โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

มารู้จัก…แคลเซียมกันก่อน…นะคะ

 ถ้าคิดปริมาณแคลเซียมที่มีทั้งหมดในร่างกาย เป็น 100 ส่วนแล้วพบว่า 99 ส่วน อยู่ที่กระดูกและฟัน เหลืออีก 1 ส่วน อยู่ในกระแสเลือด

 แคลเซียมมีหน้าที่สำคัญกับร่างกายโดยช่วยการทำงานของระบบประสาท ปรับสมดุลความดัน ลดการเกิดตะคริว เพิ่มแร่ธาตุให้ฟัน ป้องกันกระดูกพรุน และช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

–  ถ้าร่างกายมีแคลเซียมต่ำเกินไประบบประสาทจะไวเกิน กล้ามเนื้อจะกระตุก ความดันโลหิตจะสูงขึ้น

– ถ้าร่างกายมีแคลเซียมมากเกินไประบบประสาทจะถูกกด ทำให้กล้ามเนื้อไม่ทำงาน อ่อนเพลียหัวใจเต้นอ่อนจนถึงหยุดเต้นได้

      ถ้าระดับแคลเซียมในเลือดต่ำลง เช่น รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย หรือดูดซึมแคลเซียมได้ไม่ดี จะมีผลไปดึงแคลเซียมจากกระดูกเข้ามาที่เลือด ทำให้กระดูกบางลงจนเกิดโรคกระดูกพรุนได้ในที่สุด

บทบาทของแคลเซียมกับภาวะกระดูกพรุน

        มีข้อมูลทางวิชาการบอกว่าผลึกแคลเซียมที่เรียงตัวอยู่ในกระดูกของเรา โครงสร้างเหมือนผลึกเพชร ดังนั้นลองนึกดูว่ากระดูกจะแข็งแรงขนาดไหน   หรือถ้าเปรียบเทียบให้ใกล้ตัวเรามากขึ้น ลองนึกถึงบ้าน บ้านทรงตัวอยู่ได้ด้วยเสา ตึกสูงๆ ก็ต้องใช้เสาเข็ม ใช้เหล็กใช้ปูนที่มีคุณภาพ ร่างกายเราจะคงเป็นรูปร่าง ทรงตัวอยู่ได้ก็เพราะกระดูก ถ้าเสาไม่แข็งแรง วันดีคืนดีบ้านอาจพังถล่มลงมาได้ โดยธรรมชาติแล้วกระดูก   มีการละลาย และมีการสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา

  ภาวะกระดูกพรุน หมายถึงความหนาแน่นของกระดูกน้อยลง ทำให้กระดูกอ่อนและเปราะ กระดูกส่วนที่มีโอกาสแตกหักได้ง่าย ได้แก่ กระดูกข้อมือ สะโพก กระดูกสันหลัง

สาเหตุของการเกิดภาวะกระดูกพรุน

  1. ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยหนุ่มสาว
  2. กรรมพันธุ์ ถ้ามีปู่ ย่า ตา ยาย เป็นโอกาสที่เราจะเป็นมีถึง 80% และเพศหญิงที่มีผิวขาวน้ำหนักตัวน้อยซึ่งไม่ได้รับ แสงแดด โอกาสที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าผิวดำ
  3. การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากันชัก ยาลดกรด ยารักษาไทรอยด์ การฉายรังสี
  4. แอลกอฮอล์ บุหรี่ ไปลดประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียมทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง
  5. คาเฟอีนที่มีในชา กาแฟ เครื่องดื่มโคล่า จะเร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย
  6. ภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้ประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียมลดลง และมีการสลายกระดูกมากขึ้น
  1. การไม่เคลื่อนไหว การไม่ออกกำลังกาย เช่น นอนพักฟื้น นั่งรถเข็น
  2. ขาดวิตามินดี คนไทยไม่ค่อยมีปัญหา เพราะประเทศไทยเรามีแสงแดดตลอดทั้งปี
  3. การลดน้ำหนักตัวลงอย่างรวดเร็ว เพราะอดอาหาร ขาดอาหาร ทำให้ขาดแร่ธาตุไปด้วย

แหล่งของแคลเซียม

       เราพบแคลเซียมได้จากแหล่งอาหารมากมายทั้งจากสัตว์ พืชผักผลไม้ เครื่องปรุงรส นม และจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เราทราบกันอยู่แล้วว่านมเป็นแหล่งอาหารที่ให้แคลเซียมสูง

           – ในนมวัว 100 ซีซี ให้แคลเซียม 120 มก. (นม 250 ซีซี ให้แคลเซียม 300 มก.)
           – ส่วนนมแม่ 100 ซีซี ให้แคลเซียม 30 มก.

          สำหรับกระดูกก็เป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีเช่นกัน แต่ควรเป็นกระดูกที่เราสามารถเคี้ยวได้ เช่น ปลาเล็กปลาน้อย ปลาไส้ตัน ปลาเห็ดโคน
กระดูกปลาซาร์ดีน

         ลองมาดูปริมาณแคลเซียมจากอาหารต่างๆ ที่เรามักจะรับประทานกันในชีวิตประจำวันว่าเรารับประทานอาหารที่มีแคลเซียมในแต่ละวัน
นั้นมีความเหมาะสมกับร่างกายของเราหรือยัง ?

ตารางแสดงปริมาณแคลเซียมในอาหาร 100 กรัม 

หมวดอาหาร

น้ำหนักอาหาร 100 กรัม

ปริมาณแคลเซียม (มก.)

มากกว่านม…..เท่า

นม

นมสด

นมพร่องมันเนย

นมขาดมันเนย

นมถั่วเหลือง

120

123

126

18

เท่ากัน

เท่ากัน

เท่ากัน

น้อยกว่า

เนื้อสัตว์

ปลาร้าผง      

กุ้งแห้งตัวเล็ก  

ปลาเล็กปลาน้อย

ปลากระป๋อง(ปลาซาร์ดีน)

ปลาไส้ตัน

2,400

2,300

2,100

1,300

220

20

19

17

11

1.8

พืชผัก

ยอดแคอ่อน

ยอดสะเดา

ใบชะพลู

ใบยอ

มะขามฝักสด

ผักกระเฉด

ใบโหระพา

ใบกระเพรา

ถั่วแดงหลวง

เต้าหู้ขาว

ผักคะน้า

งาดำคั่ว

400

350

600

840

430

390

340

310

960

250

250

1,450

3.3

3

5

7

3.6

3.2

3

2.5

8.1

2

2

12.3

เครื่องปรุง

กะปิ

1,550

13.2

ผลิตภัณฑ์                 เสริมอาหาร

แคลเซียมคาร์บอเนต

แคลเซียมซิเตรท

แคลเซียมกลูโคเนต

แคลเซียมแลกเตท

แคลเซียมฟอสเฟต

40%

21%

9%

13%

38%

 

                 ในชีวิตจริงคนเราต้องอย่าลืมนึกถึงว่า เรารับประทานอาหารเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เช่น เราเห็นแล้วว่า  นม 100 ซีซี (1 ขีด) ให้แคลเซียม 120 มก. ส่วนงาดำคั่ว 1 ขีด ให้แคลเซียม 1450 มก. ถ้ามองเผินๆ เราจะคิดว่า งั้นเราหันมารับประทานงาดำคั่ว เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนกันดีมั้ย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปริมาณงาดำคั่วที่เรารับประทานในแต่ละครั้ง แต่ละคน สมมติว่าประมาณ 2 ช้อนชา (6 กรัม) ซึ่งมีแคลเซียม ไม่ถึง 90 มก. ขณะที่ดื่มนม 1 แก้ว 250 ซีซี ให้แคลเซียม 300 มก. แคลเซียมที่มีใน ถั่ว งา พืชผักต่างๆ ถือว่าเป็นส่วนเสริม เพราะเรารับประทานได้ไม่มาก และที่สำคัญคือ ในพืชผัก ธัญพืชต่างๆ ก็มีสารที่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมอยู่ ได้แก่ สารไฟเตทในธัญพืช สารออกซาเลทในผัก ดังนั้นปริมาณแคลเซียมที่มีในอาหารไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่จะบ่งบอกถึงการที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ แต่ขึ้นกับความสามารถในการนำแคลเซียมจากอาหารมาใช้

 ———————————————–