โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                      นายแพทย์สฐาปกร ศิริวงศ์

                                                   โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

            เบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งวินิจฉัยจากการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหาร 8 ชั่วโมง มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก/ดล  หรือมีอาการของโรคร่วมกับระดับน้ำตาลมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก/ดล  โดยไม่อดอาหาร  สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่วมกับการที่ร่างกายมีภาวะดื้อฮอร์โมนอินซูลินซึ่งโดยปกติแล้วน้ำตาลในเลือดจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อน  ดังนั้นเมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนดังกล่าวหรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลินจึงส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้อย่างเหมาะสมจึงทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้นกว่าปกติ  การที่น้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีการทำลายหลอดเลือดภายในร่างกาย ทำให้อวัยวะต่างๆ เสื่อมสภาพถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็จะนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ภาวะไตวาย ตาบอด   โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ฯลฯ

ประเภทของโรคเบาหวาน โรคเบาหวานสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท

            – โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำลายเซลล์ตับอ่อนของตนเอง ทำให้ร่างกายหยุดสร้างอินซูลินหรือสร้างได้น้อยมากดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้จึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลินไม่สามารถใช้ยาชนิดรับประทานได้ หากขาดการฉีดยาจะทำให้มีการคั่งของสารคีโตน ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาททำให้หมดสติและอาจถึงตายได้ เบาหวานชนิดนี้พบได้น้อย และมักพบในผู้ป่วยอายุน้อย เช่น เด็ก หรือวัยรุ่น ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และฉีดอินซูลินอย่างเคร่งครัดตลอดชีวิต

            – โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเบาหวานที่พบเห็นกันเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุที่แท้จริงนั้นยังไม่ทราบชัดเจน แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ความอ้วน น้ำหนักตัวมาก ขาดการออกกำลังกาย และวัยที่เพิ่มขึ้น เซลล์ตับอ่อนของผู้ป่วยยังคงมีการสร้างอินซูลินอยู่แต่ทำงานได้น้อยลง  และเซลล์ที่สร้างอินซูลินจะค่อยๆ ถูกทำลายไปเรื่อยๆ ระยะแรกมักไม่มีอาการ หรือปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน มักใช้เวลานานกว่าจะวินิจฉัยได้ หรือวินิจฉัยได้จากการเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพประจำปี บางคนมีภาวะแทรกซ้อนโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่วินิจฉัย อย่างไรก็ตามเบาหวานชนิดนี้อาจจะใช้ยารับประทานได้ในระยะแรก และหากเป็นโรคนี้นานๆ หลายรายต้องใช้อินซูลินชนิดฉีด เพราะโรคมักจะเป็นมากขึ้นเมื่ออายุสูงขึ้น

            – โรคเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การผ่าตัดตับอ่อน ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เบาหวาน บางชนิดที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ การใช้ยาสเตียรอยด์ ฯลฯ

            – โรคเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ พบเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3

มักจะส่งผลต่อทารกในครรภ์เป็นหลักและมักจะหายได้ภายหลังคลอด

อาการเบื้องต้นของโรคเบาหวาน

            ผู้เป็นโรคเบาหวานจะมีอาการเบื้องต้น คือ

            1.ปวดปัสสาวะบ่อยครั้งขึ้น หรือปัสสาวะกลางคืนบ่อยๆ เนื่องจากในกระแสเลือดและอวัยวะต่างๆ มีน้ำตาลค้างอยู่มาก ไตจึงทำการกรองออกมาในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะหวาน ซึ่งสังเกตจากการที่มีมดมาตอมปัสสาวะ จึงเป็นที่มาของการเรียก เบาหวาน

            2.กระหายน้ำ และดื่มน้ำในปริมาณมากๆ ต่อครั้ง

            3.เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง

            4.น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะถ้าหากน้ำหนักเคยมากมาก่อน อันเนื่องมาจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปสร้างพลังงานได้เต็มที่ จึงต้องนำไขมันและโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้ทดแทน

            5.ติดเชื้อบ่อยกว่าปกติ เช่น ติดเชื้อทางผิวหนังและกระเพาะอาหาร สังเกตได้จากเมื่อเป็นแผลแล้วแผลจะหายยาก

            6.สายตาพร่ามองไม่ชัดเจน

            7.อาการชาไม่ค่อยมีความรู้สึก หรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เนื่องมาจากเบาหวานจะทำลายเส้นประสาทให้เสื่อมลง ความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกจึงถดถอยลง

            8.อาจจะมีอาการของโรคหัวใจ และโรคไต ซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนของเบาหวาน

อย่างไรก็ตาม เบาหวานชนิดที่ 2 อาจจะมีอาการเหล่านี้บางอย่าง หรืออาจไม่มีอาการเหล่านี้เลยก็ได้

ดังนั้นการวินิจฉัยที่ถูกต้องคือการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเท่านั้น โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน

            โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวานนี้มักจะเกิดเมื่อเป็นเบาหวานแล้วไม่ได้รักษาอย่างจริงจัง

            – ภาวะแทรกซ้อนทางสายตา เกิดจากการที่น้ำตาลสูงทำให้หลอดเลือดเล็กๆ ในจอประสาทตาเสีย ส่งผลให้เลือดและสารบางอย่างที่อยู่ในเลือดรั่วออกมา ซึ่งมีส่วนทำให้จุดรับภาพบวม บดบังการรับภาพ ทำให้มองไม่เห็นเป็นหย่อมๆ นอกจากนั้นจะเกิดหลอดเลือดใหม่ออกมามากมาย ซึ่งเส้นเลือดเหล่านี้แตกได้ง่าย ทำให้เกิดเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา และอาจจะทำให้ ตาบอดได้ในที่สุด

            – ภาวะแทรกซ้อนทางไต ในระยะแรกอาจไม่มีอาการใดๆ ตรวจพบจากการมีไข่ขาวมากในปัสสาวะ เมื่อเป็นนานขึ้นทำให้ไตทำงานได้น้อยลง มีของเสียคั่งค้างมากขึ้น บวมจากภาวะ ไตวาย สุดท้ายต้องล้างไตในที่สุด

            – ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท เบาหวานทำให้หลอดเลือดเล็กๆ ที่มาเลี้ยงเส้นประสาทบริเวณปลายมือปลายเท้าเกิดพยาธิสภาพ ไม่สามารถนำความรู้สึกต่อไปได้ เช่น รู้สึกชา หรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือ หรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

            – โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวานเป็นตัวเร่งให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือดทั่วร่างกาย และเมื่อหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจเสื่อมสภาพประกอบกับการมีไขมันในเลือดสูงก็จะส่งผลให้มีการตีบของหลอดเลือดหัวใจจึงทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด แต่หากหลอดเลือดหัวใจอุดตันจะเกิดอาการเจ็บหน้าอกซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย

            – โรคหลอดเลือดสมอง ผู้เป็นเบาหวานจะมีอัตราเสี่ยงในการเกิดอัมพาตชนิดหลอดเลือด ตีบสูงกว่าผู้ป่วยปกติ 2 – 4 เท่า จะมีอาการกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกอย่างทันทีทันใด หรือเป็นครั้งคราว ใบหน้าชาครึ่งข้างใดข้างหนึ่ง พูดกระตุกกระตัก สับสน หรือพูดไม่ได้เป็นครั้งคราว ตาพร่าหรือมืดมองไม่เห็นไปชั่วครู่ วิงเวียน เดินเซไม่สามารถทรงตัวได้ ที่สำคัญโรคหลอดเลือดสมองหากเกิดขึ้นแล้วมักทำให้เกิดความพิการอย่างถาวรได้

            – โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย เช่น หลอดเลือดที่ขา ทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อน่องเมื่อเดินนานๆ พักแล้วหาย หากเป็นรุนแรงทำให้เนื้อเยื่อปลายเท้าแห้งตายได้

            – แผลเรื้อรังจากเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานหลายรายเท้าชาไม่รู้สึก มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้น้ำตาลที่สูงทำให้ติดเชื้อ แผลหายยาก หรืออาจถูกตัดเท้าในที่สุด

การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเป็นเบาหวาน     

            ถึงแม้ว่าโรคเบาหวานจะเป็นโรคเรื้อรังและมีโรคแทรกซ้อนหลายอย่างแต่ก็สามารถป้องกันได้โดยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน เช่น ไขมันในเลือดสูง อ้วน ความดันโลหิตสูง และอื่นๆ ซึ่งทำได้โดย

            1.บริโภคอาหารที่สมดุลกับสุขภาพ คือ ควบคุมปริมาณพลังงาน (แคลอรี่) ในแต่ละวันควรรับประทานอาหารให้ครบหมู่ ไม่ซ้ำซากจำเจ รับประทานพืชผักให้มาก ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ที่ติดมัน ควรรับประทานปลาเป็นหลัก หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัดและรสหวานจัด  เลือกรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบมากๆ เช่น เครื่องดื่มที่มีรสหวานหรือใส่นมข้นหวาน ขนมหวานและงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ถ้ารับประทานมากจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ ควรหลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัดหรือให้พลังงานสูง เช่น ทุเรียน ขนุน ละมุด หรือผลไม้ตากแห้ง ผลไม้กวน ผลไม้เชื่อม แช่อิ่ม และผลไม้กระป๋อง

            2.ลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักให้เป็นปกติ

            3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 20 – 30 นาทีต่อครั้ง อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์

            4.งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญต่อโรคเส้นเลือดสมองและหัวใจตีบ

            5.ใช้ยารักษาเบาหวานถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่ากำหนด โดยทั่วไปแพทย์จะดูจากระดับน้ำตาลตอนเช้าไม่เกิน 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และระดับน้ำตาลสะสมฮีโมโกลบินเอวันซี (HbAIC) น้อยกว่า 7%

            6.ใช้ยาลดความดันโลหิตและยาลดไขมันในเลือดเมื่อมีข้อบ่งชี้ ซึ่งโดยทั่วไประดับความดันในเลือดที่เหมาะสมคือน้อยกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท และค่าไขมันแอลดีแอล (LDL) น้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

            7.ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโรคแทรกซ้อน อาการเบื้องต้น และการป้องกัน

            8.หมั่นดูแลเท้าอย่างสม่ำเสมอและใส่รองเท้าที่เหมาะสม ถ้าหากมีแผลเรื้อรังรีบพบแพทย์

            9.ลดความเครียด มีจิตใจสบาย ผู้ป่วยเบาหวานหลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าต้องงดอาหารหวานอย่างเคร่งครัดจนกินอะไรไม่ได้เลย ทำให้มีความเครียดมากแต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ป่วยสามารถรับประทานได้ทุกอย่าง เพียงแต่ต้องรู้จักจำกัดปริมาณและเข้าใจเรื่องอาหารแลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง ก็สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ส่วนวิถีชีวิตอื่นๆ ก็ไม่ได้แตกต่างจากผู้ที่ไม่มีภาวะเบาหวานมากมายนัก การมีเวลาออกไปผ่อนคลายกับครอบครัวและเพื่อนบ้าน นอกจากวิถีชีวิตทำงานปกติแล้วกลับจะทำให้ผู้ป่วยลดความเคร่งเครียดได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพบว่าการไม่เคร่งเครียดบ่อยจะทำให้ควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น

            10.ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอกับแพทย์ โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาดแต่สามารถควบคุมได้ หากผู้ป่วยเข้าใจโรคเบาหวาน     ได้อย่างถ่องแท้ และดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสมตามข้อแนะนำเบื้องต้นดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ผู้ป่วย ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคแทรกซ้อนต่างๆ และใช้ชีวิตอยู่กับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุขเหมือนคนปกติทั่วไปครับ

…………………………………..