โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

ถาม  :    สมมติว่าก้าวเท้าพลาดตกบันได ข้อเท้าพลิก มีอาการปวด บวมมาก จะทราบได้อย่างไรว่า กระดูกหักหรือไม่ ?

ตอบ  :   อาการ และอาการแสดงที่บ่งบอกว่ากระดูกอาจจะหัก มีดังนี้:

         – ปวด โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อกดบริเวณกระดูกตาตุ่ม (ด้านใน และ/หรือด้านนอก)

         – บวม และ/หรือมีเลือดออกชั้นใต้ผิวหนัง

– ลงน้ำหนักไม่ได้ ลงแล้วปวด

– ขยับข้อเท้าไม่ได้  มีอาการปวดมาก หรือบวมมาก

– ผิดรูป ข้อเท้าบิดเบี้ยวไปจากปกติ (มักจะเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรง)

ข้อควรระวังในผู้ป่วยที่มีอายุมาก หรือผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วอาจจะมีโอกาสกระดูกหักได้ง่ายกว่า

 

ถาม  :    วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อได้รับการกระทบกระแทก แบบไม่มีแผลเปิด ควรจะทำอย่างไรดี ?       

ตอบ  :    – พัก ควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่มากเกินความจำเป็น

– ใช้ผ้าขนหนูสะอาดห่อน้ำแข็งประคบใน 48 ชั่วโมงแรกหลังเกิดอุบัติเหตุ (จะช่วยลดอาการปวด                     
   และบวมได้)

– ใช้ผ้ายางยืด (elastic bandage) พัน ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยา (วิธีพันหาอ่านได้จากอินเตอร์เนตครับ)

– กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ยาต้านอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์

– ยกอวัยวะส่วนที่บาดเจ็บให้อยู่เหนือระดับหัวใจ (เอาหมอนรองใต้ขา หรือแขน)

– พบแพทย์ทันที หากมีการบาดเจ็บที่รุนแรง หรือเกิดในผู้ป่วยสูงอายุ

ถาม  :    การปฐมพยาบาลเมื่อกระดูกหัก หรือข้อหลุดเคลื่อน มีวิธีอย่างไรบ้าง ?

ตอบ  :    – หากกระดูกหักจากอุบัติเหตุรุนแรง เช่น รถชน รถคว่ำ ควรเรียกรถพยาบาล เพราะการเคลื่อนย้าย
                 ผู้ป่วยที่ไม่ถูกวิธีอาจจะเกิดอันตรายที่ร้ายแรงได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง  
                 ถ้าหากมีเลือดออกจากบาดแผลจะต้องใช้ผ้าสะอาดกดห้ามเลือดก่อน

– หากกระดูกแทงทะลุออกมานอกผิวหนัง ไม่ควรพยายามจัด หรือดึงกระดูกกลับเข้าที่เดิมทันที
    เพราะจะเพิ่มความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย และอาจจะทำให้แผลติดมีโอกาสติดเชื้อมากยิ่งขึ้น

– สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กระดูกหัก หรือข้อหลุดเคลื่อนคือจะต้องป้องกันไม่ให้มีการ
   เคลื่อนไหว โดยการดามด้วยเฝือก หรืออาจใช้ของที่มีความแข็งแทนได้ เช่น ร่ม ท่อนไม้ นิตยสาร

  หรือหนังสือพิมพ์ที่นำมาม้วน หากพื้นผิวของวัสดุไม่เรียบให้ใช้ผ้าขนหนู หรือผ้าห่มรองไว้ชั้นในก่อน

– อุปกรณ์ที่ดามควรมีความยาวมากกว่าอวัยวะส่วนที่หักเล็กน้อย ผูกอุปกรณ์ดามด้วยเชือก เนคไท
   ผ้าพันคอ ตามแต่จะหาได้ในเวลานั้น ไม่ควรผูกให้แน่นเกินไปเพราะจะทำให้เลือดไหลเวียน
   ไม่สะดวก หากบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ หรือมีอาการชา ให้รีบคลายเฝือกออกทันที

ถาม  :    แคลเซียมคืออะไร ?

ตอบ  :   แคลเซียมเป็นเกลือแร่ที่พบอยู่มากที่สุดในร่างกายมนุษย์ประมาณร้อยละ 1.5 ถึง 2 ของน้ำหนักร่างกายโดยรวมในวัยผู้ใหญ่ ฟันและกระดูกเป็นแหล่งที่ประกอบด้วยแคลเซียมมากที่สุดของแคลเซียมที่มีอยู่ทั้งหมดในร่างกาย คิดเป็นประมาณร้อยละ 99 ร่างกายนำแคลเซียมมาใช้ในการสร้างกระดูก เช่นเดียวกับเนื้อเยื่ออื่นๆ ในร่างกาย เนื้อเยื่อกระดูกมีการดูดแคลเซียมกลับคืน และสร้างกระดูกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่มีปริมาณแคลเซียมพอเพียงอยู่ตลอดเวลาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อรักษาวงจรนี้ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลาของชีวิตที่มีการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน ระยะเวลาในการตั้งครรภ์และให้นมบุตร

ถาม  :    เราจำเป็นจะต้องรับประทานแคลเซียมเสริมหรือไม่ อย่างไร ?

ตอบ  :    ผมขอแบ่งเป็นตารางเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังนี้

ช่วงอายุ

ความต้องการแคลเซียม (มก.ต่อวัน)

วัยเด็ก    

800-1000

วัยหนุ่มสาว         

800-1000

วัยกลางคน และวัยสูงอายุ

1200

หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร

1200

ถ้าจะให้นึกภาพออกว่าแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมนั้นมีแค่ไหน ก็อาจใช้ตัวอย่างนมกล่องซึ่งมีแคลเซียมประมาณ 300 มิลลิกรัมต่อกล่อง (ขนาด 250 มิลลิลิตร)

อาหาร

ปริมาณที่บริโภค

ปริมาณแคลเซียม

(มิลลิกรัม)

นม

   1 กล่อง (250 มิลลิลิตร)

300

นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม

   1 กล่อง (250 มิลลิลิตร)

250 – 300

โยเกิร์ต

   1 ถ้วย

157

นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม

   1 กล่อง (180 มิลลิลิตร)

106

ยาคูลท์

   1 ขวด

 38

เต้าหู้อ่อน

   5 ช้อนโต๊ะ

150

ปลาเล็กปลาน้อยทอด

   2 ช้อนโต๊ะ

226

ปลาซาร์ดีนกระป๋อง

   2 ช้อนโต๊ะ

 90

กุ้งแห้ง

   1 ช้อนโต๊ะ

140

หอยนางรม

   6 ตัว

300

ผักคะน้าผัด

   1 ทัพพี

 71

ยอดดอกแค

1/2 ขีด (50 กรัม)

198

ใบยอ

1/2 ขีด (50 กรัม)

420

บรอคโคลี่

2/3 ถ้วย

 88

ถั่วแระต้ม

   1 ขีด (100 กรัม)

194

งาดำ

   1 ช้อนโต๊ะ

132

(ข้อมูลจากตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)

ดังนั้น ถ้าจะตอบคำถามที่ว่าเราควรจะรับประทานแคลเซียมเสริมหรือไม่ ก็คงจะขึ้นอยู่กับประเภท
และปริมาณอาหารที่แต่ละคนรับประทานในแต่ละมื้อ แต่ละวัน บางคนอาจได้แคลเซียมเพียงพอ   บางคนอาจรู้สึกว่าไม่เพียงพอ และคิดว่าต้องรับประทานเพิ่มแคลเซียมเม็ดดีกว่า อย่างไรก็ตามถ้าท่านซื้อแคลเซียมเสริมก็ไม่จำเป็นจะต้องรับประทานตามที่ฉลากขวดแนะนำไว้ และไม่จำเป็นจะต้องรับประทานทุกวัน เพราะแคลเซียมเก็บสะสมที่กระดูกได้  หลายคนไม่อยากจะคำนวณปริมาณแคลเซียมในอาหารก็ใช้วิธีดื่มนม   1 กล่อง หรือรับประทานโยเกิร์ต 1 ถ้วยทุกวัน ก็เท่ากับได้รับแคลเซียมประมาณ 25–30% แล้ว ที่เหลือ  อีก 70–75% ก็คาดว่าจะได้รับจากอาหารอื่นๆ ก็น่าจะเพียงพอแล้วนะครับ

คนไทยเราโชคดีกว่าชาวตะวันตกในเรื่องการดูดซึมแคลเซียม จากผลการวิจัยพบว่า คนไทยมีพันธุกรรมที่ทำให้เราสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดีกว่าชาวตะวันตก แต่ถ้าท่านยังต้องการรับประทานแคลเซียมเสริมก็ควรเลือกชนิดเม็ดที่มีราคาไม่แพง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นยาเม็ดฟองฟู่ที่มีราคาสูงครับ

อีกปัจจัยที่มีความสำคัญต่อสมดุลแคลเซียมคือ วิตามินดี ซึ่งมีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เราได้รับวิตามินจาก 2 แหล่ง คือ ได้จากอาหารซึ่งเป็นส่วนน้อยเนื่องจากต้องเป็นอาหารประเภทนม และปลาทะเลที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน เป็นต้น อีกแหล่งก็คือ ร่างกายของเราเองสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้โดยอาศัยปฏิกิริยาจากแสงอัลตราไวโอเล็ตในแสงแดดต่อผิวหนัง ดังนั้นเราควรได้รับแสงแดดบ้าง เช่น แสงแดดในช่วงเวลา 8.00-10.00 น. และเวลา 15:00-17:00 น.

** ออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (weight-bearing exercise) อย่างสม่ำเสมอ

ควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้งๆ ละ 30นาที โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และวัยหมดประจำเดือน  เน้นการออกกำลังกายที่ลงน้ำหนักแบบไม่หนัก เช่น เดินไกล วิ่งเหยาะๆ รำมวยจีน เต้นรำ          

** หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน

ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พยายามลดเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เพราะจะทำให้การดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ลดลง ระวังการใช้ยาสเตียรอยด์ (ที่อาจอยู่ในรูป ยาชุด ยาสมุนไพร
ยาต้ม ยาลูกกลอน) ซึ่งมีผลจะทำให้เกิดกระดูกพรุนมากขึ้น       

 

ถาม  :    ถ้ารับประทานแคลเซียมเสริมเยอะไปจะมีโทษหรือไม่ ?

ตอบ  :   สิ่งใดที่มากเกินไป มากเกินจำเป็นก็ไม่มีผลดีอยู่แล้วครับ โดยทั่วไปร่างกายจะขับถ่ายแคลเซียม ส่วนเกินในอุจจาระและปัสสาวะ แต่ถ้าได้รับแคลเซียมมากเกินไปเป็นเวลานานๆ ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดแคลเซียมสะสมในเนื้อเยื่อต่างๆ รบกวนการทำงานของอวัยวะนั้นๆ อาจมีอาการปัสสาวะบ่อย ท้องผูก เบื่ออาหาร หรือเกิดนิ่วในไตได้

ถาม  :    วิธีการแก้หลังค่อม ไหล่ห่อ คางยื่น (โดยเฉพาะในวัยรุ่น วัยกลางคน) ทำได้อย่างไร ?

ตอบ  :   ลักษณะดังกล่าว ทำให้ดูเสียบุคลิก ซึ่งพบมากในคนผอม เกิดจากกล้ามเนื้อด้านหลังตั้งแต่คอหลัง บริเวณช่วงสะบัก หัวไหล่ด้านหลัง อ่อนแรง มีวิธีการจัดการ ดังนี้:

– ลักษณะดังกล่าวต้องไม่ได้เกิดจากโครงสร้างกระดูกที่คดงอผิดปกติ (หากไม่แน่ใจ ให้ปรึกษาแพทย์ครับ)

– จะต้องตระหนัก และรับรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นปัญหาจะทำให้เราเสียบุคลิกภาพ ไม่สง่างาม เป็นสิ่งแรกที่
  จะต้องทำ เพราะนั่นจะทำให้จิตใจเรามีการรับรู้ และเป็นแรงผลักดันให้เราออกกำลังกายได้อย่างมี
  ประสิทธิภาพ

– ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เน้นที่คอ หลังส่วนบน และหัวไหล่ด้านหลัง
  (สามารถศึกษาท่าบริหารเพิ่มเติมได้จากอินเตอร์เนต คำค้นหา “บริหาร แก้ไหล่ห่อ หลังค่อม”

ถาม  :    ดัดข้อ แล้วมีเสียงลั่น (ก๊อก! ป๊อก!) ในข้อ หรือเสียงลั่นเวลาขยับ มีสาเหตุมาจากอะไร ?

ตอบ  :   ข้อที่มักพบมีเสียงลั่นได้บ่อย ได้แก่ ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก หลัง คอ และกราม

สาเหตุมาจาก ดังนี้:

1. ก๊าซในข้อ น้ำไขข้อ จะมีก๊าซออกซิเจน ไนโตรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อดัดข้อ ฟองก๊าซ                 
    เล็กๆ เหล่านี้ จะถูกบีบให้แตก ทำให้เกิดเสียงลั่นในข้อ ซึ่งถ้าจะทำให้เกิดเสียงดังอีกก็ต้องรอเวลา
    สักพัก เพื่อให้เกิดฟองก๊าซเล็กๆ อีก

2. การเสียดสี/การขยับของ เส้นเอ็น เนื้อเยื่อ  เมื่อเคลื่อนไหวข้อ ดัดข้อ ก็จะเกิดการเสียดสีของ เส้นเอ็น
    กับเส้นเอ็น หรือเส้นเอ็นกับกระดูก เส้นเอ็นอาจเคลื่อนออกจากตำแหน่ง ทำให้ได้ยินเสียงลั่น
    สามารถทำซ้ำได้บ่อย เมื่อเคลื่อนไหวข้อก็จะมีเสียงลั่นทุกครั้ง

3. ผิวข้อที่ไม่เรียบ เนื่องจากข้ออักเสบเรื้อรัง หรือข้อเสื่อมก็จะมีกระดูกงอก และมีการสึกหรอของ
    กระดูกอ่อนผิวข้อ ทำให้ผิวข้อไม่เรียบ เมื่อเคลื่อนไหวข้อก็จะมีเสียงในข้อ มักจะเป็นคล้ายเสียง 
    พื้นผิวขรุขระสัมผัสกันครับ

ถาม  :    เสียงในข้ออันตรายหรือไม่ ?

ตอบ  :   จากผลการวิจัยพบว่า แบบชนิดที่เป็นจากฟองก๊าซในข้อไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่อาจเกิดการบาดเจ็บ
ของเนื้อเยื่อซึ่งจะทำให้ข้อบวมได้ และบางรายอาจมีอาการกำมือแล้วรู้สึกไม่ค่อยมีแรง    

โดยสรุป ถ้าไม่มีอาการ ปวด บวม แดง หรือ ร้อน บริเวณข้อ ก็ถือว่า “ปกติ” ไม่เป็นอันตรายครับ

 

ถาม  :    หลังกระดูกหัก เมื่อแพทย์ทำการผ่าตัดใส่เหล็กยึดดามกระดูก จำเป็นต้องผ่าเอาเหล็กออกหรือไม่ ?

ตอบ  :   ไม่จำเป็นต้องผ่าเอาเหล็กออกทุกรายซึ่งโดยทั่วไป มีข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าเอาเหล็กออก ดังนี้:

– เหล็กที่มีบางส่วนโผล่ออกมาชิดหรือนอกผิวหนัง เช่น ลวดดามกระดูกโดยเฉพาะที่ข้อศอก                           
    และลูกสะบ้า เหล็กดามกระดูกชนิดที่อยู่ด้านนอกผิวหนัง

–  เหล็กอยู่ในข้อ หรือขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อ กล้ามเนื้อเส้นเอ็น

–  เกิดการติดเชื้อ แผลบวมแดง เป็นหนอง

–  เกิดอาการผิดปกติ เช่น ปวดมากบริเวณที่ใส่เหล็กดามเวลาอากาศเย็น ผิวหนังมีผื่นแดง

–  แผ่นเหล็กดามกระดูกในบางตำแหน่ง เช่น กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง กระดูกสันหลังบางกรณี

อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะแพทย์ที่ทำการรักษาท่าน และคุยถึงแนวทางร่วมกัน เพราะว่าแนวทางในการรักษาพยาบาลของแพทย์แต่ละคนอาจจะมีวิธี หรือความแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่เชื่อว่าแพทย์ทุกคนก็จะยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการรักษาพยาบาล เพื่อให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วยครับ

 

ถาม  :    เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอวัยวะขาดจะทำอย่างไรดี ?

ตอบ  :   หลักการช่วยเหลือเฉพาะที่ในเบื้องต้นในผู้ป่วยที่อวัยวะขาดคือ **ตั้งสติ และขอความช่วยเหลือ**

         1. ต้องห้ามเลือดก่อน โดยเฉพาะถ้าเป็นการขาดบริเวณแขน ต้นแขน ขา จะมีเลือดออกมากจะต้องใช้ผ้า    สะอาด เช่น ผ้าขนหนู หรือผ้าก๊อซ จำนวนมากๆ ปิดแผล ใช้แรงกดให้แน่นเพื่อห้ามเลือด

         2. ตรวจสอบดูว่าอวัยวะที่ขาดนั้นขาดออกจากตัวผู้ป่วยหรือเปล่า ถ้าขาดออกไปเลยจะต้องมีการเก็บ    รักษาที่ถูกวิธี ซึ่งจะกล่าวในอันดับต่อไป ถ้ายังมีเนื้อเยื่อบางส่วนติดกันอยู่  หลังจากห้ามเลือดแล้ว    พยายามประคองให้ส่วนที่ขาดไม่ถูกดึงรั้งไปมาเพื่อป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดขึ้นไปมากกว่าที่เป็นอยู่     ในขณะนั้น

การเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาด

นิ้วขาด แขนขาด มือขาด ขาขาด  ใช้ผ้าสะอาดห่ออวัยวะนั้นๆ หลังจากนั้นใส่ลงถุงพลาสติกสะอาด แล้วรัดปากถุงให้แน่น (ไม่ต้องใส่น้ำในถุง!) จากนั้นจุ่มทั้งถุงลงในน้ำที่มีน้ำแข็งอยู่ด้วย  เพื่อควบคุมอุณหภูมิ ไม่ให้เย็นจนเกินไป (อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 4 องศาเซลเซียส) ห้ามนำอวัยวะที่ขาดแช่น้ำโดยตรงเด็ดขาด เพราะจะทำให้เซลล์บวมน้ำ และเซลล์ตายได้  ห้ามนำอวัยวะที่ขาด (ที่ใส่ถุงแห้งแล้ว) แช่ในน้ำแข็งที่ไม่มีน้ำปนเด็ดขาด เพราะเนื้อเยื่อจะเย็นจนกลายเป็นน้ำแข็ง จะทำให้เซลล์ตายครับ

ถาม  :    คุณยาย มีอาการ “ปวดเข่าทั้งสองข้าง รู้สึกฝืดๆ เวลาขยับข้อเข่า รู้สึกมีเสียงกรอบแกรบ เข่าก็ดูโก่งๆ เหยียดก็ไม่ตรงเหมือนปกติ” ลักษณะแบบนี้เป็นโรคอะไรหรือเปล่า ?

ตอบ  :   จากอาการดังกล่าว คุณยายน่าจะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมครับ ซึ่งเป็นภาวะที่ข้อเข่าผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน เกิดการเสื่อม/สึก ของผิวข้อ ทำให้มีการเสียดสีเวลาขยับ หรือเดินจะปวดข้อ อาจมีการผิดรูปของข้อเข่า (เข่ามักโก่งออกจากกัน) โรคข้อเข่าเสื่อมมักพบในผู้สูงอายุ หรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงหลังจากเกิดอุบัติเหตุที่เข่ามาก่อน

อาการ

– อาการปวดเข่า เป็นอาการที่สำคัญ เริ่มแรกจะปวดเมื่อยตึงด้านหน้า และด้านหลังของเข่าหรือบริเวณน่อง                                 

  เมื่อเป็นมากจะปวดเข่าเมื่อเคลื่อนไหว ลุกนั่ง หรือเดินขึ้นบันไดไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม

– มีเสียงในข้อเมื่อเคลื่อนไหวผู้ป่วยจะรู้สึกมีเสียงในข้อ ลักษณะคล้ายเสียงพื้นผิวไม่เรียบถูกัน มักเป็น     ตลอดช่วงการงอ หรือเหยียดเข่า

–  อาการบวม ถ้าข้อมีการอักเสบก็จะเกิดข้อบวมได้

– ข้อเข่าโก่งงอ อาจจะโก่งด้านนอก หรือโก่งด้านใน ทำให้ขาสั้นลงเดินลำบาก และมีอาการปวด  เวลาเดิน

– ข้อเข่ายึดติด ผู้ป่วยจะไม่สามารถเหยียดตรง หรืองอเข่าสุด เหมือนเดิมเพราะมีการยึดติดภายในข้อ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเสื่อม

– อายุ ถ้าอายุมากมีโอกาสเป็นมาก หรือเสื่อมตามวัยนั่นเอง

– เพศ ผู้หญิงจะเป็นโรคเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า

– น้ำหนัก ถ้าน้ำหนักตัวยิ่งมากข้อเข่าก็จะเสื่อมเร็ว ทางที่ดีควรควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม

– การใช้ข้อเข่า ผู้ที่นั่งยองๆ นั่งขัดขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานๆ จะพบว่าเป็นข้อเข่าเสื่อมเร็ว

– การได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะบริเวณข้อเข่า ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ข้อเข่าไม่ว่าจะกระดูกข้อเข่าแตก
  หรือเอ็นฉีก จะเกิดข้อเข่าเสื่อมได้

 

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมจะมี 2 วิธี ดังนี้:

1. แบบไม่ผ่าตัด

          – การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

      • ปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเข่าเสื่อม เช่น การยกของหนัก การนั่งพับเพียบ การนั่งยองๆ    การนั่งสมาธิเป็นเวลานานๆ การใช้ส้วมชนิดนั่งยองๆ หลีกเลี่ยงการขึ้นบันไดบ่อยๆ ควรนั่งเก้าอี้ และไม่ควรนั่งบนพื้น
      • การลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ลดอาการปวดเข่า และช่วยชะลอเข่าเสื่อมได้
      • การออกกำลังกาย และการบริหารกล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อต้นขา
      • เวลาขึ้นบันไดให้ก้าวขาข้างที่ไม่ปวดนำขึ้นไปก่อน เวลาลงให้ก้าวเท้าข้างที่ปวดลงก่อน มือจับราวบันไดทุกครั้ง

       – การทำกายภาพบำบัด

       – การใช้อุปกรณ์ ช่วยค้ำยัน เช่น ไม้เท้า

       – การใช้ยา

      • พาราเซตามอล ยาต้านอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์
      • การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ (ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง)
      • การฉีดสารหล่อเลี้ยงเข้าข้อเข่า (ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง)
      • การให้ยาช่วยสร้างผิวข้อ (กลูโคซามีน คอนดรอยติน ซัลเฟต) จากการวิจัยพบว่า อาจช่วยเรื่องลดอาการปวด แต่ไม่ช่วยชะลอความเสื่อมของโรค

2. การผ่าตัด มีหลายแบบ โดยการผ่าตัดหลักๆ ที่ให้ผลดี ได้แก่ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

ถาม  :    ผู้ป่วยหญิงอายุ 30 ปี ทำงานโรงงาน สองสัปดาห์ที่ผ่านมารู้สึกนิ้วนาง ปวดตึงๆ แข็งๆ งอเหยียด
มีสะดุด ลักษณะแบบนี้น่าจะเป็นโรคอะไร ?

ตอบ  :   อาการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นโรคนิ้วล็อคครับ ซึ่งโรคนี้เกิดจากเนื้อเยื่อเส้นเอ็นที่ใช้ในการงอนิ้วมือ  มีการอักเสบหนาตัว หรือเป็นตุ่มขึ้น เมื่อมีการขยับจะมีการเสียดสี หรือสะดุดกับเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ เส้นเอ็น

สาเหตุ ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่จากข้อมูลการศึกษาพบว่า

         – ผู้หญิงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย

         – เกิดบ่อยในช่วงอายุ 30-60 ปี

         – สัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูห์มาตอยด์

         – มักจะเกิดหลังมีกิจกรรมที่ต้องออกแรงที่นิ้วมือ เช่น ซักผ้า ยกของหนัก

อาการ    

         – มีอาการปวด กดเจ็บที่บริเวณโคนนิ้ว ด้านฝ่ามือ

         – อาการสะดุด อาการปวดเวลางอเหยียดนิ้ว

         – อาจมีอาการบวม

การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

         – พัก งดการใช้งานนิ้วมือ

         – กินยาต้านอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์

         – ฉีดยาสเตียรอยด์ (แนะนำไม่ควรทำเกิน 2-3 ครั้ง)

การรักษาแบบผ่าตัด

มีหลายวิธี วิธีมาตรฐานในปัจจุบันได้แก่ การผ่าตัดเปิดหรือส่องกล้องเพื่ออตัดเนื้อเยื่อที่รัด  เส้นเอ็นออก อาการสะดุด หรือปวดก็จะดีขึ้นทันทีหลังผ่าตัด

ถาม  :    ผู้ป่วยชายที่มีอายุ 30 ปี มีอาการปวดหลัง ร่วมกับชาร้าววิ่งลงขาขวา เกิดหลังจากการก้มยกของหนัก ลักษณะแบบนี้เป็นอะไร ?

ตอบ  :   อาการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทช่วงเอวครับ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงหลักเกิดจากการยกของหนักที่ผิดท่า การนั่งนานๆ ถูกกระแทกซ้ำๆ และการสูบบุหรี่

หลังจากแพทย์ตรวจวินิจฉัยแล้ว ส่วนมาก 9 ใน 10 คน รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดมีตั้งแต่ผ่าแบบธรรมดา แบบใช้กล้องที่มีกำลังขยายช่วย และแบบส่องกล้อง                       

ข้อบ่งชี้ของการรักษาแบบผ่าตัด

         1. รักษาแบบไม่ผ่าตัดแล้วไม่ดีขึ้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง

         2. อาการชา หรืออ่อนแรงเป็นมากขึ้นกว่าเดิม

         3. มีอาการกลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้

               ดังนั้น เมื่อท่านมีอาการปวดหลัง และร้าวลงขาเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาก่อนที่จะมีอาการปวดมากขึ้น ถ้าหากหมอนรองกระดูกเกิดการเสียหายมากขึ้นจะทำให้ยากต่อการรักษาพยาบาลมากตามไปด้วย การป้องกันโรคหมอนรองกระดูกช่วงเอวมีด้วยกันหลายวิธี ดังนี้:

         1. การใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังในชีวิตประจำวันอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ถ้าจะยกของหนัก     จะต้องใช้แรงจากขาช่วยไม่ควรก้มหลังแล้วใช้กล้ามเนื้อหลังเป็นหลัก ซึ่งถ้าทำเช่นนี้จะทำให้มีโอกาส     เกิดหมอนรองกระดูกปลิ้นได้ และที่สำคัญคือน้ำหนักของที่จะยกจะต้องไม่มากเกินกำลังของร่างกาย

         2. หลีกเลี่ยงการนั่ง ยืน เดิน เป็นระยะเวลานานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ในแต่ละวัน ซึ่งจะทำให้     หมอนรองกระดูกไม่มีแรงกระแทกซ้ำๆ บริเวณที่เดิม

         3. ลดน้ำหนักให้สมดุลกับร่างกาย

         4. จะต้องงดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด

         5. ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อหลัง และหน้าท้อง เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังแข็งแรง     และควรออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละท่านด้วย….นะครับ

 
 

———————————————–