ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับหมอนรองกระดูกกันก่อนนะครับ ….. หมอนรองกระดูกมีลักษณะรูปร่างวงกลมแบน มีขอบเป็นพังผืดเหนียว
ภายในมีของเหลวคล้ายเจลบรรจุอยู่ หมอนรองกระดูกนี้คั่นกลางระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทก ซึ่งเปรียบได้กับเป็น “โช้คอัพของรถยนต์” ให้กระดูกสันหลังของเรานั่นแหละครับ เมื่อหมอนรองกระดูกเกิดภาวะเสื่อม หรือได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง ของเหลวในหมอนรองกระดูกจะมีโอกาสทะลักออกมา หรืออาจกดทับเส้นประสาทที่อยู่ข้างเคียง ทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงได้
สาเหตุของการเกิดโรค
โรคหมอนรองกระดูกนี้ในเพศชายจะพบได้ว่าในช่วงวัย 30 – 50 ปี มักเป็นกลุ่มที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะเป็นโรคนี้ และมีสาเหตุมาจาก ดังนี้
1. การยกของที่ไม่ถูกต้อง
2. การบิดหลังที่ผิดท่า หรือผิดจังหวะ
3. การเคลื่อนไหวที่มากเกินไป หรือถูกกระแทกซ้ำๆ
4. การสูบบุหรี่ ซึ่งทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกลดลงจึงทำให้เกิดความเสื่อมได้เร็วขึ้น
อาการของโรค
ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดที่มีหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท จะมีอาการปวดหลังช่วงเอว โดยอาการปวดจะเป็นมากในช่วง 2 – 3 วันแรก จากนั้นจะค่อยๆ ทุเลาขึ้น และอาจจะมีอาการปวดชาร้าวลงขาซึ่งมักจะเป็นที่ระดับใต้เข่าแล้วลงไปที่เท้า หรือข้อเท้า มักจะมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย สรุปโดยรวมแล้วอาการที่อาจจะเป็นโรคนี้ คือ
1. อาการปวดหลัง
2. อาการปวดร้าวลงขา
3. อาการชา รู้สึกตื้อๆ โดยเฉพาะที่ขา หรือเท้า
4. อาการอ่อนแรงของขา หรือเท้า
5. กรณีที่รุนแรงอาจไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ หรืออุจจาระได้ ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องมาพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
การป้องกัน
การป้องกันโรคหมอนรองกระดูกช่วงเอวมีด้วยกันหลายวิธี ดังนี้
1. การใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังในชีวิตประจำวันอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ถ้าจะยกของหนักควรใช้แรงจากขาช่วย ไม่ควรก้มหลังแล้วใช้กล้ามเนื้อหลังเป็นหลัก ซึ่งถ้าทำเช่นนี้จะทำให้มีโอกาสเกิดหมอนรองกระดูกปลิ้นได้ และที่สำคัญคือน้ำหนักของที่จะยกจะต้องไม่มากเกินกำลังของร่างกาย
2. หลีกเลี่ยงการนั่ง ยืน เดิน เป็นระยะเวลานานๆ หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ในแต่ละวัน ซึ่งจะ ทำให้หมอนรองกระดูกไม่มีแรงกระแทกซ้ำๆ บริเวณที่เดิม
3. ลดน้ำหนักให้สมดุลกับร่างกาย
4. งดสูบบุหรี่เด็ดขาด
5. ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อหลัง และหน้าท้อง เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังแข็งแรง และควรจะออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายด้วย
การรักษา
ส่วนใหญ่มีประมาณมากกว่า 90% ของผู้ป่วยโรคนี้ที่สามารถรักษาหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดสำหรับช่วยบรรเทาอาการปวด ร่วมกับการให้ยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เพื่อจะช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นรอบๆ เส้นประสาท หรือหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้อาการปวดลดลงได้ และอาจควบคู่กับการทำกายภาพบำบัด
ส่วนวิธีการรักษาโดยใช้เลเซอร์ คลื่นความถี่สูงและขดลวดความร้อน อาจนำมาใช้ในรายที่ ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยไม่ผ่าตัด แต่ผลของการรักษาโดยวิธีดังกล่าวนี้ได้ผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งบางรายก็อาจไม่ได้ผล กรณีของการรักษาโดยนักจัดกระดูก ถ้ามีการปวดหลังเรื้อรัง อาจมีการพิจารณาเลือกวิธีรักษาได้ แต่ถ้ามีอาการปวดร้าวลงขา โดยเฉพาะมีอาการชาและอ่อนแรง ไม่แนะนำให้รับการจัดกระดูก เพราะอาจจะทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทมากขึ้น และอาการอาจเลวลงได้ จะทำให้เป็นผลเสียต่อผู้ป่วย
อีกแนวทางคือ การฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณรอบเส้นประสาท เพื่อลดการอักเสบ และระงับอาการปวด ซึ่งพบว่าสามารถทำให้ผู้ป่วยลดการปวดได้ดี โดยเฉพาะในรายที่มีอาการปวดร้าวลงขา หรือเท้า
ในกรณีที่รักษาแบบเบื้องต้นดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่จะผ่าตัด จะมีข้อชี้บ่ง 3 ข้อ ชัดเจน ดังนี้
1. รักษาด้วยวิธีการพื้นฐานไม่ได้ผลแล้วในระยะเวลา 3 เดือนไปแล้ว
2. ผู้ป่วยมีอาการชา หรืออ่อนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ
3. มีอาการชารอบก้น กลั้นปัสสาวะ และอุจจาระไม่อยู่ ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่พบได้น้อย และเมื่อเป็นแล้วก็จำเป็น
ที่จะต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนทันที
การผ่าตัดจะเป็นการตัดชิ้นของหมอนรองกระดูกสันหลังที่โป่งยื่นออกมาเท่านั้น ซึ่งมีเทคนิคหลายวิธี มีตั้งแต่เปิดแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ จนถึงการผ่าตัดเล็กขนาด 1 – 2 เซนติเมตร โดยใช้เทคนิคกล้องขยาย เข้าช่วย และผ่าตัดแบบส่องกล้อง
หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นนอนในโรงพยาบาลประมาณ 1 – 2 วัน หลังจากนั้นก็จะสามารถ กลับบ้านได้ เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านแล้วจะต้องปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดประมาณ 3 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้ซ้ำ
โดยสรุปแล้วโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทช่วงเอว เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง สาเหตุหลักของการเกิดโรคนี้มาจากการยกของหนักที่ผิดท่า การนั่งนานๆ แล้วถูกกระแทกซ้ำๆ บริเวณเดิม และการสูบบุหรี่
หลังจากแพทย์ตรวจวินิจฉัยแล้ว ส่วนมาก 9 ใน 10 ราย รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แพทย์จะพิจารณา ทำการผ่าตัดเมื่อมีข้อชี้บ่ง 1 ใน 3 ข้อ ดังที่กล่าวมาแล้ว และการผ่าตัดก็มีตั้งแต่ผ่าแบบธรรมดา ใช้กล้องขยายช่วย และส่องกล้อง ดังนั้นเมื่อคุณมีอาการปวดหลัง และร้าวลงไปที่ขาเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ทางที่ดีควรมาพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อทำการรักษาก่อนที่จะมีอาการปวดมากขึ้น เพราะถ้าหากหมอนรองกระดูกมีความเสียหายมากขึ้น จะทำให้ยากต่อการรักษาตามไปด้วย…นะครับ ก่อนจบบทความนี้ผมมีท่าบริหารเสริมกล้ามเนื้อหลัง และสร้างกล้ามเนื้อหน้าท้องมาฝาก ลองทำตามเพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้….นะครับ
ท่าบริหารที่ 1 * นอนหงาย ยกขาขึ้นข้างหนึ่งให้สูงจากพื้นประมาณ1 คืบ เข่าเหยียดตรง
กระดกปลายเท้าเข้าหาตัว ทำค้างไว้5 วินาทีแล้วทำสลับกับขาอีกข้าง
ท่าบริหารที่ 2 * นอนหงาย ใช้มือทั้งสองกอดเข่าข้างหนึ่ง โน้มเข่าลงมาให้ชิดลำตัว
ทำค้างไว้ 5วินาที แล้วทำสลับกับเข่าอีกข้าง
ท่าบริหารที่ 3 * นอนหงาย ชันเข่าขึ้น ประสานมือสองข้างไว้ด้านหลังบริเวณเอว จากนั้นแขม่วท้อง กดหลังลงค้างไว้ 5วินาที
——————————–