อุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยพบว่าเพิ่มขึ้น โดยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้พบร้อยละ 25 – 40 โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคหืดร้อยละ 10 – 15 โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ร้อยละ 15 และโรคแพ้อาหารร้อยละ 5 โดยอุบัติการณ์ในเด็กจะสูงกว่าในผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของทารกแรกเกิดนั้นยังพัฒนาไม่สมบูรณ์
โรคภูมิแพ้นั้นถ้าไม่ได้รับการรักษา จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นแย่กว่าคนปกติ เช่น เรียน และทำงานได้ไม่เต็มที่ หากเกิดในเด็กจะทำให้เด็กรู้สึกไม่สบาย อ่อนเพลีย หงุดหงิด ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ตามวัยได้อย่างเต็มที่
กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุสำคัญ
ในปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ ร้อยละ 20 – 50 ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 60 – 80 ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลยมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียงร้อยละ 10 – 15 เท่านั้น โดยการป้องกันโรคภูมิแพ้ของลูกสามารถทำได้ตั้งแต่เวลาที่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์เลย
เนื่องจากโรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และมีการศึกษาที่แสดงว่าสิ่งแวดล้อม และอาหารเป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้ ดังนั้นสำหรับเด็กที่เกิดในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรกำจัดและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ให้กับลูกตั้งแต่แรก รวมทั้งการให้เด็กดื่มนมแม่จะสามารถป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้ คนที่เป็นโรคภูมิแพ้มักเกิดร่วมกันหลายชนิด เช่น เด็กที่เป็นผื่นแพ้บริเวณผิวหนังอาจพบว่า มีการแพ้อาหารร่วมด้วย ดังนั้นการจัดให้ลูกกินอาหารที่เหมาะสมจะสามารถลดอัตราการแพ้อาหารได้ การดื่มนมแม่หรือนมสูตรพิเศษที่มีการสลายโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้
เด็กที่มีประวัติครอบครัวที่เสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้
เด็กที่มีประวัติครอบครัวที่เสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมและกินอาหาร ที่มีโปรตีน ซึ่งก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ง่าย โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
-ควรให้ลูกดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และต้องจำกัดอาหารเป็นพิเศษ สำหรับมารดาช่วงระยะตั้งครรภ์และให้นมบุตร เช่น อย่าทานนมวัวมากกว่าก่อนตั้งครรภ์ควรทานเป็นนมถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น
– กรณีที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรเลี้ยงลูกด้วยนมสูตรพิเศษจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี
– ไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมวัว และหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี
– นมแพะ นมแกะ มีโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้เช่นเดียวกับการแพ้นมวัว
– ควรให้อาหารเสริมเมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือน โดยแนะนำให้เด็กกินอาหารเสริมทีละชนิด และสังเกตว่ามีการแพ้อาหารที่ให้หรือไม่ภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะให้อาหารเสริมชนิดใหม่ ควรให้อาหารเสริมที่ทำให้เกิดอาการแพ้น้อย ได้แก่ ข้าวบด กล้วยน้ำว้า ฟักทอง น้ำต้มหมู น้ำต้มไก่ ผักใบเขียว
– ควรหลีกเลี่ยงการกินไข่ขาว และอาหารที่มีไข่ขาวเป็นส่วนประกอบจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี
– ควรหลีกเลี่ยงการกินถั่วลิสง และปลาทะเล จนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี
สำหรับเด็กที่ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ควรดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่จำเป็นต้องงดอาหารบางอย่างที่แพ้ง่าย เช่น ไข่ ถั่ว ปลา
สิ่งแวดล้อมดีก็ช่วยป้องกันภูมิแพ้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
สิ่งแวดล้อมที่ดีนั้นสามารถช่วยป้องกันภูมิแพ้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ดังนี้ :
– ใช้เครื่องเรือนน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน
– งดใช้พรมปูพื้น ไม่ใช้ที่นอนหรือหมอนที่ทำด้วยนุ่น ขนสัตว์ ควรใช้ชนิดที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ หรือฟองน้ำ ควรคลุมที่นอนและหมอนด้วยผ้าพลาสติก หรือผ้าไวนิล หรือผ้าหุ้มกันไรฝุ่น
– ไม่สะสมหนังสือ หรือของเล่นที่มีขน
– ซักผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่มทุก 1-2 สัปดาห์ โดยใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง
– ดูดฝุ่น เช็ดถูทำความสะอาดพื้น และเครื่องเรือนเพื่อขจัดฝุ่นละอองเป็นประจำ
– ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขน เช่น สุนัข แมว ภายในบ้าน
– พยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบภายในบ้านเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สดหรือแห้งไว้ในบ้าน
– จัดเก็บขยะและเศษอาหารให้มิดชิดเพื่อป้องกันและกำจัดแมลงสาบ
ภาพไรฝุ่น