โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

ผู้ป่วยเบาหวาน….กับการตรวจจอประสาทตา

เบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติในการเผาผลาญน้ำตาลของร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งมีผลระยะยาวก่อให้เกิดพยาธิสภาพต่อระบบต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะที่ ตา ไต หัวใจ ระบบเส้นประสาท และหลอดเลือด ภาวะแทรกซ้อนทางตาที่สำคัญในผู้ป่วยเบาหวานคือภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาซึ่งอาจจะมีผลทำให้ผู้ป่วยตามัวลงจนถึงตาบอดได้

        ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา หรือเรียกง่ายๆว่า “เบาหวานขึ้นตา” เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสูญเสียสมรรถภาพการมองเห็นได้ ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเกิดจากโรคเบาหวาน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดขนาดเล็กที่จอประสาทตา มักพบจุดเลือดออก และไขมันสะสมในเนื้อจอประสาทตา ในบางรายพบว่ามีเส้นเลือดผิดปกติงอกขึ้นมาตามผิวของจอประสาทตา ซึ่งเส้นเลือดนี้จะเปราะบาง แตกง่ายกว่าเส้นเลือดปกติ ทำให้เกิดเลือดออกใน จอประสาทตาและวุ้นลูกตา และอาจทำให้จอประสาทตาหลุดลอกออกมา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียสมรรถภาพการมองเห็น

การตรวจพบภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็จะสามารถลดอัตราการสูญเสียสมรรถภาพการมองเห็นลงได้

ปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา คือ การควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีกับระยะเวลาที่เป็นเบาหวานมานาน แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยที่อาจจะทำให้พบภาวะเบาหวานขึ้นตาได้เร็ว หรือรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ไตผิดปกติจากการเป็นเบาหวาน รวมทั้งภาวะตั้งครรภ์ด้วย

        อาการของภาวะเบาหวานขึ้นตา ถ้าหากเป็นเบาหวานขึ้นตาในระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ตายังมองเห็นได้ชัดเจน เพียงแต่ตรวจจอประสาทตาแล้วพบความผิดปกติซึ่งใน ระยะนี้ยังไม่ต้องให้การรักษาใดๆ ทางตา นอกจากแนะนำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีเบาหวานที่จอประสาทตาก็จะลุกลามช้าและไม่รุนแรง ในบางรายอาจจะรู้สึกว่าตามัวลง ซึ่งจะมีการนัดตรวจติดตามอาการอยู่เป็นระยะๆ แต่ถ้ามีอาการเห็นเหมือนมีหยากไย่ลอยไปลอยมา มองเห็นคล้ายแสงฟ้าแลบ หรือตามัวลง ซึ่งถ้าหากท่านมีอาการผิดปกติดังกล่าวนี้ ท่านจะต้องรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป

       

การรักษาภาวะเบาหวานขึ้นตา มีการรักษาด้วยเลเซอร์ การฉีดยาเข้าในวุ้นตา และการผ่าตัดซึ่งขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย

        การรักษาด้วยเลเซอร์ การรักษาด้วยวิธีนี้จะทำให้บริเวณจุดรับภาพที่บวมดีขึ้น และแสงเลเซอร์ก็จะทำให้เส้นเลือดที่เกิดใหม่ฝ่อลงซึ่งถือเป็นการลดโอกาสที่จะเกิดเลือดออกในจอประสาทตาและวุ้นตา ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นจะต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อทำเสร็จแล้วก็สามารถกลับบ้านได้เลย

        การฉีดยาเข้าในวุ้นตา เป็นการฉีดสารยับยั้งการงอกใหม่ของเส้นเลือด และลดการบวมของจอประสาทตาด้วยยา Anti VEGF ( Anti-vascular endothelial growth factor )

        การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่เบาหวานขึ้นจอประสาทตาระยะแพร่กระจายซึ่งอาจมีเลือดออกที่จอประสาทตาและวุ้นลูกตา เกิดพังผืดดึงรั้งจอประสาทตาทำให้จอประสาทตาหลุดลอก

        ผลการรักษา การรักษาจะได้ผลดีหากตรวจพบได้ในระยะแรกๆ แต่ถ้าหากตรวจพบว่าเป็นมากแล้วการรักษาก็จะยากขึ้น ซึ่งในบางรายนั้นการรักษาก็ไม่ได้หวังผลเพื่อให้มองเห็นดีขึ้น แต่จะรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงไปกว่าเดิม

        ข้อควรปฎิบัติของผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
        1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
        2. ควบคุมภาวะความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือด
        3. หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆที่จะทำให้เส้นเลือดฝอยที่ผิดปกติแตกได้ง่าย เช่น การสูบบุหรี่ การเป่าลม และไม่ควรก้มศีรษะต่ำกว่าเอวเพื่อยก             ของหนัก
        4. มาตรวจตามจักษุแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการของภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ถ้าหากมีอาการผิดปกติ เช่น ตามัวลง                 เห็นเหมือนมีหยากไย่ลอยไปลอยมา หรือเห็นคล้ายแสงฟ้าแลบ ให้รีบมาพบจักษุแพทย์ก่อนนัดได้ทันที

ความถี่ในการตรวจจอประสาทตา
        – ผู้ป่วยเบาหวานที่ยังไม่มีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ควรมาตรวจตาปีละ 1 ครั้ง
        – ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาแล้ว จักษุแพทย์จะนัดตรวจติดตาม อาการตามระยะของโรค

        ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเป็นภาวะที่พบได้บ่อย วิธีที่จะรู้ว่าเบาหวานขึ้นจอประสาทตาหรือไม่? ก็คือการตรวจจอประสาทตา ถ้าท่านหรือคนรอบข้างเป็นเบาหวานต้องชวนกันมาตรวจตา อย่าปล่อยให้ตัวท่านเอง หรือญาติต้องตาบอดเพราะเบาหวาน สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มาตรวจตาจะได้รับการหยอดยาเพื่อขยายม่านตา ซึ่งจะทำให้มีอาการตาพร่ามัวประมาณ 4-6 ชั่วโมง ดังนั้นท่านควรพาญาติ หรือคนใกล้ชิดมาเพื่อช่วยดูแลท่านด้วย

 

———————————————–