โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

     อาการปวดเข่าเป็นหนึ่งในอาการที่ทำให้คนไข้ต้องมาพบแพทย์บ่อยๆ ซึ่งพบว่าอาการปวดเข่าสามารถเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ พบได้ทุกเพศทุกวัย หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมก็จะก่อให้เกิดความรำคาญหรือทุพพลภาพในการใช้ชีวิตประจำวัน สุดท้ายอาจก่อให้เกิดปัญหาเข่าเสื่อมก่อนวัยได้นะครับ….

สาเหตุของอาการปวดเข่า

แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

1.  อาการปวดเข่าจากอุบัติเหตุ เช่น กระดูกรอบข้อเข่าหัก เส้นเอ็นรอบหัวเข่าหรือภายในเข่าได้รับบาดเจ็บ หมอนรองข้อเข่าบาดเจ็บ หรือมีเลือดออกในข้อเข่า

2. ข้อเข่าติดเชื้อ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยมักจะผ่านมาทางกระแสโลหิตแล้วเกิดติดเชื้อที่ข้อเข่า ซึ่งแหล่งที่มาของเชื้อแบคทีเรีย เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ฟันผุ คออักเสบ ติดเชื้อที่บริเวณลิ้นหัวใจที่ผิดปกติ แผลถลอก ติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือระบบทางเดินอาหารรวมถึงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

3. การอักเสบของข้อเข่า แบ่งเป็นกลุ่มย่อยง่ายๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ การอักเสบของข้อเข่าจาก ภูมิคุ้มตัวเอง และการอักเสบของข้อเข่าจากผลึกยูริกหรือผลึกแคลเซียม

4. ข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการสึกกร่อนของผิวกระดูกอ่อน ทำให้มีอาการปวดได้ พบในผู้สูงอายุเปรียบเหมือนกับยางรถยนต์ที่วิ่งบนถนนขรุขระซึ่งจะทำให้ยางสึกได้

                                    

ความแตกต่างและความสำคัญของแต่ละสาเหตุ 

     1.   อุบัติเหตุ  ผู้ป่วยจะมีประวัติการบาดเจ็บชัดเจน เช่น อุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา มีอาการปวดเข่าทันที บวม กดเจ็บบริเวณที่ปวด ในกรณีที่มีอาการมาก เช่นมีกระดูกหัก อาจทำให้ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ ผมว่าควรมาพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เหมาะสม เพื่อจะได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว หากมีข้อบ่งชี้ที่จะต้องผ่าตัดก็จะได้รับการนอนในโรงพยาบาลเพื่อรอทำการผ่าตัดต่อไป 

    2.  การติดเชื้อและการอักเสบที่เกิดจากผลึกกรดยูริกหรือแคลเซียม อาการมักคล้ายคลึงกัน คือ ปวดเข่าฉับพลัน บวม ผิวหนังแดงร้อน มีไข้  หากมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพราะถ้าหากได้รับการรักษาช้าจะทำให้การอักเสบเป็นมากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือผิวข้อกระดูกอ่อนจะถูกทำลาย  ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยได้ 

    3. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์  เป็นโรคที่พบได้น้อย เกิดจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันตนเองผิดปกติ ทำให้เกิดการทำลายข้อที่มีอาการ ส่วนใหญ่เกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อาการมักเป็นหลายข้อ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า หรือข้อนิ้วเท้า มีอาการติดฝืดตึงข้อตอนเช้า แต่หากมีอาการของระบบอื่นๆในร่างกายร่วมด้วย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบไตมีผื่นขึ้นใบหน้า ระบบโลหิต ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางอายุรกรรมโรคข้อเนื่องจากสงสัยกลุ่มอาการ SLE หรือโรคพุ่มพวง 

     4. โรคข้อเข่าเสื่อม  เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่างและโครงสร้างทำให้การทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้ และอาจเสื่อมมากขึ้นตามลำดับ

 

สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม 

แบ่งเป็น 2 สาเหตุ คือ 

1. สาเหตุปฐมภูมิหรือไม่ทราบสาเหตุ เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนตามวัย 

2.  สาเหตุทุติยภูมิคือเข่าเสื่อมที่มีสาเหตุมาก่อน เช่น มีการอักเสบของเข่า มีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับ ข้อเข่า 

ปัจจัยเสี่ยงของโรคข้อเข่าเสื่อม 

อายุมากกว่า 40 ปี เพศหญิงพบมากกว่าเพศชาย ภาวะอ้วน มีประวัติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับข้อเข่า หรือมีอาการอักเสบที่บริเวณข้อเข่ามาก่อน เช่น โรครูมาตอยด์ การติดเชื้อ หรือโรคเกาต์ พันธุกรรม พฤติกรรมที่ต้องงอเข่านานๆ เช่น นั่งยองๆ คุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ ออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกที่หัวเข่า เช่น การวิ่ง กระโดด 

อาการและอาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อม 

อาการในระยะแรก ปวดเข่าเวลามีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน ขึ้นลงบันได นั่งพับเข่า อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพักร่วมกับมีอาการข้อฝืดขัดโดยเฉพาะหยุดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน มีเสียงดังในข้อเวลาขยับ 

อาการในระยะรุนแรง ระดับการปวดมากขึ้น อาจปวดกลางคืน คลำส่วนกระดูกงอกได้ มีอาการเสียวที่ลูกสะบ้าเวลางอเหยียดเข่า หากมีอาการอักเสบข้อเข่าจะบวม ร้อน หากเป็นมากๆ อาจทำให้ไม่สามารถงอหรือเหยียดสุดได้ มีข้อเข่าผิดรูป เช่น เข่าโก่ง

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

แบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลสุขภาพเพื่อถนอมข้อเข่า  การใช้ยาและการฉีดยา  และการผ่าตัด

การดูแลตนเองเพื่อถนอมข้อเมื่อเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

      1.  ปรับเปลี่ยนอิริยาบถและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมในชีวิตประจำวัน

       –   การนั่ง ควรนั่งบนเก้าอี้ที่มีที่รองแขนเพื่อช่วยพยุงตัว ไม่ควรนั่งในท่าที่ต้องงอเข่า เช่น พับเพียบ ขัดสมาธิ คุกเข่า นั่งยองๆ รวมถึงการนั่งพื้นทำกิจกรรมต่างๆ

      –   หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนิ่งๆ นานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบททุกๆ 1-2 ชั่งโมง

      –   หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันได หรือถือของยกของหนัก ควรใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถเข็น  หรือกระเป๋าที่มีล้อ

     2.  ควบคุมน้ำหนักตัว ด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม งดของมันของทอด แป้ง เครื่องในสัตว์หรืออาหารทะเล ร่วมกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมหากเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

     3. การบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและการออกกำลังเพื่อสุขภาพ การบริหารกล้ามเนื้อต้นขา เพราะเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่มีความแข็งแรง จะช่วยเสริมความมั่นคง และชะลอข้อเข่าเสื่อมได้ โดยให้นั่งบนเก้าอี้ นั่งให้เต็มก้น งอเข่าทั้งสองข้างก่อน จากนั้นค่อยๆ ยกขาข้างหนึ่งจนเหยียดตรง เกร็งค้างไว้  นับ 1-10 แล้ววางขากับพื้น สลับขาซ้ายขวา ทำ 20-30 ครั้งต่อรอบ วันละ 2-3 รอบ การออกกำลังเพื่อสุขภาพข้อเข่า  เริ่มตั้งแต่การเดิน ถึงเดินเร็ว การปั่นจักรยาน (โดยเบาะนั่งจะต้องสูงกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อลดการงอเข่าที่มากเกินไป) การว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากแรงพยุงจากน้ำจะช่วยทำให้เข่ารับน้ำหนักน้อยลง ควรออกกำลังกายเป็นประจำให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องหมุนหรือลงน้ำหนักที่ข้อเข่า เช่น วิ่งจ๊อกกิ้ง เทนนิส แบดมินตัน กระโดดเชือก เต้นแอโรบิค ที่สำคัญการออกกำลังกายแบบโยคะ จะทำให้ข้อเข่าหลวม กระดูกสันหลังหลวมจากการแอ่นอก และมีกระดูกทับเส้นประสาทได้

    4. การใช้อุปกรณ์ช่วยเดินและกายภาพบำบัด อุปกรณ์พยุงข้อหรือสนับเข่า ใช้ในกรณีที่ข้อเสื่อมมาก ความมั่นคงเข่าลดลง แต่หากใช้กันยาวนาน ทำให้กล้ามเนื้อรอบๆ ลีบลงได้ ดังนั้นต้องบริหารกล้ามเนื้อควบคู่อุปกรณ์ช่วยเดิน ลดแรงกดที่ข้อเข่าถึง 25% ถือด้านตรงข้ามกับข้างที่ปวด หากเป็นสองข้างให้ถือข้างที่ถนัด การประคบเย็นหรือร้อน สามารถช่วยลดอาการอักเสบ และลดอาการ  ปวดได้

ยาที่ใช้ในโรคข้อเข่าเสื่อม

1. ยาลดอาการปวดและการอักเสบ เช่น พาราเซตามอล ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ แต่ต้องระวังในคนไข้ที่เป็นโรคไต โรคกระเพาะอาหาร โรคหอบหืด หรือโรคหัวใจ รวมถึงยาในกลุ่มอนุพันธ์ฝิ่น ใช้ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรงหรือมีข้อห้ามในการใช้ยากลุ่มอื่น

2.  ยาทาเฉพาะที่ ได้แก่ ยาแก้ปวดและลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และเจลพริก (capsaicin)

3. ยาพยุงหรือลดความเสื่อมของข้อ เช่น glucosamine, diacerein, hyaluronic acid ออกฤทธิ์ช้า  ราคาแพง และใช้ได้ในกรณีข้อเข่าเสื่อมเป็นไม่มาก

4. ยาฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ ใช้ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรงเฉียบพลัน สามารถลดอาการปวดได้ในระยะสั้นๆ 2-4 สัปดาห์ ไม่ควรฉีดต่อเนื่องเป็นประจำเนื่องจากทำลายผิวกระดูกอ่อนได้

 หากทานยาและเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือเข่าเสื่อมมากๆ วิธีสุดท้ายคือการผ่าตัด ซึ่งประกอบด้วย การส่องกล้องล้างข้อเข่า การผ่าตัดปรับแนวข้อ และการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม โดยแต่ละประเภทของการผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยแต่ละรายเอง เพราะการผ่าตัด   แต่ละชนิดมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่พบได้บ่อย และควรให้ความสำคัญ เพราะถ้าหากไม่ได้รับการวินิจฉัย    ที่ถูกต้อง เหมาะสม หรือได้รับการวินิจฉัยล่าช้า ผลที่ตามมาคือการเกิดข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย ส่งผลให้เกิดทุพพลภาพไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันหรือทำงานได้อย่างปกติสุข นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมแล้ว ควรที่จะต้องรู้จักวิธีการปฏิบัติตัวและการดูแลตนเองรู้จักรักษาถนอมเข่าไม่ให้เสื่อมเร็ว     หรือรุนแรงกว่าเดิมนะครับ

……………………………………..