โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

ปริมาณรังสี…..ที่ปลอดภัยจากการถ่ายภาพ X-RAY ทรวงอก?

       การถ่ายภาพรังสีทรวงอกหรือที่มักเรียกกันว่า “เอกซเรย์ทรวงอก” เป็นการเอกซเรย์ที่แพทย์สั่งตรวจเพื่อใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคมากที่สุด เมื่อเทียบกับการถ่ายภาพรังสีส่วนต่างๆ ทั้งหมด โดยท่าที่นิยมใช้ในการถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอกและแพทย์สามารถแปลผลได้ถูกต้องแม่นยำที่สุด คือ การถ่ายภาพรังสีทรวงอกในท่ายืน โดยจัดให้ผู้ป่วยยืนหันหน้าอกเข้าชิดกับอุปกรณ์หรือแผ่นรับภาพ ให้แนวลำรังสีขนาน กับพื้นและเข้าทางด้านหลังในแนวกึ่งกลางลำตัวของผู้ป่วย นักรังสีการแพทย์จะเป็นผู้กำหนดค่าทางเทคนิคการถ่ายภาพรังสีตามลักษณะทางกายภาพของผู้ป่วยซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีแตกต่างกันไป โดยสามารถวัดได้จากปริมาณรังสีที่ผิวหนัง ปริมาณรังสีที่มากเกินไปจะมีผลโดยตรงที่อาจทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ต่างๆ ของผู้ป่วย และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะในร่างกาย หรือเกิดการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นจากผลของการรับรังสีได้

                                      

การถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอกส่วนใหญ่จะทำในการตรวจสุขภาพประจำปี  ก่อนรับการผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีอาการชี้ถึงภาวะโรคเกี่ยวกับปอดและหัวใจ เช่น ไอ เสมหะมีเลือด เจ็บหน้าอก หรือผู้มีอาการน้ำหนักลด อ่อนเพลียซึ่งอาจเป็นวัณโรคปอดได้ ภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอวัยวะภายในทรวงอก เช่น โรคหัวใจ   มะเร็งที่ปอด ภาวะปอดมีฝุ่นจับมาก  ดังนั้นการเอกซเรย์ทรวงอกจะทำเพื่อเตรียมผ่าตัด เพื่อหาสาเหตุของอาการผิดปกติหรือการวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับปอดหรือหัวใจมักจะต้องมีการถ่ายภาพติดตามดูความเป็นไปของโรคบ่อยๆ ส่วนผู้ที่ทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควันมาก จะต้องมีภาพเอกซเรย์ทรวงอกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จึงมีคำถามว่า การเอกซเรย์ทรวงอกบ่อยๆ เป็นอันตรายหรือไม่ ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าการได้รับรังสีแล้วจะเกิดอันตรายแต่ในความเป็นจริงแล้วจะต้องขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ และระยะเวลาในการได้รับรังสีด้วย

การวัดปริมาณรังสีมีความสำคัญต่อผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงานด้านรังสีการแพทย์ ดังที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ  รายงานไว้ว่า ปริมาณรังสีที่ผิวหนังจากการถ่ายภาพรังสีทรวงอกใน ท่ายืน โดยวัดที่บริเวณผิวหนังนั้นไม่ควรมากกว่า 0.40 มิลลิเกรย์ จึงจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย สำหรับหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ Institute of Physical Sciencesin Medicine (IPSM), European Commission (EC), NationalRadiological Protection Board (NRPB) กำหนดให้ไม่ควรมากกว่า 0.3 มิลลิเกรย์ โดยโรงพยาบาลจะต้องแสดงค่าปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับเมื่อตรวจติดตามและกำหนดเป็นกฎหมาย ซึ่งผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีความรู้ด้านการวัดรังสีและการลดรังสี เพื่อป้องกันไม่ให้มีปริมาณรังสีจากการถ่ายเอกซเรย์ตกค้างในตัวผู้ป่วยจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้

   ในประเทศไทยได้มีงานวิจัยที่ทำการศึกษาปริมาณรังสีที่ผิวของผู้ป่วยที่ได้รับจากการถ่ายภาพรังสีทรวงอกในท่ายืน หลายแห่งที่นำมาใช้เป็นค่าอ้างอิงที่เป็นการช่วยควบคุมมิให้มีการใช้ปริมาณรังสีที่เกินความจำเป็น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเชิงทดลองที่พบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปริมาณรังสีที่ตกค้างในตัวผู้ป่วย ได้แก่ ปริมาณรังสีจากเครื่องเอกซเรย์ ค่าความหนาของทรวงอกที่ตัวผู้ป่วย ค่าความต่างศักย์ของหลอดเอกซเรย์ ค่ากระแสหลอดเอกซเรย์และค่าเวลาในการฉายรังสี ผลการวิจัยดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการปรับแต่งค่ารังสีให้ปลอดภัยกับผู้ป่วย และพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับนักรังสีการแพทย์ ทั้งด้านการวัดและการปรับลดปริมาณรังสี

 

 

            เมื่อปี พ.ศ. 2555 ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ได้ทำการศึกษาปริมาณรังสีที่ผิวหนังของผู้ป่วยที่ได้รับจากการถ่ายภาพรังสีทรวงอกในท่ายืน จำนวน 400 คน เป็นเพศหญิงจำนวน 238 คน (59.5%) และเพศชายจำนวน 162 คน (40.5%) มีอายุเฉลี่ย 39.7±11.9 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 57.9±7.3 กิโลกรัม ส่วนสูงเฉลี่ย 161.9±6.0 เซนติเมตร ค่าความหนาทรวงอกเฉลี่ย 22.3±1.8 เซนติเมตร    ค่าความต่างศักย์ไฟฟ้าที่หลอดเอกซเรย์ท่ากับ 100 kVp ค่ากระแสไฟฟ้าที่หลอดคูณกับเวลาในการถ่ายภาพเฉลี่ย 4.1±1.2 mAs พบว่าผู้ป่วยมีปริมาณรังสีที่ผิวจากการถ่ายภาพรังสีทรวงอกในท่ายืนเฉลี่ย 0.21±0.07  มิลลิเกรย์ ซึ่งมีค่าต่ำกว่าค่าปริมาณรังสีมาตรฐานที่กำหนดไว้ที่น้อยกว่า 0.40 มิลลิเกรย์ ซึ่งเป็นการยืนยันให้เห็นถึงความปลอดภัยกับผู้ป่วยที่ได้รับการถ่ายภาพรังสีทรวงอกในท่ายืนที่โรงพยาบาล

   การศึกษายังพบว่าผู้ป่วยที่มีโอกาสได้รับปริมาณรังสีที่ผิวหนังมากกว่า หรือเท่ากับ 0.3 มิลลิเกรย์ ได้แก่ เพศชาย ผู้ป่วยที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 60 ปี ผู้ป่วยที่น้ำหนักมากกว่าหรือเท่ากับ 60 กิโลกรัม ผู้ป่วยที่มีความหนาทรวงอกมากกว่า 20 เซนติเมตร และผู้ป่วยที่ได้รับการถ่ายภาพรังสีที่มีกระแสไฟฟ้าที่หลอดเอกซเรย์คูณเวลาในการถ่ายภาพ มากกว่า 5.0 mAs ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ควรระมัดระวังการปรับตั้งค่าเทคนิคทางรังสีในผู้ป่วยเพศชายผู้ป่วยที่อายุมากและผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน เนื่องจากมีโอกาสได้รับปริมาณรังสีที่ผิวหนังมากเกินกว่าค่ามาตรฐาน ผลการศึกษายังสามารถนำไปปรับใช้ในการศึกษาปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับจากการถ่ายภาพรังสีของอวัยวะต่างๆ ต่อไป เพื่อนำไปศึกษาและกำหนดค่าเทคนิคต่างๆ ในการถ่ายภาพรังสีให้เหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีในระดับที่ปลอดภัย ซึ่งการใช้ปริมาณให้รังสีน้อยที่สุด  และให้ได้ภาพรังสีที่มีรายละเอียดเพียงพอในการวินิจฉัยโรคของแพทย์นั้นเป็นหลักสำคัญของวิชาชีพรังสีเทคนิค

————————————