โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

หญิงตั้งครรภ์ปวดศีรษะ…จะรับประทานยาอะไรดี?

หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดอาการปวดศีรษะได้มากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งเกิดทั้งในช่วงการตั้งครรภ์แรกๆและหลังคลอด เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมน โดยทั่วไปร่างกายของในผู้หญิงช่วงที่มีประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ ช่วงหลังการคลอดบุตร ก็มีการเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนอยู่แล้ว เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดศีรษะของหญิงในวัยเจริญพันธุ์ได้บ่อยๆ การปวดศีรษะไมเกรนเป็นอาการปวดศีรษะ ที่พบมากกว่าร้อยละ 90 ผู้หญิงจะมีอาการรุนแรงกว่ามากกว่าผู้ชาย

การเกิดอาการปวดศีรษะครั้งแรกระหว่างการตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่เคยมีประวัติปวดศีรษะมาก่อนการตั้งครรภ์มักจะทรมานจากการปวดศีรษะในระหว่างการตั้งครรภ์ด้วย

          โดยอาการปวดศีรษะนั้นคงเดิมไม่จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม ยกเว้นอาการปวดศีรษะเกิดอย่างกะทันหันและมีความรุนแรง ควรได้รับการค้นหาสาเหตุว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือเป็นอาการปวดจากความผิดปกติของระบบประสาทอย่างฉับพลัน หรือไม่?

           การปวดศีรษะไมเกรน อาการปวดศีรษะไมเกรนเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนครั้งแรก ช่วงระหว่างที่มีประจำเดือน การใช้ยาคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ การหมดประจำเดือน และการใช้ฮอร์โมนทดแทน ซึ่งทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น อาการปวดศีรษะไมเกรนจะกำเริบในช่วงที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง เช่น การมีประจำเดือน และภาวะหลังคลอด และอาการจะดีขึ้นระหว่างที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น เช่น ระหว่างตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนร้อยละ 48-79 จะมีอาการดีขึ้นในช่วงที่มีการตั้งครรภ์ แต่ก็จะพบเหมือนกันว่าผู้หญิงที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนน้อยกว่าร้อยละ 5 จะมีอาการปวดศีรษะไมเกรนแย่ลง ส่วนความถี่ของอาการปวดศีรษะไมเกรนในหญิงตั้งครรภ์ไม่เปลี่ยนแปลง หากมีการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนขึ้นครั้งแรกมักจะเกิดในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และจากการศึกษาพบว่าจะเกิดได้อีกในช่วงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ที่เคยตั้งครรภ์มาแล้วตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป แต่ก็มีการศึกษาอื่นๆ รายงานว่าอุบัติการณ์ของการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนจะต่ำสุดในระหว่างไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ และจะพบอาการปวดศีรษะไมเกรนอีกครั้งในช่วงหลังคลอด แต่สำหรับหญิงที่ให้นมบุตรจะเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้น้อยกว่า โดยที่ผู้หญิงที่เคยปวดอาการปวดศีรษะไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือนมักจะเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนในระยะหลังคลอด

        การรักษา อาการปวดศีรษะไมเกรนในหญิงตั้งครรภ์ แตกต่างจากหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ เพราะจะต้องระมัดระวังในการใช้ยาที่จะไปมีผลต่อทารกในครรภ์ ยาที่แนะนำ คือ ยาพาราเซตามอล ซึ่งได้ผลและปลอดภัยต่อหญิงตั้งครรภ์และทารก ยาพาราเซตามอลให้ผลในการรักษาเพื่อลดอาการปวด อาการกลัวแสง อาการกลัวเสียง หญิงตั้งครรภ์ที่อาการปวดศีรษะไม่ดีขึ้นเมื่อใช้ยาพาราเซตามอล อาจจะมีอาการดีขึ้นเมื่อใช้ยาอื่นร่วม เช่น ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยที่ไม่ดีขึ้นหลังจากได้รับยามาหลายวันแล้ว จะต้องมีการประเมินอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน

          ยากลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ใช้รักษาอาการปวดศีรษะ โดยมีการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ไม่ควรเกิน 48 ชั่วโมง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการปิดเร็วกว่ากำหนดของท่อที่หัวใจในทารก ปัญหาเกี่ยวกับการยับยั้งการทำงานของเกร็ดเลือด และภาวการณ์ตั้งครรภ์ชนิดมีน้ำคร่ำน้อย ยากลุ่ม Opioids เป็นยาสำรอง และอาจทำให้เกิดการปวดศีรษะซ้ำ และเรื้อรังทุกวันได้ ยากลุ่มนี้ทำให้เกิดการติดยาอย่างมาก ในมารดาและทารกแรกเกิด ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ยากลุ่ม Ergot alkaloids ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากทำให้เกิดมดลูกหดตัว ส่วนการใช้ยากลุ่มนี้หลังคลอดบุตรใช้ได้

          อาการปวดศีรษะที่เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ มักแสดงอาการเมื่อเกิดความเครียดมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนของร่างกาย ซึ่งเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด อาจจะเหมือนกันในแง่อาการของการปวดศีรษะ การรักษาอาการปวดศีรษะที่เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อก็ใช้ยาเช่นเดียวกับการรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน

          อาการปวดศีรษะหลังคลอดบุตร มักมีสาเหตุจากการนอนหลับไม่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน การรับประทานอาหารที่ไม่ปกติ ภาวะความตึงเครียดในจิตใจ และความอ่อนเพลีย ถ้ามีอาการ ปวดศีรษะร่วมกับมีความดันลิตสูง และโปรตีนรั่วในปัสสาวะควรนึกถึง ภาวะครรภ์เป็นพิษ ถ้าเคยได้รับยาชาฉีดเข้าที่หลัง ควรระลึกไว้เสมอว่าสามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ ซึ่งอาการจะดีขึ้นเมื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำอย่างเพียงพอ ส่วนใหญ่อาการปวดศีรษะหลังคลอดบุตร มักเป็นอาการปวดศีรษะที่เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะเมื่อไม่มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย

          สิ่งสำคัญที่สุดของการทานยาเพื่อรักษา บรรเทาอาการปวดศีรษะคือจะต้องไม่มีอันตราย ต้องหลีกเลี่ยงยาที่อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด หรือยาที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่หญิงตั้งครรภ์ ยาตัวแรกที่นึกถึง คือ ยาพาราเซตามอล ยานี้เป็นยาที่ใช้กันในผู้ใหญ่ปกติทั่วไป ปัจจุบันมีการปรับขนาดยาพาราเซตามอลที่ใช้ลงตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขและองค์การที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเรื่องการใช้ยาของประชาชน เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยให้รับประทานยาพาราเซตามอล ขนาดยาผู้ใหญ่เพียงครั้งละ 1 เม็ดห่างกันทุก 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดหรือมีไข้ ห้ามรับประทานยานี้เกิน 8 เม็ดต่อวัน เพราะอาจเป็นพิษต่อตับ ซึ่งในต่างประเทศมีรายงานข้อมูลความเสี่ยงในการใช้ยาพาราเซตามอล ต่อการเกิดตับถูกทำลายอย่างรุนแรง จากการใช้ยาพาราเซตามอลที่สูงมาก

———————————————–