ภาวะไข้ หมายถึง ภาวะที่มีอุณหภูมิของร่างกายสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส โดยการวัดทางทวารหนัก 38 องศาเซลเซียส ซึ่งวัดทางปาก และ 37.5 องศาเซลเซียส วัดทางรักแร้ค่ะ
ภาวะชักจากไข้ เป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุดในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 6 ปี ประมาณร้อยละ 3 – 5 ของเด็กปกติทั่วไป และเพิ่มเป็นร้อยละ 15 ในเด็กที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เด็กมีประวัติพี่น้องในครอบครัวชักจากไข้ เด็กที่มีพัฒนาการช้า และเด็กมีปัญหาที่ต้องนอนรักษาในห้องผู้ป่วยหนักตั้งแต่แรกเกิด การเกิดชักจากไข้ขึ้นอยู่กับอายุและการเจริญเติบโตของสมอง สมองที่เจริญมากขึ้นมีโอกาสเกิดการชักได้น้อยลง เมื่อเกิดภาวะชักบิดามารดา หรือผู้ดูแลจะมีความวิตกกังวลกลัวว่าลูกจะมีปัญหาในสมอง กลัวลูกจะพิการ ปัญญาอ่อน เรียนหนังสือไม่เก่ง หรือเป็นโรคลมชักไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นการที่ผู้ปกครองมีความรู้ในการดูแลเด็กนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อที่จะช่วยกันดูแลและป้องกันภาวะชักจากไข้ในเด็กได้ ภาวะไข้เกิดจากสมองปรับอุณหภูมิร่างกายให้สูงขึ้นและหากมีการเผาผลาญของระบบประสาทที่ผิดปกติจะทำให้ไวต่อการชักมากขึ้นและเป็นที่มาของภาวะชักจากไข้สูง
การดูแลเมื่อเด็กมีไข้
การดูแลเด็กเมื่อเวลามีไข้นั้นในปัจจุบันมีด้วยกันหลายวิธีด้วยกัน คือ วิธีการวัดทางปรอท การให้ยาลดไข้ การเช็ดตัวลดไข้ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้:-
วิธีการวัดปรอท
1.ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบปรอทวัดไข้ออกมาจากภาชนะที่เก็บ
2.สลัดปรอทให้อุณหภูมิอยู่ในระดับต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส ทุกครั้ง
3.ซับรักแร้เด็กให้แห้ง แล้วจึงสอดปรอทให้อยู่ใต้อุ้งรักแร้นาน 5 – 10 นาที
4.เมื่อครบเวลานำปรอทวัดไข้ออกมาอ่านให้อยู่ในระดับสายตา
5.ทำความสะอาดปรอทวัดไข้ด้วยน้ำและสบู่ เช็ดให้แห้งแล้วเก็บในภาชนะเดิม ห้ามนำน้ำร้อนล้างหรือแช่เพราะจะทำให้ปรอทแตก
การให้ยาลดไข้
เมื่อวัดปรอทอุณหภูมิ> 37. 5 องศาเซลเซียส ซึ่งวัดทางรักแร้จะต้องดูแลให้ยาลดไข้แก่เด็กโดยการปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.ล้างมือทุกครั้งให้สะอาดก่อนหยิบยา
2.อ่านฉลากยา และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
3.ให้ยาแก่เด็กแล้วดื่มน้ำตามหลังให้ยาทุกครั้ง
4.อ่านฉลากยาอีกครั้งก่อนเก็บยา
5.สังเกตอาการหลังรับประทานยาว่ามีอาการแพ้ยาหรือไม่ เช่น มีผื่นแดงตามร่างกาย คัน หายใจลำบาก หากมีอาการแพ้ยาเหล่านี้ควรรีบนำเด็กไปพบแพทย์
การเช็ดตัวลดไข้
หลังรับประทานยาลดไข้แล้วจะต้องดูแลเช็ดตัวลดไข้ให้เด็กเพื่อลดระดับความร้อนของร่างกายให้ ต่ำกว่า 37. 5 องศาเซลเซียส เพื่อให้เด็กรู้สึกสบายตัว
อุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับการเช็ดตัวในเด็ก
กะละมังเช็ดตัว ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กควรแยกสีเพื่อจะได้รู้ว่าสีใดควรเช็ดที่ใบหน้า เช็ดลำตัวและเท้า ประมาณ 2 – 4 ผืน และผืนใหญ่อีก 1 ผืน
วิธีการเช็ดตัวลดไข้
1.เตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ให้ครบทุกอย่าง
2.ใช้น้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดา ไม่ควรใช้น้ำแข็งเช็ดตัวเพราะจะทำให้เกิดอาการหนาวสั่นและเจ็บปวดตามกล้ามเนื้ออาจจะทำให้เกิดอาการไข้กลับได้
3.ปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศเพื่อไม่ให้เด็กหนาวสั่นขณะเช็ดตัว
4.ถอดเสื้อผ้าเด็กออก
5.เช็ดตัวโดยการปฏิบัติ ดังนี้:-
บริเวณหน้า – ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดบริเวณใบหน้าให้ทั่ว โดยเฉพาะหน้าผากให้ถูไปมาหลายๆ ครั้ง ใช้ผ้าชุบน้ำประคบบริเวณหน้าผากและคอ
แขน – เช็ดจากปลายแขนเข้าสู่หัวใจ ถูบริเวณรักแร้ ถูข้อพับแขนหลายๆ ครั้ง แล้วจึงใช้ ผ้าชุบน้ำประคบบริเวณข้อพับและรักแร้ค้างไว้
หน้าท้อง – บริเวณหน้าท้องนี้จะต้องเช็ดไปตามขวางของลำตัวเด็ก
ขา – เช็ดจากปลายขาขึ้นมาสู่ขาหนีบๆ ควรเช็ดหลายๆ ครั้ง แล้วใช้ผ้าชุบน้ำประคบ บริเวณข้อพับไว้
หลัง – พลิกตะแคงตัวเด็ก แล้วเช็ดตั้งแต่คอเข้าหาหัวใจ และจากก้นกบเข้าหาหัวใจเช็ดซ้ำ หลายๆ ครั้ง
1.ขณะเช็ดตัวให้ออกแรงเหมือนถูตัว ซึ่งจะทำให้รูขุมขนขยายตัว
2.เปลี่ยนผ้าชุบน้ำบ่อยๆ ทุก 2 – 3 นาที
3.ใช้เวลาเช็ดตัวเด็กประมาณ 30 นาที ทุกครั้ง
4.หลังเช็ดตัวควรซับตัวเด็กให้แห้งแล้วสวมเสื้อผ้าเบาสบาย ไม่ควรสวมใส่หรือห่อตัวเด็กด้วยเสื้อผ้าที่หนาเพราะจะทำให้ความร้อนเพิ่มขึ้น ทางที่ดีควรใส่ผ้าบางๆ เป็นตาข่ายเพื่อจะทำให้ระบาย ความร้อนได้เร็วขึ้น
5.วัดไข้ซ้ำในอีก 30 นาที ต่อมา
การดูแลเด็กไข้สูงเมื่อมีอาการชักร่วม
1.ผู้ปกครองจะต้องตั้งสติให้ดีก่อน อย่าตกใจ ขยับสิ่งของให้ไกลจากตัวเด็ก เพื่อป้องกันการกระแทก
2.จับเด็กนอนราบ ตะแคงศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง ถ้ามีเสมหะหรือน้ำลายมากควรรีบดูดออก เพื่อป้องกันการสำลักเข้าปอดเด็ก
3.ไม่ผูกยึดเด็ก หรือจับตรึงเด็กขณะชักเพราะอาจจะเกิดข้อไหล่หลุด หรือกระดูกหักได้
4.ไม่ใส่ไม้กดลิ้น หรือนิ้วเข้าปากเด็กเพราะอาจจะทำให้ฟันหัก หรือได้รับบาดเจ็บ
5.เช็ดตัวเพื่อให้ไข้ลดลงโดยเร็ว
6.นำเด็กพบแพทย์ในสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุด
ภาวะชักจากไข้สูงไม่ใช่โรคลมชัก และมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดโรคลมชักตามมา ซึ่งไม่ได้ทำให้เด็กเสียชีวิต ไม่เกิดอันตรายต่อเด็กและไม่ทำให้เด็กเกิดปัญญาอ่อน แล้วเด็กจะกลับสู่ภาวะปกติ เมื่อเด็กมีไข้สูงควรหาทางลดไข้โดยการรับประทานยาลดไข้ และเช็ดตัวลดไข้ให้เด็กโดยเร็วที่สุดหลังจากนั้นนำเด็กไปพบแพทย์ ถ้าหากท่านไม่อยากให้เด็กมีอาการชักเมื่อมีไข้สูง ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของเด็กว่าตัวร้อน มีไข้หรือไม่? หากตัวร้อนก็รีบเช็ดตัวก่อนเป็นลำดับแรก แค่นี้ก็เป็นการป้องกัน เด็กภาวะชัก…จากไข้ในเด็กได้นะคะ
…………………………….