โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

นานาสาระ….เกี่ยวกับนมแม่

         มีหลายคนที่ได้มีคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องนมแม่ แต่ไม่สามารถที่จะหาแหล่งสอบถามได้อย่างถูกต้อง และเชื่อถือได้ ในวันนี้ก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำข้อมูลจากการปฏิบัติงานและมีประสบการณ์ตรงในการทำงานมาเผยแพร่ให้ท่านได้รับทราบกันนะคะ ซึ่งเป็นคำถามที่มีคนสอบถามบ่อยและเป็นจำนวนมาก

         

ถาม :      ขนาดของเต้านมมีผลต่อปริมาณของการผลิตน้ำนมหรือไม่  ?

ตอบ :     ขนาดของเต้านมไม่สัมพันธ์กับการสร้างน้ำนม ขนาดของเต้านมขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันในเต้านม แต่ส่วนที่สร้างน้ำนมคือต่อมและท่อน้ำนม
  ซึ่งคุณแม่ทุกคนจะมีปริมาณเท่ากัน หากให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธี นั่นคือจะต้องให้ลูกอ้าปากกว้างและดูดให้ถึงลานนม และดูดบ่อยๆ น้ำนมก็จะมีมากตามความต้องการของลูก

ถาม :      อยากให้ลูกได้นมแม่แต่กังวลว่าจะทำให้ทรวดทรงเสียจริงหรือไม่ ?

ตอบ :     ไม่จริงค่ะ คุณแม่ไม่ต้องกังวลนะคะ เพียงแต่อุ้มลูกโดยใช้หมอนรองตัวลูกขึ้นดูดนมให้ระดับพอดีกับเต้านมของแม่ ไม่ก้มลงไปให้ลูกดูด
  ในระดับที่ต่ำกว่าเต้านม และใส่เสื้อชั้นในสำหรับการให้นมเท่านี้คุณแม่ก็จะสะดวกและได้รักษาทรวดทรงได้ด้วยนะคะ

ถาม :      ระหว่างที่น้ำนมยังไม่มา ลูกจะรับประทานอะไร ต้องให้นมผสมหรือไม่ ?

ตอบ :     ไม่จำเป็นค่ะ ช่วงวันแรก ๆ ทารกยังไม่ต้องการอาหารมากมาย เพราะยังมีอาหารสะสมมาจากในท้องแม่ ไม่ต้องกังวลว่าน้ำนมจะไม่พอ
 กระเพาะของเด็กแรกเกิดมีขนาด 20 
cc หรือเท่ากับ 4 ช้อนชาเท่านั้น หากคุณแม่ให้อะไรที่เกินกว่านั้น กระเพาะของลูกจะกางออกก่อนความจำเป็น
 ทีนี้ก็จะต้องเสริมนมกันไปตลอด นมแม่ก็จะกลายเป็นมีไม่เพียงพอกับความต้องการของทารกที่กระเพาะกางออกมา

ถาม :      ถ้าคุณแม่ผ่าท้องจะมีนมให้ลูกหรือไม่ ?

ตอบ :     มีค่ะ เพราะน้ำนมสามารถมาได้เร็วเหมือนคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ เพียงคุณแม่ใช้หลักการกระตุ้น  ที่เหมือนกันคือ
 ดูดเร็ว ดูดบ่อย และดูดถูกวิธี ในกรณีที่คุณแม่ได้รับยาสลบเมื่อรู้สึกตัวสามารถนำลูกมาดูดนมได้เลย หากอ่อนเพลียมากคุณแม่สามารถใช้ท่านอนให้นมลูก
 หากเจ็บแผลคุณแม่  ก็สามารถใช้ท่าอุ้มลูกฟุตบอลได้

ถาม :      เด็กเกิดก่อนกำหนดรับประทานนมแม่ได้หรือไม่ ?

ตอบ :     ได้ค่ะและเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะทำ น้ำนมแม่ของทารกที่เกิดก่อนกำหนดจะมีส่วนประกอบที่เหมาะสมของร่างกาย
  และความต้องการของทารก อีกทั้งยังมีสารที่ให้ภูมิต้านทานโรค รวมถึงสามารถให้แคลอรี่เพียงพอแก่การเจริญเติบโตของทารกที่เกิดก่อนกำหนดอีกด้วย

ถาม :      ทารกชอบหลับเวลาดูดนมแม่ จะมีวิธีแก้ไขอย่างไรดี ?

ตอบ :     วิธีแก้ไขที่ถูกต้องก็คือคุณแม่จะต้องสังเกตดูว่าตัวทารกอุ่นไปหรือไม่ หากน้องห่อตัวและอบอุ่นมากเกินไป ก็จะทำให้ทารกง่วงและหลับไปก่อนที่จะดูดนมได้อิ่ม

ถาม :      ถ้าให้นมแม่แก่ทารกอยู่แล้ว แต่สงสัยว่าจะให้นมผสมได้หรือไม่ ?

ตอบ :     อยากให้คุณแม่ลดการให้นมผสม หากกลัวลูกไม่อิ่มควรเปลี่ยนมาให้นมแม่บ่อยและนานขึ้น จะดีกว่านะคะ
  เพราะนมผสมจะไปขัดขวางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ลูกอาจไม่ยอมกลับมาดูดนมแม่อีก ที่สำคัญนมผสมทำให้ลูกดูดนมแม่น้อยลง คุณแม่จะผลิตนมน้อยลงจนหมดไปในที่สุด

ถาม :      จากการดื่มนมแม่ต้องเป็นเวลา หรือต้องจำกัดเวลาให้ว่าต้องข้างละกี่นาทีหรือไม่ ?

ตอบ :    ไม่จำเป็นค่ะ โดยเฉพาะระยะแรกของการให้นมแม่ ระยะนี้เป็นระยะที่ทั้งลูกและคุณแม่ปรับตัวเข้าหากัน การให้ลูกดูดนมบ่อยๆ
 กลับเป็นการดี เพราะจะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมของคุณแม่ และคุณแม่ไม่ควรดูเวลาหรือจับเวลาขณะให้นมลูก

ถาม :      เมื่อลูกดื่มนมแม่แล้วมีน้ำหนักน้อยควรจะทำอย่างไร ?

ตอบ :   การที่ลูกน้ำหนักมากหรือน้อย ตัวเล็กหรือตัวใหญ่อาจจะต้องดูตามโครงสร้างของคุณพ่อคุณแม่ หากคุณพ่อคุณแม่ตัวเล็กจะให้ลูกตัวโตคงยาก
เกณฑ์วัดน้ำหนักที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของลูกที่ได้นมผสมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะมากกว่าเด็กที่ดื่มนมแม่
เพราะเด็กที่ดื่มนมผสมจะมีไขมันสะสมมากกว่า และน้ำหนักมากกว่า เพราะฉะนั้นอยากจะแนะนำคุณแม่ว่า
น้ำหนักและส่วนสูงไม่สำคัญเท่ากับการที่ลูกมีพัฒนาการสมวัย ลักษณะร่าเริงดี สุขภาพดี รับประทานได้  นอนหลับ ไม่มีโรค
เท่านี้คุณแม่ทุกคนก็น่าจะเพียงพอและเลิกกังวลได้แล้วนะคะ

ถาม :      ลูกดื่มนมแม่อย่างเดียวน้ำหนักควรขึ้นเท่าไหร่ ?

ตอบ :     ประมาณเดือนละ 600 กรัม พออายุ 6 เดือน น้ำหนักควรเป็น 2 เท่าของแรกเกิด และเมื่ออายุ 1 ปี น้ำหนักควรเป็น 3 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด

ถาม :      อาหารเสริมควรเริ่ม และมีปริมาณเท่าไหร่ ?

ตอบ :     การให้อาหารเสริมเป็นการปูทางสู่การรับประทานอาหาร โดยเริ่มมื้อแรกเมื่ออายุ 6 เดือน มื้อที่ 2 ประมาณ 7 – 8 เดือน และครบ 3 มื้อตอนอายุครบ 9 เดือน

ถาม :      ขอข้อมูลเกี่ยวกับอาหารที่คุณแม่ควรจะรับประทาน หรือบำรุงตอนให้นมลูกมีอะไรบ้าง ?

ตอบ :     คุณแม่ควรรับประทานอาหารปริมาณ 1 เท่าครึ่งของเวลาปกติ คุณแม่จะได้ไม่อ่อนเพลีย และอย่างเพิ่งคิดอดอาหาร
หากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เต็มที่น้ำหนักคุณแม่จะลดลงเข้าที่เอง ภายในระเวลา 7 – 8 เดือน จำไว้ว่าทุกสิ่งที่เรารับประทานอาหารเข้าไปคือทุกสิ่งที่ลูกจะได้รับ
เพราะฉะนั้นควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และควรให้แน่ใจว่ามีโปรตีนด้วยทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ นม ไข่ ปลา เต้าหู้ ถั่ว อาหารทะเล
อาหารจานเด็ดเพิ่มน้ำนม ได้แก่ แกงเลียง แกงหัวปลี ไก่หรือหมูผัดขิง อาหารจากปลาทุกชนิด เครื่องดื่มอุ่นๆ ตลอดวัน (น้ำเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำนม)

ถาม :      นมแม่หลัง 6 เดือนแล้ว คุณค่าอาหารลดลงหรือไม่ ?

ตอบ :     นมแม่หลัง 6 เดือนยังมีคุณค่าอยู่ค่ะ ให้ต่อไปจน 2 ปี หรือนานกว่านั้นก็ได้ค่ะ นอกจากมีคุณค่าคงเดิมแล้ว ยังทำให้ลูกได้รับภูมิคุ้มกันจากคุณแม่
  และยังช่วยในเรื่องการพัฒนาสมองอีกด้วย

ถาม :      ควรให้นมแม่นานเท่าไรดีคะ ?

ตอบ :     การให้นมแม่เพื่อที่ลูกจะได้คุณค่าเต็มที่สมบูรณ์ที่สุด คือการให้นมแม่อย่างเดียว 6 เดือน โดยไม่ต้องให้น้ำนมผสม หรืออาหารเสริมเลย
 ในช่วงนั้นหลังจาก 6 เดือนก็ให้นมแม่ควบคู่ไปกับอาหารจนลูกอายุ 2 ปี หรือมากกว่านั้น นมแม่มีส่วนให้สมองของลูกมีการเจริญพัฒนาได้เต็มที่

ถาม :      ให้นมแม่แล้วต้องให้ดื่มน้ำหรือไม่ ?

ตอบ :     ไม่จำเป็นเพราะในนมแม่มีส่วนประกอบของน้ำถึง 90% นอกจากนั้นกระเพาะเด็กทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน
  มีขนาดเล็กมากหากน้ำเข้าไปแย่งเนื้อที่น้ำนมแม่ในกระเพาะแล้ว ลูกจะได้น้ำนมแม่น้อยลง และน้ำยังไปล้างภูมิคุ้มกัน
  ที่มีอยู่ในน้ำนมแม่ซึ่งเคลือบปากลูกไว้ออกไปอีกด้วย
               

               นมแม่ มีผลดีต่อสุขภาพทารกในด้านเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค  ลดการติดเชื้อทางระบบหายใจ  และโรคอุจจาระร่วง  ลดโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ 
เสริมสร้างสมองให้ว่องไวในการเรียนรู้ เพิ่มระดับเชาว์ปัญญาของทารก 

               ผลดีต่อสุขภาพของคุณแม่ที่ให้นมแม่แก่ทารก นั้นมีมากทั้งทางด้านการป้องกันภาวะตกเลือด  หลังคลอด  ช่วยการคุมกำเนิด  ช่วยลดน้ำหนักแม่ในระยะหลังคลอด  ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงหากเคยเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่นาน 12 เดือนขึ้นไป  ลดความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนเนื่องจากการสร้างมวลกระดูกจะสูงมากหลังหยุดให้นมแม่และจะยังมีผลต่อไปอีก 5 – 10 ปี  และลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะ   มะเร็งเต้านมได้อีกนะคะ….สรุปแล้วสุดยอดอาหารของทารกก็คือน้ำนมแม่นี่เอง…. เมื่อรู้ประโยชน์ของ   นมแม่กันแล้วหวังว่าทุกท่านคงหันมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันมากขึ้นนะคะ…..สวัสดีค่ะ

……………………………………………..