โรคหืดเป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่งในประชากรไทย และประชากรโลก องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า ทั่วโลกนั้นมีผู้ป่วยโรคหืดประมาณ 300 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณปีละ 250,000 คน
ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 3 ล้านคนและเสียชีวิตประมาณปีละ 1,500 คน ซึ่งเป็นอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าโรคระบบการหายใจอื่นๆ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะมีการจับหืดบ่อยและรุนแรง ดังนั้น การเรียนรู้ ให้รู้จักการประเมินความรุนแรงของโรคให้ได้อย่างมั่นใจ ร่วมกับการมียาใช้และการใช้ยาให้ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นวิธีการสำคัญในการที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้
ธรรมชาติของโรคหืด
ธรรมชาติของโรคหืด คือ มีการจับหืดเป็นพักๆ ในขณะจับหืดจะมีอาการไอ หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก หายใจลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อหลอดลมรัดตัว เยื่อบุหลอดลมบวม (อักเสบ) และมีเสมหะข้นเหนียว ทำให้เกิดภาวะหลอดลมตีบ พยาธิสภาพดังกล่าว เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้ หรือ สารระคายเคือง ในบรรยากาศที่สูดเข้าไป (ซึ่งอาการเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในคนปกติ) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือผู้ป่วยโรคหืดมีภาวะหลอดลมไวต่อสิ่งที่มากระทบ (หลอดลมอารมณ์ร้อน) และร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่มากระทบนั้น เกิดเป็นอาการจับหืด เมื่อการจับหืดยุติ (โดยการสูดยาขยายหลอดลม) หลอดลมก็จะคืนสู่สภาพปกติ อย่างไร ก็ตาม หากการจับหืดเกิดขึ้นบ่อย อย่างต่อเนื่องเป็นแรมปี ภาวะหลอดลมตีบก็อาจเกิดขึ้นอย่างถาวรไม่กลับคืนสู่สภาพปกติได้
สารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ ได้แก่ไรฝุ่น ละอองเกสรหญ้า ละอองเกสรต้นไม้ สปอร์เชื้อรา ขนสัตว์ (แมว สุนัข) แมลงสาบ เป็นต้น และสารระคายเคืองที่สำคัญ ก็ได้แก่ ฝุ่น และควัน เป็นต้น นอกจากสารก่อภูมิแพ้ ควันและฝุ่นดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดการจับหืดขึ้นได้อีก เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ (จากไวรัส หรือแบคทีเรีย) ยาบางชนิด (เช่น แอสไพริน) ตลอดจนการออกกำลังกายหนักๆ และอุณหภูมิ (อากาศหนาว) เป็นต้น
โรคหืดเกิดกับผู้ป่วยได้ทุกเพศทุกวัย คือ ทั้งวัยเด็ก และวัยผู้ใหญ่ ในวัยเด็ก พบผู้ป่วยหืดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
ส่วนในวัยผู้ใหญ่กลับกัน คือพบผู้ป่วยหืดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ซึ่งยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังพบว่าความชุกของโรคนี้ในเมืองหลวงมีมากกว่าในชนบท
โรคหืดในเด็กมักเริ่มก่อนอายุ 5 ขวบ มีการจับหืดเป็นครั้งคราว ไม่รุนแรงและมีช่วงจับหืดสั้นๆ ประมาณ 40 % ของผู้ป่วยโรคหืดในเด็ก เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อาการจะหายไปตลอดชีวิต เพียงประมาณ 10 % ที่เป็นหืดรุนแรง ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งเป็นหืดไม่รุนแรงซึ่งอาจต่อเนื่องสู่วัยผู้ใหญ่ได้
ส่วนหืดที่เริ่มต้นในวัยผู้ใหญ่ หลังอายุ 20 ปี มักเกิดภายหลังการอักเสบของหลอดลมจากไวรัส (ไข้หวัด) และอาการหืดมักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทุกครั้งที่เป็นไข้หวัด ประมาณ 25 % ของผู้ป่วยหืดในผู้ใหญ่จะเป็นหืดรุนแรง ต้องการป้องกันดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ที่เหลือเป็นหืดไม่รุนแรงหรือหายไปเอง
มีหลักฐานสนับสนุนว่าพันธุกรรมเป็นปัจจัยที่สำคัญของเกิดโรคนี้ โดยมีการค้นพบยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้หลายตัว (เท่าที่ทราบอย่างน้อย 6 ตัว) ประมาณ 40 % ของผู้ป่วยโรคหืดมีประวัติการเป็นโรคนี้ในครอบครัว นอกจากนี้ผู้ป่วยแฝดเหมือนที่เป็นหืดมักเป็นหืดด้วยกันทั้ง 2 คน อย่างไรก็ดี มีผู้ให้น้ำหนักด้านพันธุกรรมต่อการเกิดโรคนี้เพียง 40 % และให้น้ำหนัก ด้านสิ่งแวดล้อมต่อการเกิดโรค 60 % ดังนั้น การควบคุมอาการของผู้ป่วยจึงต้องมุ่งเน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการกินยาที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ
ยารักษาโรคหืด
ยาที่มีประโยชน์ในการรักษาโรคหืด ได้แก่ ยาระงับการอักเสบ และยาขยายหลอดลม ส่วนยาอื่นๆ เช่น ยาขับเสมหะ ยาละลายเสมหะ ยาแก้แพ้ ไม่ค่อยมีประโยชน์ในการรักษาโรคนี้
ยาระงับการอักเสบ
ยาหลักในการรักษาโรคหืดคือยาระงับการอักเสบ ประเภท สเตียรอยด์ (Corticosteroid) ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาการอักเสบของหลอดลม ยาระงับการอักเสบมีผลทำให้ความถี่ในการจับหืดลดลง โดยที่ยาสูดแต่ละครั้งมีปริมาณยาในขนาดน้อย และออกฤทธิ์โดยตรงต่อเยื่อบุหลอดลม จึงสามารถใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานได้โดยมีผลข้างเคียงน้อย และใช้เป็นยาหลัก ในการรักษา ส่วนยากินประเภทสเตียรอยด์ มีปริมาณยาสูงกว่ายาสูด และมักมีผลข้างเคียงเมื่อใช้ติดต่อกันนานๆ จึงใช้เป็นยาเสริมเพียงระยะสั้นๆ เมื่อใช้ยาสูดแล้วไม่ได้ผลดี
ยาสูดระงับการอักเสบ ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย มีทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นยาเดี่ยว และที่เป็นยาผสมกับยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว และยังมีราคาแพง เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังผลิตในประเทศไม่ได้ซึ่งจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ยาสูดระงับการอักเสบ ต้องใช้เป็นประจำวันละ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งตามความรุนแรง ของโรค
ยังมียากินที่ออกฤทธิ์ระงับการอักเสบที่เยื่อบุหลดลมชนิดอื่นอีก นอกจากสเตียรอยด์ ซึ่งได้แก่ ยาซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสาร ลิวโค-ตรัยอีน (Leukotriene antagonist) เช่น Singulair ® และยาต้านภูมิ อิมมูโนโกลบูลินอี (Anti-IgE) เช่น Xolair ® ซึ่งเป็นยาที่มีราคาแพง และนำมาใช้เป็นยาเสริมเมื่อยาสเตียรอยด์เอาไม่อยู่
ยาขยายหลอดลม มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว เพื่อยุติการจับหืด มี 3 ประเภท ได้แก่
1. ยาขยายหลอดลมประเภทกระตุ้นตัวรับเบต้า (Beta-agonist)
2. ยาขยายหลอดลมประเภทต้านโคลิเนอร์จิค (Anti-cholinergics)
3. ยาขยายหลอดลมประเภทแซนทีน (Xanthene)
ยาขยายหลอดลมประเภทกระตุ้นตัวรับเบต้า เป็นยาขยายหลอดลมที่ดีที่สุด มีทั้งชนิดออกฤทธิ์สั้น และชนิดออกฤทธิ์ยาว มีทั้งชนิด ยาสูด ยาเม็ด และยาฉีด ยาสูดชนิดออกฤทธิ์สั้นเป็นยาหลัก ที่ใช้เมื่อมีการจับหืด ส่วนยาสูดชนิดออกฤทธิ์ยาวมักผสมกับสเตียรอยด์ ที่ใช้สูดเพื่อป้องกันการจับหืด ที่รุนแรง ยาขยายหลอดลม อีก 2 ชนิด ได้แก่ ต้านโคลิเนอร์จิค และยาประเภทแซนทีน เป็นยาเสริมที่ใช้ร่วมกับยาขยายหลอดลมประเภทกระตุ้นตัวรับเบต้าชนิดออกฤทธิ์สั้น เมื่อมีการจับหืด
ความรุนแรงของโรค และแนวทางการรักษา
ความรุนแรงของโรคหืดนั้นดูได้จากความถี่ในการจับหืด
หากความถี่ในการจับหืดน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และการจับหืดแต่ละครั้งสั้นๆ แสดงว่าโรคหืดเป็นน้อย หรือโรคหืดสามารถควบคุมได้ การใช้ยาสูดขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้น เป็นครั้งคราวเมื่อมีการจับหืด ก็เป็นการเพียงพอ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาสูดระงับการอักเสบก็ได้
หากความถี่ในการจับหืดเกินกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ไม่เป็นทุกวัน แสดงว่าโรคหืดมีความรุนแรงปานกลาง จำเป็นต้องได้รับยาสูดระงับการอักเสบขนาดปกติ วันละ 2 ครั้ง เป็นประจำ เพื่อลดความถี่ในการจับหืด และได้รับยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้นเป็นครั้งคราวเมื่อมีการจับหืด
หากความถี่ในการจับหืดมีเกือบทุกวัน และวันละหลายๆ ครั้ง แสดงว่าโรคหืดมีความรุนแรง ยังควบคุมไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับยาสูดระงับการอักเสบซึ่งมีสูตรผสมกับยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว วันละ 2 ครั้งเป็นประจำ เพื่อลดความถี่ในการจับหืด และได้รับยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้นเสริมอีกเป็นครั้งคราวเมื่อมีการจับหืด
ข้อแนะนำ
ผู้ป่วยโรคหืดควรอยู่ในความดูแลของแพทย์และไปพบแพทย์เป็นระยะๆ ตามนัด หรือหากไม่มีการนัด ถ้าหืดรุนแรงมากก็พบบ่อย ถ้ารุนแรงน้อยก็นานๆ ครั้ง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่าเคร่งครัด ดังนี้
1. จัดทำบันทึกอาการของโรคและยาที่ใช้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการประเมินความรุนแรง และการปรับเปลี่ยนขนาดยาเมื่อพบแพทย์
2. จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้มีฝุ่นน้อยที่สุด ห้องนอนไม่ควรใช้พรมเพราะจะเป็นที่กักฝุ่น ควรจะมีเครื่องฟอกอากาศเพื่อขจัดฝุ่น
3. ควรออกกำลังกายแต่พอเหมาะ หลีกเลี่ยงยาประเภทแก้ปวด เช่น แอสไพริน
4. สูดยาให้ถูกวิธี และใช้ยาให้ถูกกับวัตถุประสงค์ ยาระงับการอักเสบให้สูดเป็นประจำ ส่วนยาขยายหลอดลมนั้นสูดเมื่อจะมีอาการจับหืด
เท่านั้น
5. จะต้องมียาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้นติดตัวไว้พร้อมใช้เสมอ และสูดทันทีเมื่อจะเริ่มมีอาการของการจับหืด
6. ถ้าการจับหืดมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่เคยรักษา หรือไปห้อง
ฉุกเฉินของโรงพยาบาลโดยด่วน
– สูดยาขยายหลอดลมที่เคยใช้แล้ว และอาการไม่ดีขึ้น หรือดีขึ้นไม่ถึง 30 นาที แล้วก็จะมีอาการ จับหืดอีก
– ชีพจรเร็ว (เร็วกว่า 110 ครั้ง/นาที)
– ชีพจรเบามากเวลาหายใจเข้า
– ค่าเป่าลมสูงสุดต่ำกว่า 100 ลิตร/นาที
– เหนื่อยมาก พูดไม่เต็มประโยค และในระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ หากว่ายังมีการจับหืดอยู่ก็ให้สูดยาขยาย
หลอดลมได้อย่างต่อเนื่องตามความจำเป็นในขณะนั้น และจะต้องสูดยาจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล
———————————————–