ณ ห้องตรวจโรคแห่งหนึ่งในโรงพยาบาล
คุณหมอ : คุณป้าเป็นอะไรมาคะ?
คุณป้า : ป้าเป็นผื่นขยุ้มตีนหมาที่หลัง (เปิดเสื้อให้ดูผื่น)
คุณหมอ : (มองดูผื่นที่หลัง และดูทั่วๆ ตัวคุณป้าว่ามีผื่นที่อื่นอีกหรือไม่?) คุณป้า ผื่นแบบนี้ เป็นผื่นงูสวัดนะคะคุณป้า
คุณป้า : ป้าว่าไม่น่าใช่นะคะ งูสวัดต้องเป็นรอบทั้งตัว ที่หลังป้านี่เหมือนขยุ้มตีนหมา มากกว่าค่ะ
จากเหตุการณ์ข้างต้นเป็นเหตุการณ์จริงที่หมอได้พบขณะทำงานค่ะ เหตุการณ์นี้ทำให้หมอทราบว่า คนไข้บางรายยังมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับโรคงูสวัด อยู่เป็นจำนวนมาก ต่อไปนี้เรามาทำการรู้จักโรคนี้กันเถอะนะคะ…………..
โรคงูสวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่มีชื่อว่า Varicella Zoster (วาริเซลลาซอสเตอร์) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดไข้สุกใส (Varicella, Chickenpox) ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ในครั้งแรก จะแสดงอาการของไข้สุกใส (หรืออีสุกอีใส) ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักเป็นกันตั้งแต่เด็กๆ หลังหายจากไข้สุกใส ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อโรคและส่วนใหญ่ก็จะไม่เป็นโรคไข้สุกใสซ้ำอีก แต่เชื้อจะยังคงอยู่ในร่างกาย โดยหลบซ่อนอยู่ที่ปมประสาทใต้ผิวหนัง จนกระทั่งร่างกายอ่อนแอลง เชื้อที่ซ่อน อยู่นี้จะแบ่งเพิ่มตัว และทำให้เกิดโรคงูสวัดขึ้นได้
ภาวะที่ร่างกายอ่อนแอ มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ ได้แก่ อายุมากขึ้น เครียด พักผ่อน ไม่เพียงพอ เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคเอดส์ มะเร็ง
เม็ดเลือดขาว หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาสเตียรอยด์ หรือยาต้ม ยาหม้อที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์อยู่
ความจริงแล้วโรคงูสวัดไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นที่ผิวหนังโดยตรง แต่เป็นโรคที่เกิดจาก การอักเสบของเส้นประสาท แล้วแสดงอาการออกมาทางผิวหนัง
ลักษณะเป็นผื่นตามแนวของเส้นประสาทที่อักเสบ
คนไข้บางรายเข้าใจว่างูสวัดต้องเป็นรอบลำตัว หรือคิดว่าหากผื่นขึ้นรอบตัวแล้วจะเสียชีวิต ซึ่งความคิดนี้มีทั้งส่วนถูกและส่วนผิด จึงอยากอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจถูกต้องมากขึ้น โดยเริ่มจากการอธิบายเกี่ยวกับโครงสร้างของเส้นประสาทในร่างกายก่อนนะคะ
ร่างกายของเรามีเส้นประสาทเพื่อควบคุมสั่งการ และรับความรู้สึกจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย จะเลี้ยงโดยเส้นประสาท
ที่ออกมาจากไขสันหลังในแนวกลางลำตัว ลักษณะการออกจากไขสันหลังนี้ จะออกมาทางซ้ายและขวา โดยเส้นประสาทที่ออกจากแต่ละข้างจะเป็นคนละกลุ่มกัน จากนั้นเส้นประสาท 1 กลุ่ม ก็จะไปเลี้ยงส่วนของร่างกาย 1 ส่วน ซึ่งลักษณะการเลี้ยงนั้นจะมีรูปแบบเหมือนกันในมนุษย์ทุกคน โดยตรงลำตัวเส้นประสาท จะเลี้ยงในแนวขวางกับลำตัว (ตามรูปที่ 1) เชื้องูสวัดมักจะทำให้เส้นประสาทอักเสบเพียงกลุ่มเดียว
ดังนั้น ลักษณะผื่นงูสวัดที่ลำตัว จึงเป็นแนวขวางกับลำตัว และเป็นแค่ซีกเดียวของร่างกาย
รูปลักษณะการเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย โดยเส้นประสาทที่ออกมาจากไขสันหลัง
ส่วนเรื่องที่บอกว่า เมื่อผื่นงูสวัดขึ้นรอบลำตัวแล้วจะเสียชีวิต ก็ไม่ใช่ว่าผิดซะทีเดียว งูสวัดสามารถทำให้เส้นประสาทอักเสบมากกว่า 1 กลุ่มได้ แต่ต้อง
เป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมากๆ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ผื่นงูสวัดอาจจะเป็นทั่วตัว เป็นหลายตำแหน่ง หรือเป็นทั้ง 2 ซีกของร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ อาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากเดิมมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำมากอยู่แล้ว มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงหรือติดเชื้อแทรกซ้อนได้มากกว่าคนปกติทั่วไป
ก่อนที่ผื่นจะขึ้น คนไข้จะมีอาการปวดแสบปวดร้อน ปวดแปล๊บๆ คล้ายไฟช๊อต ตรงตำแหน่งที่ผื่นกำลังจะขึ้น บางคนอาจมีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่นร่วมด้วยได้ หลังจากนั้น 1-5 วัน จะมีผื่นแดงขี้นเป็นกลุ่ม โดยมักเริ่มขึ้นจากตำแหน่งที่มีอาการปวดก่อน แล้วขึ้นกระจายไปตามแนวของเส้นประสาทซีกใดซีกหนึ่ง
ของร่างกาย ต่อมาผื่นแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำภายใน 4 วัน (ตามรูปที่ 2) แล้วค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นแผลตกสะเก็ดใน 7-10 วัน จากนั้นผื่นจะค่อยๆ จาง จนหายใช้เวลาประมาณ 2-4 อาทิตย์
จากที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่าเชื้องูสวัดเป็นเชื้อชนิดเดียวกับไข้สุกใส เชื้องูสวัดสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสตุ่มน้ำที่แตก แต่จะติดต่อไปสู่คนที่ไม่เคยเป็นไข้สุกใสเท่านั้น และจะทำให้เกิดไข้สุกใสไม่ใช่โรคงูสวัด กล่าวคือ ผู้ป่วยงูสวัดไม่สามารถแพร่เชื้อไปทำให้คนอื่นเป็นงูสวัดได้ ผู้ป่วยงูสวัดสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยการระวังไม่ให้ผื่นตุ่มน้ำไปสัมผัสผู้อื่น ไม่แกะเกาแผล และล้างมือบ่อยๆ
ร่างกายที่แข็งแรงมีภูมิต้านทานดี จะสามารถกำจัดเชื้องูสวัดออกไปจากร่างกายได้เอง โดยไม่ต้องกินยาต้านไวรัส คนกลุ่มนี้ หมอจะให้ทานยาลดอาการปวดจากการอักเสบของเส้นประสาท และแนะนำให้รักษาความสะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อแทรกซ้อน
ผู้ป่วยบางกลุ่มต้องได้รับยาต้านไวรัส ได้แก่ ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปี ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เป็นโรคเอดส์ ผู้ป่วยที่มีการอักเสบของเส้นประสาท
ที่ใบหน้าและตา การเริ่มยาต้านไวรัสต้องให้เริ่มภายใน 3 วันหลังจากเกิดผื่น จะช่วยให้หายเร็วขึ้น ลดความรุนแรงของโรค และลดภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาได้
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคงูสวัด ที่พบบ่อยๆ คือ อาการปวดแสบปวดร้อนตรงตำแหน่งที่เคยเป็นผื่นหลังจากที่ผื่นหายแล้ว (post-herpetic neuralgia)
ในผู้ป่วยสูงอายุจะมีอาการนานและรุนแรงกว่าผู้ป่วยอายุน้อย อาการนี้หายไปได้เอง ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ถึงเป็นปี ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่เกิดขึ้นได้ เช่น การมองเห็นและการได้ยินผิดปกติ จากการอักเสบของเส้นประสาทบริเวณตาและหู เมื่อหายจากงูสวัด คนส่วนใหญ่มักจะไม่เป็นซ้ำอีก แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่เป็นซ้ำหลายๆครั้งได้
ส่วนขยุ้มตีนหมาที่คุณป้าพูดถึงนั้นหมายถึงผื่นผิวหนังอักเสบ (eczema) ลักษณะจะเป็นตุ่มแดงๆ หรือตุ่มน้ำ ซึ่งต่อมาอาจแตกออกและมีน้ำเหลืองไหล
แข็งกรังปกคลุมผื่น ซึ่งผื่น eczema นี้ไม่ได้เป็นผื่นเฉพาะของโรคใดโรคหนึ่ง มีสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้เกิดผื่นนี้ได้ เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นแพ้สารเคมีผื่นแพ้โลหะ ผื่นจากการสัมผัสสารที่ทำให้ระคายเคือง เป็นต้น
หมอต้องสารภาพตามตรงนะคะว่า ตอนที่หมอเจอคุณป้า หมอไม่ทราบว่า ผื่นขยุ้มตีนหมานั้นหมายถึงผื่นอะไรกันแน่? ซึ่งไม่มีในตำราที่หมอเรียนมา
หลังจากนั้นหมอจึงไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพราะคิดว่าถ้าทราบว่าผื่นขยุ้มตีนหมาคืออะไรคงจะอธิบายคนไข้คนอื่นได้มากขึ้น ต้องขอขอบคุณ คุณป้าที่ทำให้หมอได้ความรู้เพิ่มเติมนะคะ และหวังว่าบทความนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคงูสวัดมากขึ้นนะคะ…..สวัสดีค่ะ
———————————————–