โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

ต้อหิน…ภัยมืดที่น่ากลัว

ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า 1 ในอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกาย ก็คือ ดวงตา

ต้อหิน เป็นโรคทางดวงตา ที่มีความรุนแรงเพราะเมื่อเป็นแล้วมีโอกาสที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสีย  การมองเห็นอย่างถาวร อีกทั้งผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าเป็นโรคนี้ เมื่อรู้ตัวอีกครั้งก็พบว่าตาบอดไปแล้ว

จากสถิติปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคต้อหินทั่วโลกถึง 70 ล้านคน โดยเกือบ 10% ของผู้ป่วยหรือประมาณ 6.7 ล้านคน ต้องตาบอด หรือสูญเสียการมองเห็นอย่างสิ้นเชิง ในประเทศไทยข้อมูลจากสถิติสาธารณสุข ปี 2555 พบผู้ป่วยโรคต้อหินทั่วประเทศ จำนวน 17,687 ราย ซึ่งในอำเภอศรีราชารวมทั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย มีปริมาณผู้ป่วยโรคต้อหินจำนวนมาก ดังนั้นการมีความรู้เกี่ยวกับตัวโรค อาการแสดงและการป้องกันการเกิดโรคต้อหินจะช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคและ การตรวจเจอโรคเมื่อเป็นระยะรุนแรงได้

สาเหตุของโรคต้อหิน

เกิดจากความผิดปกติของขั้วประสาทตาส่งผลให้มีการสูญเสียลานสายตา โดยปัจจัยหลักที่ส่งเสริมการทำลายขั้วประสาทตาคือ ภาวะความดันลูกตาสูง โดยทั่วไปค่าความดันตาปกติมีค่าไม่เกินกว่า   21 มิลลิเมตรปรอท การมีภาวะความดันตาที่สูงขึ้นนี้เองจะไปทำลายขั้วประสาทตาจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงขั้วประสาทตา ซึ่งทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อมหรือฝ่อไปทีละน้อยจนบอดในที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อหิน

 1.ผู้ที่มีประวัติ บิดา มารดา พี่น้องหรือญาติเป็นต้อหิน

2.ผู้มีสายตาสั้นหรือยาวมาก

3.ผู้ป่วยเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง

4.ผู้สูงอายุมากกว่า 40 ปี

          นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นอีกที่อาจจะทำให้เกิดต้อหินชนิดทุติยภูมิ คือต้อหินอันเป็นผลจากสาเหตุอื่น

1.ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

2.อุบัติเหตุทางตา

3.การติดเชื้อ หรือการอักเสบในตา

4.การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ทั้งชนิดหยอด ยารับประทาน ยาฉีด หรือยาพ่น

5.โรคต้อกระจกที่ปล่อยทิ้งไว้จนเลนส์ตาสุกหรือบวม

6.สาเหตุอื่น เช่น ภาวะเครียด

อาการของโรคต้อหิน

          โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดเรื้อรังมักจะไม่มีอาการผิดปกติ เพราะในระยะแรกของโรค   การสูญเสียลานสายตาจะเกิดที่บริเวณรอบนอกก่อน เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นจึงจะเสียลานสายตาในส่วนตรงกลางซึ่งกระทบต่อการมองเห็นจนผู้ป่วยสังเกตความผิดปกติได้ จนในที่สุดคือสูญเสียทั้งหมดของ ลานสายตาหรือภาวะตาบอดนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีอาการร่วมอื่นๆ อันได้แก่ อาการตาแดง ปวดตา

ชนิดของโรคต้อหินที่สามารถพบได้บ่อย

1.ต้อหินมุมปิด มี 2 แบบ คือชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ถ้าเป็นเฉียบพลันจะมีอาการปวดตา ตามัว ตาแดง มองเห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ อาการอาจรุนแรงมากจนคลื่นไส้ อาเจียน หากเป็นแบบเรื้อรัง บางรายอาจปวดเล็กน้อย เป็นครั้งคราว โดยสาเหตุเกิดจากการโคนของม่านตาไปปิดทางระบายน้ำ aqueous ทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น

2.ต้อหินมุมเปิดเรื้อรัง เป็นชนิดที่พบบ่อย มี 2 แบบคือชนิดความดันลูกตาสูง และความดันลูกตาปกติ ทั้งสองแบบจะไม่มีอาการปวดตาหรือตาแดง ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวจึงอาจทำให้ได้รับการรักษาล่าช้า ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ แต่ถ้าเริ่มรักษาตั้งแต่แรกก็มักจะรักษาสายตาไว้ได้ สาเหตุเกิดจาก    เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นจะมีเศษตะกอนมาอุดกั้นทางระบายของน้ำ aqueous

3.ต้อหินแทรกซ้อน เกิดจากความผิดปกติอื่นๆ ของดวงตา เช่น การอักเสบต้อกระจกที่สุก    มากเกินไป อุบัติเหตุต่อดวงตา เนื้องอก การใช้ยาหยอดตาบางชนิด และเกิดตามหลังการผ่าตัดตา

4.ต้อหินโดยกำเนิด เกิดจากความผิดปกติของดวงตาตั้งแต่แรกคลอด อาจมีความผิดปกติอื่นๆ ของร่างกายด้วย มารดาอาจสังเกตเห็นว่าลูกมีอาการน้ำตาไหล กลัวแสง หรือมีขนาดตาดำที่โตผิดปกติ หรือมีการขุ่นขาวของกระจกตาดำ  

การรักษาโรคต้อหิน

          เป้าหมายของการรักษาโรคต้อหินคือ การลดความดันตา ซึ่งประกอบไปด้วยหลายวิธี

1.การใช้ยา ทั้งยาหยอด ยารับประทาน และยาฉีด

2.การใช้แสงเลเซอร์

3.การผ่าตัด  

การป้องกันการเกิดโรคต้อหิน

1.ควบคุมโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงให้ดี

2.หลีกเลี่ยงการซื้อยาหยอดตาเองโดยไม่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์

3.หมั่นตรวจเช็คสายตาในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน

4.ผู้สูงอายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจเช็คสายตาประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ควรตรวจเช็คสายตา ปีละ 2 ครั้ง

5.หากมีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น ควรปรึกษาแพทย์โดยทันที

           สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งของต้อหินในปัจจุบันคือความเครียดเพราะความเครียดจะทำให้เกิดความดันลูกตาขึ้นได้ ในยุคแห่งสังคมออนไลน์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตต่างก็มีความจำเป็นในการใช้ชีวิตในปัจจุบัน จนมีคำกล่าวว่าเป็น “ปัจจัยที่ 5” ของมนุษย์เลยก็ว่าได้ แต่สมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตนั้นใช่ว่าจะมีเพียงข้อดีเท่านั้น การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไม่ถูกวิธีอาจจะทำให้เกิดอันตรายโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นก่อให้เกิดการล้าของสายตาจากการเพ่งตัวอักษรขนาดเล็ก โดยเฉพาะการใช้สายตาในที่มืดเพราะยิ่งต้องเพ่งมากขึ้น รวมทั้งเกิดภาวะเครียดจากการทำงานที่ต้องใช้รายละเอียดมาก โดยสัญญานเตือนภัยว่ามีภาวะเครียดและสายตาล้าแล้ว ได้แก่ ตาแห้ง แสบตากระพริบ  ตาบ่อย  ปวดเมื่อยที่กระบอกตา สายตาพร่ามองเห็นไม่ชัด หากมีอาการดังกล่าวแล้ว ควรที่จะหยุดพักการใช้สายตา และหากจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ควรเปิดไฟให้สว่างเพียงพอ ใช้เทคโนโลยีด้วยระยะเวลา  ที่เหมาะสม คือ ใช้ 25 นาที พัก 5 นาที หรือใช้ 30 นาที พัก 10 นาที เป็นต้น นอกจากนี้การนอนพักผ่อนและการดื่มน้ำอย่างเพียงพอก็สามารถช่วยลดความเครียดและเพิ่มน้ำให้ตาชุ่มชื่นได้อีกด้วย