่สะอาดจริงจะเป็นสาเหตุให้เด็กท้องเสียได้ เพราะเชื้อโรคจะเข้าทางด้านนี้ การชงนมให้เด็กถ้าชงแล้วเก็บไว้ในความเย็น เช่น ตู้เย็น หรือกระติกน้ำแข็ง จะเก็บไว้ได้ 12-24 ชั่วโมง ถ้าเป็นอุณหภูมิห้องธรรมดาจะเก็บได้ประมาณ 4 ชั่วโมง ถ้าหากไม่ได้อยู่ในสถานที่ ที่จะสามารถเก็บนมในที่เย็นได้ ควรชงนมให้เพียงพอต่อเด็กรับประทานในแต่ละครั้งจะดีที่สุด และในปัจจุบันมีกลักนมที่ทำเป็นช่องๆ เปลี่ยนช่องไปได้เรื่อยๆ สำหรับใส่นมผงที่ยังไม่ได้ชง ตวงนมตามปริมาณที่จะใช้แต่ละครั้งแล้วใส่กลัก ถึงเวลาจะชงนมก็เทนมในช่องกลักใส่ในขวดนมที่มีน้ำเตรียมไว้แล้ว ใช้ดื่มได้สะดวก สามารถนำไปได้ทุกที่หากต้องการเดินทาง ซึ่งจะทำให้การชงนมสะอาด และหลีกเลี่ยงอาการท้องเสียได้
น้ำเกลือแร่สามารถทำเองได้โดยใช้น้ำสะอาด 1 ขวด น้ำเปล่า(750 มิลลิเมตร) ผสมกับ น้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือ ½ ช้อนชา ใส่รวมกันต้มให้เข้ากัน ทิ้งไว้ให้เย็น มีประโยชน์ใช้ทดแทนเกลือแร่ที่เสียไปทางอุจจาระ และอาเจียน จะทำให้ร่างกายไม่อ่อนเพลีย เหมาะสำหรับทำใช้เองในเวลากลางคืนที่มีอาการท้องเสีย และไม่สามารถหาซื้อผงเกลือแร่ได้ พอรุ่งเช้าจะต้องนำเด็กไปพบแพทย์เพื่อให้ การรักษาพยาบาลต่อไป
อาการจากอุบัติเหตุหกล้ม แผลฟกช้ำ และแผลถลอก
พบได้ตั้งแต่เริ่มคลานจนถึงเดินได้วิ่งได้ มีการหกล้มเกิดแผลฟกช้ำ หรือแผลถลอกขึ้น เริ่มตั้งแต่การป้องกันโดยเด็กเล็กที่พลิกคว่ำเองได้ หรือคลานได้แล้ว ที่นอนของเด็กควรปูราบกับพื้น ไม่ควรนอนบนเตียงเหมือนพ่อแม่จะทำให้ตกเตียงได้ง่าย เด็กที่เดินได้วิ่งได้จะต้องระวังตกบันไดบ้าน ต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดเวลาเด็กอยู่ใกล้ หรือกำลังใช้บันไดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการตกบันได และควรใส่กางเกงขายาวกันการหกล้มเพื่อไม่ให้เด็กเกิดแผลได้ง่าย
หากเป็นแผลฟกช้ำ ใน 24 ชั่วโมงแรกให้ประคบด้วยน้ำเย็น โดยใช้ผ้าอ้อม หรือผ้าขนหนูนิ่มๆ ชุบน้ำที่เย็นจัดแล้วประคบบริเวณที่บวมประมาณ 2-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10-20 นาที เพื่อให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังหดตัว เลือดจะได้ไม่ออกใต้ผิวหนังมากขึ้น และหลัง 24 ชั่วโมงให้ใช้น้ำอุ่นประคบต่ออีก 2-3 วัน เพื่อให้เลือดที่คั่งอยู่กระจายตัวจะได้หายจากอาการฟกช้ำได้เร็ว
หากเป็นแผนถลอกให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และฟอกสบู่ เพื่อล้างเศษดินเศษหินที่ติดแผลออก แผลจะได้ไม่ติดเชื้อโรค
เมื่อล้างเสร็จแล้วซับให้แห้ง ปล่อยไว้แผลจะค่อยๆ หายเองเพราะเนื้อเยื่อต่างๆ ของเด็ก ถูกสร้างขึ้นมาทดแทนได้เร็ว หรือจะทา
แผลด้วย PEVIDINE เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่ควรใช้ยาแดงทาแผลสกปรก เพราะจะทำให้แผลภายนอกแห้งแต่ภายในแฉะ และสกปรก
ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย
อาการเลือดกำเดาออก
มักจะเป็นได้บ่อยในวัยเด็กเพราะเส้นเลือดของเด็กเปราะ และแตกง่าย เพียงใช้นิ้วแคะจมูกหรือจมูกถูกับหมอนในเวลานอน
กลางคืนก็ทำให้เลือดกำเดาออกได้แล้ว วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือสอนให้เด็กบีบจมูกตัวเองแล้วหายใจทางปาก 5-10 นาทีหรือใช้สำลี
กระดาษทิชชูปั้นเป็นก้อนๆ พอเหมาะอุดใน รูจมูกทั้งสองข้างเพื่อกดให้เส้นเลือดหยุดไหลแล้วหายใจทางปาก 5-10 นาที การเอาน้ำเย็น
วางที่หน้าผาก หรือที่จมูกไม่ช่วยให้เลือดกำเดาที่ออกหยุดได้ ซึ่งพอเด็กโตขึ้นเส้นเลือดของเด็กก็จะแข็งแรงขึ้น อาการเลือดกำเดาออก
ก็จะเกิดขึ้นน้อยลง และหายไปเองในที่สุด
———————————————–