การให้กำเนิดทารกเป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่ในขณะเดียวกันเมื่อให้กำเนิดมาแล้วบางท่าน เคยผ่านการให้กำเนิดมาหลายครั้ง บางท่านก็เป็นครั้งแรกในชีวิต จึงทำให้ไม่ใคร่มีความรู้ด้านนี้มากนัก ดังนั้นทำให้เกิดคำถามตามมามากมายสำหรับมารดามือใหม่ และไม่สามารถที่จะปรึกษาหารือกับใครได้ ในวันนี้เรามาไขปัญหาข้อข้องใจให้กับมารดาที่สงสัยปัญหากันอยู่ เป็นข้อๆ กันจะดีกว่านะคะ เพื่อความสบายใจ และความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงค่ะ
ถาม: แผลผ่าตัดหลังคลอดเมื่อมารดากลับบ้านแล้วควรจะดูแลอย่างไร ?
ตอบ: โดยปกติทั่วไป มารดาที่ได้รับการผ่าตัดคลอดจะต้องอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อยประมาณ 3 วัน และหากสบายดีทั้งมารดาและทารกก็สามารถกลับไปพักที่บ้านได้ โดยทั่วไปเมื่อกลับบ้าน มารดาที่ได้รับการผ่าตัดคลอดจะได้รับยาแก้ปวด ซึ่งอาจจะเป็นพาราเซตามอล หรือยาในกลุ่มเอ็นเสดสเพื่อใช้ลดอาการปวดจากการผ่าตัด แพทย์จะทำการนัดเพื่อดูแผลผ่าตัดเมื่อครบ 7 วันหลังจากการผ่าตัด หากเย็บแผลด้วยไหมละลาย ก็ไม่ต้องตัดไหม แต่ถ้าแผลผ่าตัด ยังไม่ติดไม่ควรให้แผลโดนน้ำเด็ดขาด แต่ถ้าแผลติดดี ก็อาบน้ำ โดนน้ำได้ ทางที่ดีก่อนออกจากโรงพยาบาลควรสอบถามแพทย์ให้ชัดเจน แพทย์บางท่านอาจปิดแผลผ่าตัดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำซึ่งทำให้มารดาสามารถอาบน้ำได้ตั้งแต่วันแรกของการผ่าตัด มารดาจะต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายเหมาะสมกับมารดา และควรทำความสะอาดแผลตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการไอควรใช้หมอน หรือผ้ากดประคองแผลเพื่อลดอาการเจ็บ สิ่งที่สำคัญคืออาการผิดปกติที่ต้องรีบ พบแพทย์ก่อนนัด คือ
– มีอาการเจ็บแผลผ่าตัดมากขึ้น มีรอยแดงบวมที่แผลผ่าตัดจากเดิมที่ไม่เคยมี และมีเลือดซึมออกจากแผลผ่าตัดเพิ่มขึ้น
– ปวดท้องมากขึ้น
– มีไข้ และตัวร้อนสูง
ถาม: หลังคลอดแล้วจะกินอะไรได้บ้าง ?
ตอบ: ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ คือ อาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ5หมู่ในทางการแพทย์แล้วไม่ได้ห้ามกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่ควรงดอาหารประเภทหมักดอง ชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ ควรจะกินผัก ผลไม้มากๆ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว เพื่อป้องกันท้องผูกถ้าหากมารดาท้องผูกก็จะทำให้เบ่งอุจจาระ และเมื่อเบ่งก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บแผล และเจ็บในช่องท้องได้
ถาม: หลังคลอดแล้วควรจะมีเพศสัมพันธ์ได้ตอนไหน ?
ตอบ: มีเพศสัมพันธ์ได้หลังคลอด 4 – 6 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าคลอดแบบไหน ถ้าคลอดเอง 4 สัปดาห์ ก็มีเพศสัมพันธ์ได้ แต่จะต้องดูแผลที่เย็บอีกครั้งว่าหายหรือยัง และมีน้ำคาวปลาออกอยู่หรือไม่ เพราะถ้ายังมีอยู่ก็จะไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์เพราะอาจ ติดเชื้อได้ ถ้าคลอดโดยการผ่าตัดประมาณ 6 สัปดาห์ถึงจะมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ต้องให้แพทย์ตรวจแผลก่อนทั้งแผลด้านนอกและแผลด้านในว่าแห้งสนิทดีหรือไม่ เพราะถ้ายังไม่แห้งหากมีเพศสัมพันธ์จะเจ็บซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่ดีกับการมีเพศสัมพันธ์ได้ เพราะฉะนั้นจะ 4 หรือ 6 สัปดาห์ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของมารดาด้วย และหลังคลอดแล้วร่างกายกำลังปรับฮอร์โมนอยู่อาจจะทำให้ประจำเดือนยังไม่มาบางครั้งก็หลายเดือน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของมารดาแต่ละคน
ถาม: มดลูกจะเข้าอู่เมื่อไหร่ ?
ตอบ: มดลูกเปรียบเสมือนบ้านของลูกในขณะที่อยู่ในท้องมารดาโดยมดลูกจะขยายตัวตาม
อายุครรภ์ เพื่อเตรียมพร้อมกับการเติบโตและการคลอด พอช่วงหลังคลอดมดลูกของมารดาจะกลับคืนสู่สภาพเดิมตามธรรมชาติในช่วง 4 – 6 สัปดาห์หลังคลอด ภาวะนี้เรียกว่ามดลูกเข้าอู่ ช่วงหลังคลอดแพทย์จะนัดมารดามาตรวจสุขภาพหลังคลอด ในเรื่องน้ำคาวปลา การขับถ่าย แผลฝีเย็บ แผลผ่าตัดคลอด มะเร็งปากมดลูก และตรวจดูมดลูกช่วงหลังคลอด ซึ่งแพทย์จะตรวจดูว่ามดลูกของมารดาหดรัดตัวกลับสู่ภาวะปกติหรือไม่ อย่างไร เพราะบางครั้งพบว่ามารดาเกิดภาวะความผิดปกติบางอย่างของมดลูก ทำให้มดลูกเข้าอู่ช้าจะต้องได้รับการดูแลที่ถูกต้องและเหมาะสมจากแพทย์ต่อไป
ถาม: ประจำเดือนหลังคลอดจะมาเมื่อไหร่ ?
ตอบ: ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่ประจำเดือนจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้งหลังคลอด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดปกติตามธรรมชาติ และมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเวลาปกติการมีประจำเดือนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโต และเมื่อมีการตกไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะมีการเปลี่ยนแปลงและในที่สุดก็หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน แต่ในระหว่างการตั้งครรภ์นั้นจะไม่มีการตกไข่รวมทั้งฮอร์โมน ในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปตามปกติจึงไม่มีประจำเดือนเกิดขึ้น และเมื่อมารดาคลอดแล้ว อิทธิพลของฮอร์โมนต่างๆ นั้นจะยังคงอยู่ไปอีกสักระยะ ซึ่งทำให้ยังไม่มีการตกไข่จึงทำให้ไม่มีประจำเดือนนั่นเอง ตามหลักการคงไม่มีใครบอกได้แน่นอนว่าเมื่อไหร่จะมีการตกไข่อีกครั้ง แต่โดยทั่วไปประจำเดือนมักจะกลับมาอีกครั้งในช่วงประมาณ 6 – 8 สัปดาห์หลังคลอดในกรณีที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มาเกี่ยวข้องด้วยอีกหลายปัจจัย แต่สำคัญที่สุดก็คือ เรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้นมลูกอย่างสม่ำเสมอจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างและหลั่งน้ำนม ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องทำให้ยังไม่มีการตกไข่เกิดขึ้น บางกรณีอาจไม่มีประจำเดือนไปจน 5 – 6 เดือนก็ได้ ซึ่งก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใดนะคะ
ถาม: นมคัดเกิดจากอะไร และจะดูแลอย่างไร ?
ตอบ: อาการคัดตึงของเต้านมเกิดจากร่างกายของมารดาหลังคลอดมีการสร้างน้ำนมมากขึ้นเมื่อ
ไม่มีการระบายน้ำนมออกมาจะทำให้เต้านมใหญ่ขึ้น หนักขึ้น และบวม จึงทำให้เต้านมแข็งและมีอาการปวด บวม แดง และร้อน บางครั้งอาจทำให้มีไข้ขึ้นได้ ซึ่งเกิดจากสาเหตุ ดังนี้
1. อุ้มลูกให้นมผิดท่า
2. ให้นมไม่เกลี้ยงเต้าในแต่ละมื้อ และจำกัดเวลาในการให้นม ให้นมไม่บ่อย
3. ให้นมผสม หรืออาหารเสริมอย่างอื่นแทนการให้นมแม่ ใช้ขวดนมในการเลี้ยงลูก
4. ทารกมีแรงในการดูดน้อย ทารกติดนอน ดูดนมไม่มีประสิทธิภาพ
5. เต้านมมีการสร้างน้ำนมมากเกินไปไม่สมดุลกับการระบายน้ำนมออก
ถาม: วิธีการแก้ปัญหานมคัดจะทำอย่างไร ?
ตอบ: การแก้ปัญหานมคัดก็มีด้วยกันหลายวิธี ดังนี้ :-
1. จัดท่าอุ้มการให้นมลูกที่ถูกต้อง ถนัด และรู้สึกสบายขณะให้นมทุกครั้ง
2. ห้ทารกดูดบ่อยๆ ทุก 2 – 3 ชั่วโมง และนานข้างละ 15 – 20 นาที สลับกันจนกว่าทารกจะอิ่ม หรือน้ำนมเกลี้ยงเต้า ถ้าหากเกลี้ยงเต้ามารดาจะรู้สึกว่าเต้านมจะเบาขึ้น
3. หลีกเลี่ยงการใช้ขวดนม หรือใช้จุกหลอก แต่ในกรณีหัวนมสั้น บอด และบุ๋ม อาจใช้วิธีบีบน้ำนมให้เกลี้ยงเต้าเก็บน้ำนมแช่ไว้ในตู้เย็นเพื่อให้ทารกดื่มต่อไปได้
4. ประคบ นวดเต้านมให้นิ่มเพื่อให้กล้ามเนื้อเต้านมและท่อน้ำนมคลายตัว ก่อนให้ทารกดูดนมทุกครั้ง
5. ใช้ความเย็นประคบเพื่อลดอาการปวดเต้านม
6. สวมเสื้อชั้นในที่สบายไม่รัดเกินไป
มารดาหลังคลอดทุกคนควรใส่ใจในการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล หากมีอาการผิดปกติ ในเรื่องของแผลมีการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน มีเลือด หรือหนอง ออกจากแผล ไหมหลุด แผลแยก น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นและออกมามากผิดปกติ ปัสสาวะแสบขัด เต้านมอักเสบ มารดาควรรีบมาพบแพทย์ทันที และพบกันใหม่ในฉบับต่อไปนะคะ …… สวัสดีค่ะ
………………………………………