โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

คลินิกนอกเวลา…..ใครได้ประโยชน์?

การพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลทำให้โรงพยาบาลในภาครัฐมีการปรับปรุงคุณภาพ  และประสิทธิภาพบริการอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่โรงพยาบาลมีข้อจำกัดทั้งด้านอาคารสถานที่เก่า บุคลากรไม่เพียงพอและอุปกรณ์ที่ล้าสมัย ทำให้โรงพยาบาลในภาครัฐไม่สามารถให้บริการการรักษาพยาบาลได้อย่างเพียงพอ เกิดความแออัด ล่าช้า และทำให้เกิดความเสี่ยงจากการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลเอกชนได้มีการขยายตัวมากขึ้นเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ จึงเกิดภาวะ “สมองไหล” มีการลาออกของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐสู่เอกชน เหตุผลที่ลาออกเกิดจาก  ภาระงานหนัก ความจำเจ และค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม

นอกจากปัญหาที่ไม่สามารถให้บริการได้รวดเร็วแล้ว โรงพยาบาลในภาครัฐก็มีปัญหาในด้าน  งบประมาณ การบริหารจัดการลดลงและรายจ่ายเพิ่มขึ้น จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบจ่ายคืนค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการเพื่อควบคุมจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลไม่ให้เกินงบประมาณที่ได้กำหนดไว้ ส่วนรายจ่าย   ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากภาวะเศรษฐกิจและนโยบายเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรที่ใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาล    หลายแห่งจึงมีปัญหาการขาดทุนสะสมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการจัดหาครุภัณฑ์  และอุปกรณ์ทางการแพทย์ส่งผลทำให้เป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาองค์การ

โรงพยาบาลในภาครัฐจึงปรับตัวโดยการเปิดบริการคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการเป็นส่วนใหญ่    ทั้งการให้บริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก โดยใช้สถานที่เดิมที่มีอยู่ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของแพทย์และเพื่อให้มีรายได้เพียงพอ ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับแพทย์ที่ไม่ต้องไปเปิดคลินิกภายนอกโรงพยาบาลที่ต้องมีการลงทุนสูง และผู้ป่วยก็จะมีทางเลือกในการมารับการตรวจรักษามากขึ้น ซึ่งเป็นเวลาสะดวกหลังเลิกงาน อย่างไรก็ตาม การเปิดคลินิกนอกเวลายังมีปัญหาเพราะเนื้องานในช่วงเวลาราชการก็มีมากมายแต่ไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง ไม่สามารถทำให้เกิดคุณภาพการให้บริการตลอดเวลาได้ ผู้มารับบริการมีความคาดหวังในคุณภาพและมาตรฐานบริการอยู่ในระดับสูง

รูปแบบที่เหมาะสมในการให้บริการคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์หลักของโรงพยาบาล ได้แก่ เพื่อหารายได้ เพื่อแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ลาออก เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย ลดความแออัด เพิ่มทางเลือกในการบริการ เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยจะต้องปฏิบัติถูกกฎระเบียบ  เป็นธรรม  ได้มาตรฐาน  มีธรรมาภิบาล  และจรรยาบรรณในวิชาชีพ  โดยมีข้อเสนอแนะสำหรับการวางแผน การพัฒนา และการติดตามประเมินผลรูปแบบบริการของคลินิกนอกเวลาที่เหมาะสมสำหรับโรงพยาบาลภาครัฐ ดังนี้

1. ต้องสามารถแก้ปัญหาหลักขององค์กรตามวัตถุประสงค์ได้

2. เมื่อดำเนินการแล้วเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้มารับบริการ ผู้ให้บริการ  และโรงพยาบาล

3. มีความยั่งยืนที่มีคุณภาพ รายได้เลี้ยงตัวได้  ไม่เป็นภาระต่อภาครัฐ มีความสอดคล้องกับศักยภาพและวัฒนธรรมขององค์กร

4. ต้องไม่ผิดกฎระเบียบ หลักการขององค์กร

5. ไม่เกิดผลเสียต่อภารกิจหลักของโรงพยาบาล

6.  มีการกำกับดูแล ยึดหลักธรรมาภิบาล ป้องกันพฤติกรรมการให้บริการทางการแพทย์ที่ไม่เป็นธรรม  และมีอัตราค่าบริการเหมาะสมต่อผู้มารับบริการ

ผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาลส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมีบริการแบบเอกชน คิดว่าช่วยให้ใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลอย่างคุ้มค่า ได้ประโยชน์ต่อผู้ป่วยและโรงพยาบาล

 แต่มีข้อกังวลในเรื่องความถูกต้อง เหมาะสม  ตามหลักการและกฎระเบียบราชการ ผลต่อความเป็นธรรมและมาตรฐานการรักษาพยาบาล โดยคิดว่าการที่โรงพยาบาลรัฐมีระบบ  หรือหน่วยงานบริบาลแบบเอกชนเป็นการชอบธรรม ต้องมีการกำหนดเพดานและการควบคุมค่ารักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม และผู้ป่วยที่เลือกเข้ารับบริการในหน่วยบริบาลแบบเอกชน  จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด  หรือเสียส่วนเกินจากค่าใช้จ่ายในระบบปกติ

ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการส่วนมากยินดีจ่ายเงินเพิ่มจากค่ารักษาปกติ โดยคิดว่ามีความคุ้มค่า เป็นเวลาที่สะดวก แต่ต้องการให้ปรับปรุงเรื่องเวลารอคอยและอยากให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจ เนื่องจากมีความเชื่อถือ ศรัทธาต่อความสามารถในการรักษาของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐอย่างไรก็ตาม การมีความต้องการใช้บริการผู้ป่วยนอกที่คลินิกนอกเวลาราชการ สะท้อนให้เห็นว่าบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลในภาครัฐยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลในภาครัฐควรพัฒนารูปแบบการบริการที่ให้ผลคุ้มค่า ทั้งในแง่ผลลัพธ์สุขภาพต่อผู้ป่วยและผลประกอบการของโรงพยาบาลเอง ได้แก่ การมีระบบนัดหมายที่เกื้อหนุนงานเวชปฏิบัติ การมีระบบการดูแลรักษาต่อเนื่องเพื่อผลลัพธ์สุขภาพสูงสุด การมีระบบโทรศัพท์ติดตาม การมีระบบการเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามการรักษา การมีระบบการป้องกัน  การตรวจคัดกรองที่ให้ผลคุ้มค่า และการมีระบบการมีส่วนร่วมในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย

ในมุมมองของผู้ให้บริการ แพทย์และผู้บริหารของโรงพยาบาล มีความเห็นว่ายังมีแพทย์เฉพาะทาง  ไม่เพียงพอ ไม่แน่ใจในคุณภาพการรักษา และเห็นว่าค่าตอบแทนไม่จูงใจ รวมทั้งคิดว่าการมีคลินิกนอกเวลา  ไม่มีผลต่อการลาออกของแพทย์ ส่วนในด้านคุณภาพบริการคลินิกนอกเวลาที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน    ทั้งผู้รับบริการ แพทย์และผู้ให้บริการ  มีความเห็นในข้อดีเหมือนกันว่า คลินิกนอกเวลามีประโยชน์ต่อผู้รับบริการ และช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเห็นในข้อเสียเหมือนกันว่า สถานที่แออัดมาก ต้องการให้ปรับปรุงเรื่องสถานที่ ที่นั่งรอตรวจ และความสะอาด

กล่าวโดยสรุปได้ว่ามุมมองที่มีทั้งความเหมือนและแตกต่างกันของผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการ   และผู้ให้บริการที่มีทั้งผู้บริหาร และแพทย์ของโรงพยาบาลนั้นล้วนเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการวางแผน การพัฒนา  และการติดตามประเมินผลรูปแบบบริการของคลินิกนอกเวลาที่เหมาะสม นั้นคือจัดให้มีการตรวจโดยแพทย์เฉพาะทาง และเพิ่มค่าตอบแทนให้จูงใจ  ปรับปรุงสถานที่ให้สะอาดเป็นสัดส่วน  ขยายเวลาคลินิกนอกเวลาเพิ่มรอบเช้า และมีระบบนัดหมายทางโทรศัพท์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการตอบสนองตามความต้องการของผู้มารับบริการโดยตรง

…………………………….