โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

ปวดหัว…เหตุใช้ยาเกินความจำเป็น

ภญ.ทิพวรรณ  วงเวียน             

อาการปวดหัว เป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นแบบไม่ร้ายแรงและไม่รุนแรง เช่น ปวดหัวไมเกรน หรือปวดหัวจากเครียด และประชาชนส่วนใหญ่มักจะซื้อยาแก้ปวด มารับประทานเอง บางครั้งรับประทานยาต่อเนื่องเรื้อรัง ไม่รักษาสาเหตุของการปวดหัว ไม่รับประทานยาป้องกันการเกิดเป็นซ้ำของอาการปวดหัว  จึงทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาแก้ปวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และใช้ยาแก้ปวดบ่อย หรือใช้ยาจำนวนมากเกินความจำเป็นและเกินขนาดยาจึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคปวดหัวที่เรียกกันทั่วไปว่า “โรคปวดหัวเหตุใช้ยาเกิน”

โรคปวดหัวเหตุใช้ยาเกินเกิดขึ้นได้อย่างไร?

               โรคปวดหัวเหตุใช้ยาเกิน เกิดจากการใช้ยาแก้ปวดที่มีค่าระยะครึ่งชีวิตที่สั้น จึงทำให้บรรเทา อาการปวดได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้นจึงทำให้มีอาการปวดหัวอีกเมื่อระดับยาลดลง หรือเมื่อยาแก้ปวด     หมดฤทธิ์ ซึ่งเรียกอาการปวดหัวแบบนี้ว่า “Rebound headache” และเมื่อมีเหตุแบบนี้ซ้ำๆ จึงเกิดการกระตุ้นให้เซลล์สมองมีการสร้างตัวรับการปวดมากขึ้น เช่น ที่บริเวณหนังศีรษะ ส่งผลให้เนื้อเยื่อที่มีตัวรับนี้ไวและมีอาการตอบสนองต่อการปวดหัวมากขึ้น แม้บางครั้งไม่มีตัวกระตุ้นก็อาจมีอาการปวดหัวขึ้นมา  เองได้ต่อมาเมื่อมีอาการบ่อยๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบประสาทส่วนกลางบริเวณก้านสมองทำให้มีการสร้างสารสื่อประสาทบางชนิดมากขึ้น เกิดการเสียสมดุลของสารสื่อประสาทรวมทั้งสุขภาพจิตของผู้ป่วยเอง ที่จะต้องทนต่ออาการปวดรุนแรงและเรื้อรัง ทำให้มักมีความกังวล หงุดหงิด กลัว ซึ่งเป็น    ปัจจัยเสริมซึ่งกันและกัน ที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ง่ายขึ้นและรุนแรงขึ้น

ผู้ที่มีโอกาส / ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคปวดหัวเหตุใช้ยาเกิน

  • ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวไมเกรนปวดหัวจากเครียดที่ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง
  • ซื้อยาแก้ปวดต่างๆ ใช้เองติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาพาราเซตามอลยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด ยาคาเฟอก๊อต ยาแก้ปวดทริปแทน

โรคปวดหัวเหตุใช้ยาเกินมีอาการอย่างไร?

               อาการสำคัญของโรคปวดหัวเหตุใช้ยาเกิน คือมีอาการปวดหัวเกือบทุกวัน ส่วนใหญ่ปวดช่วงเช้าๆหลังตื่นนอน ลักษณะการปวดมีทุกรูปแบบการปวด ทั้งปวดตุ้บๆปวดตื้อๆปวดรัดๆ แน่นๆปวดขมับ ปวดทั่วทั้งศีรษะ มีความรุนแรงมากขึ้น ใช้ยาแก้ปวดก็บรรเทาได้เพียงเล็กน้อย หรือช่วงสั้นๆ จนต้องทำให้ใช้ยาแก้ปวดซ้ำอีก และเพิ่มขนาดยามากขึ้น เรียกว่าเกิดอาการชินต่อยาแก้ปวด และอาการปวดหัวนั้นก็จะรุนแรงมากขึ้นๆ และต้องใช้ยาแก้ปวดมากขึ้นๆ เพื่อควบคุมอาการปวด ร่วมกับมีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ กระวนกระวายซึมเศร้า มือเท้าเย็น หัวใจเต้นเร็ว แน่นคัดจมูก มึนงง ชาปลายมือปลายเท้า   และปวดตามลำตัว แขนขา แต่เมื่อให้การรักษาด้วยการหยุดยาแก้ปวดที่เคยได้ใช้มาทั้งหมดร่วมกับให้ยา    ตัวใหม่รักษาอาการปวดหัวดังกล่าวก็จะดีขึ้น ทั้งนี้ตัวกระตุ้นให้เกิดอาการที่สำคัญ คือ การกินยาแก้ปวด   ที่บ่อยขึ้น และใช้ยาอย่างต่อเนื่องร่วมกับการมีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

               ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตั้งแต่ที่ตนเองเริ่มมีอาการปวดหัวที่บ่อยขึ้น ต้องใช้ยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ เพื่อจะได้รีบหาสาเหตุและรักษาให้ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคปวดหัว   หตุใช้ยาเกิน นอกจากนี้ ควรไปพบแพทย์กรณีที่มีอาการปวดหัวรุนแรง มีไข้ และมีความผิดปกติอื่นๆ  ทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่นอาการชาแขนขา อ่อนแรง เพราะนั่นอาจบ่งบอกว่าเป็นอาการปวดหัวที่มีสาเหตุที่รุนแรง ไม่ใช่ปวดหัวไมเกรนหรือปวดหัวจากเครียด

 

แพทย์วินิจฉัยโรคปวดหัวเหตุใช้ยาเกินอย่างไร?

               แพทย์วินิจฉัยโรคปวดหัวเหตุใช้ยาเกินโดยพิจารณาจากประวัติการปวดหัวที่เคยเป็นประจำ ทั้งการปวดหัวไมเกรนปวดหัวจากเครียด ประวัติการใช้ยาแก้ปวด การตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท โดยทั่วไปเกณฑ์การวินิจฉัยโรคปวดหัวเหตุใช้ยาเกิน มีดังนี้:-

  • มีอาการปวดหัวบ่อย มากกว่า 15 วันต่อเดือน
  • มีประวัติการใช้ยาแก้ปวดทั่วๆ ไป เช่น ยาพาราเซตามอลหรือยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด บ่อยมากกว่า 15 วันต่อเดือน นานมากกว่า 3 เดือน
  • มีประวัติการใช้ยาแก้ปวด คาเฟอก็อต หรือยาแก้ปวดอย่างแรงอื่น เช่นมอร์ฟีน บ่อยมากกว่า 15 วันต่อเดือน นานมากกว่า 3 เดือน
  • อาการปวดหัวรุนแรงมากขึ้นๆ เมื่อใช้ยาแก้ปวดเดิม และอาการปวดหัวดีขึ้นหลังจากรักษา และหยุดยาแก้ปวดนั้นๆ

โรคปวดหัวเหตุใช้ยาเกินก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

               ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของโรคปวดหัวเหตุใช้ยาเกิน คือปัญหาการนอนไม่หลับ สุขภาพจิตที่ไม่ดี เช่น มีความเครียดเรื้อรังซึมเศร้า และเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ปวดขนาดสูงอย่างต่อเนื่อง    เช่นภาวะตับอักเสบโรคแผลในกระเพาะอาหาร และการทำงานของไตลดลง

ควรดูแลตนเองอย่างไร?

               ในผู้ป่วยโรคปวดหัวเหตุใช้ยาเกิน การดูแลตนเองที่ดีนั้น คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่จะทำให้  มีอาการปวดหัวซ้ำได้อีก เช่นความเครียด การอดนอน การพักผ่อนไม่เพียงพอ และการใช้ยาแก้ปวดโดย     ไม่จำเป็นค่ะ

โรคปวดหัวเหตุใช้ยาเกินป้องกันได้หรือไม่?

               โรคปวดหัวเหตุใช้ยาเกิน เป็นโรคที่ป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานร่วมการรักษาสาเหตุการปวดหัว และควรมีการจดบันทึกอาการปวดหัว และการใช้ยาแก้ปวด     เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ใช้ยาแก้ปวดเกินความจำเป็นในแต่ละวัน บางท่านติดยาแก้ปวดจะรับประทาน  แทบทุกวันก็มี ปวดนิดหน่อยก็คว้ายามารับประทาน พฤติกรรมแบบนี้จะต้องรีบแก้ไขนะคะ

*************************