โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

ข้อเท้าแพลงและข้อเท้าเจ็บเรื้อรังในนักกีฬา

                                                                                                                                                      แพทย์หญิงวรรณสิริ  คุปต์นิรัติศัยกุล

                ข้อเท้าแพลงเป็นการบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุดในนักกีฬาแทบทุกประเภท การรักษาเท้าแพลงไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ถ้าวินิจฉัยให้ถูกต้องตั้งแต่แรก และรักษาอย่างมีมาตรฐานเหมาะสม เพราะส่วนใหญ่ไม่ต้องการการรักษาด้วยการผ่าตัด ปัญหาที่เป็นอยู่คือ การวินิจฉัยโรคแรกพบและรักษาไม่ถูกต้อง รวมทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพของนักกีฬาไม่เพียงพอ โดยได้รับความสนใจจากนักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนน้อยกว่าที่ควร ทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำๆ หรือกลายเป็นการบาดเจ็บข้อเท้าแพลงเรื้อรัง ถ้าเรากลับมาพิจารณาถึงพยาธิสภาพของการบาดเจ็บจะพบว่าข้อเท้านั้นในทางกายภาพประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1.เส้นเอ็นยึดข้อเท้า ประกอบด้วย
                1.1 เส้นเอ็น deltoid เป็นพังผืดแผ่นบางๆ สองชั้น ซึ่งอยู่ด้านในของข้อเท้า เชื่อมยึดระหว่างปุ่มกระดูก medial malleolus หรือกระดูกตาตุ่มด้านใน  กระดูก talus หรือกระดูกข้อเท้า และกระดูก calcaneus หรือกระดูกส้นเท้า
                1.2 เส้นเอ็น trigeminal ซึ่งอยู่ทางด้านนอกของข้อเท้า ยึดเชื่อมระหว่างปลายล่างของกระดูก fibula หรือตาตุ่มด้านนอกกับกระดูกข้อเท้า ประกอบด้วยเส้นเอ็นยึด 3 อัน คือ เส้นเอ็น anterior tibiofibular ยึดตรงข้อต่อด้านหน้าระหว่างกระดูก fibular และกระดูก tibia เส้นเอ็น anterior talofibular ยึดระหว่างกระดูก fubula กับกระดูก talus และเส้นเอ็นยึดกระดูกส้นเท้า

2.กล้ามเนื้อ มี 3 กลุ่ม คือ
                2.1 กล้ามเนื้อ peroneus ซึ่งมี 2 มัดคือ กล้ามเนื้อ peroneus longus และกล้ามเนื้อ peroneus brevis อยู่ด้านนอกของข้อเท้าทำหน้าที่บิดข้อเท้าออกนอกเป็นเส้นเอ็นกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บบ่อยที่สุด
                2.2 กล้ามเนื้อ tibialis มีทั้งกล้ามเนื้อ tibialis anterior กล้ามเนื้อ tibialis posterior และกล้ามเนื้อ tibialis brevis ทำหน้าที่กระดกข้อเท้าและบิดเท้าเข้าใน
                2.3 กล้ามเนื้อ gastrocnemius อยู่ทางด้านหลังของข้อเท้ามีหน้าที่กระดกเท้าลง

3.กระดูกมีทั้งหมด 4 ชิ้น คือ กระดูก tibia กระดูก fibula กระดูกข้อเท้า และกระดูกส้นเท้า

 การบาดเจ็บของข้อเท้าในประเทศไทยเท่าที่ได้สังเกตเห็นส่วนใหญ่มีเพียงแต่วินิจฉัยว่าเป็น                          

ข้อเท้าแพลง ส่วนการบาดเจ็บที่กระดูก เช่น กระดูก talus แตกร้าว หรือกระดูก fibula หักที่พบบ่อยในต่างประเทศ แต่ในประเทศเราพบน้อยเพราะเราไม่มีการบาดเจ็บจากการเล่นสกี ซึ่งเป็นการบาดเจ็บจากเท้าบิดออกด้านนอก หรือในกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง หรือสโนบอร์ด เป็นต้น นอกนั้นอาจเกิดการบาดเจ็บจากการแข่งรถมอเตอร์ไซด์ ไม่ค่อยได้วินิจฉัยกันในนักกีฬาบ้านเรา 

อาการและอาการแสดงของข้อเท้าแพลงเรื้อรัง หรือข้อเท้าเจ็บเรื้อรัง

                1.บวมๆ ยุบๆ บริเวณข้อเท้า

                2.เจ็บบริเวณข้อเท้าเวลายืนนานๆ หรือเดินไกลๆ หรือเมื่อขึ้นลงบันไดบ่อย

                3.ไม่สามารถนั่งยองๆ หรือนั่งสมาธิ หรือนั่งพับเพียบได้

                4.กดเจ็บบริเวณข้อเท้าด้านหน้า หรือบริเวณตาตุ่มด้านนอก

                5.จับข้อเท้าบิดเข้าในเต็มที่ มักจะเจ็บข้อเท้าด้านนอก หรือเมื่อกระดกเท้าขึ้นเต็มที่แล้วบิดเท้าออกนอกจะเจ็บบริเวณข้อเท้าด้านหน้า หรือรู้สึกข้อหลวมเมื่อเปรียบเทียบกับข้อเท้าอีกข้าง  จากการจับเท้าบิดออก หรือบิดเข้าเต็มที่ 

การวินิจฉัยโรคข้อเท้าแพลงเรื้อรัง 

                การวินิจฉัยโรคข้อเท้าแพลงเรื้อรังนั้นจะต้องซักประวัติอย่างละเอียด เช่น เกิดขึ้นอย่างไร เมื่อไร ท่าใด ตำแหน่งของข้อเท้า ขณะเกิดการบาดเจ็บเป็นอย่างไร ? การดูแลรักษาเบื้องต้น การวินิจฉัยโรค  การฟื้นฟูสมรรถภาพ การเตรียมตัวก่อนกลับไปเล่นกีฬา ส่วนใหญ่มีประวัติเกิดจากการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ซ้ำซาก เป็นเรื้อรังแล้ว อาการมากขึ้นเรื่อยๆ จนเล่นกีฬาไม่ได้เต็มที่หรือเล่นได้ดีน้อยลง ไม่เคยได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องหรือได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องแต่แรกก็ตาม แต่ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง                                    จนร่างกายและการบาดเจ็บข้อเท้าให้หายสมบูรณ์ จึงฝึกซ้อมแล้วค่อยไปเล่น ต่อมามีอาการปวดบวม และข้ออักเสบ เนื่องจากกระดูกอ่อนหรือผิวข้อได้รับบาดเจ็บ รักษายังไม่หายดี ทำให้ผิวขรุขระ อันเป็นเหตุทำให้ข้ออักเสบและเจ็บในการเคลื่อนที่บางท่า หรือข้อหลวมจากเอ็นยึดข้อฉีกขาด

                ในการตรวจรักษาและวินิจฉัยครั้งแรกๆ นั้น ถ้าหากว่าปวดข้อเท้ามาก บวมทันที และยืนเดินได้  ไม่เกิน 3 ก้าว ก็ขอให้นึกไว้ก่อนเลยว่าเส้นเอ็นยึดข้อน่าจะขาดหลายเส้น หรือมีกระดูกแตกร้าวร่วมด้วย  หรือถ้าข้อเท้าไม่บวม เคลื่อนไหวได้ดี แต่เดินเจ็บ ให้กดบริเวณหลังเท้าดูว่าเจ็บหรือบวมบริเวณนั้นหรือไม่ ?ถ้ากดเจ็บก็แสดงว่ากระดูกเท้าซี่สุดท้ายคงจะแตกหัก หรือถ้ากระดกเท้าเต็มที่แล้วเจ็บ หรือกดเจ็บเหนือ ข้อเท้าให้นึกถึงเส้นเอ็นยึดข้อระหว่างกระดูกขาฉีกขาด คนไข้รายนี้จำเป็นต้องถ่ายภาพทางรังสีของข้อเท้า                                 หรือเท้า และไม่ควรลืมถ่ายภาพแนวเฉียงเสมอ ในรายที่ต้องทำ stress test อย่าลืมฉีดยาชาบริเวณที่สงสัยจะดู ก่อนทำ stress view หรือวางยาสลบเพื่อตรวจก่อนเสมอ โดยมากแล้วมักจะทำตอนจะผ่าตัดหลังวางยาสลบแล้ว

                สำหรับรายที่ข้อเท้าแพลงและได้รับการรักษาดูแลอย่างถูกต้องและมีคุณภาพแล้วเกิน 6 สัปดาห์  แต่ยังมีอาการอยู่ให้สงสัยว่าเอ็นยึดข้อฉีกขาดรุนแรง อาจตรวจด้วย MRI เพื่อดูพยาธิสภาพของการฉีกขาดของเอ็น ส่วนใหญ่จะทำการตรวจด้วยภาพรังสีคอมพิวเตอร์ (CT scan)เพื่อดูรอยกระดูกแตกมากกว่า
                ในรายที่มีข้ออักเสบเรื้อรังอาจต้องตรวจวินิจฉัยด้วยการใช้กล้องส่องเข้าไปในข้อ ปัจจุบันมักไม่ทำเพื่อวินิจฉัยอย่างเดียวเช่นเมื่อก่อน แต่มักจะทำการผ่าตัดรักษาในคราวเดียวกันด้วยถ้าพบความผิดปกติ การบาดเจ็บข้อเท้าเรื้อรังนอกจากเกิดจากข้ออักเสบเรื้อรังอาจต้องตรวจโรคข้ออักเสบอื่นๆ ที่เป็นแฝงร่วมอยู่ด้วยอยู่เดิม เช่น รูมาทอยด์  เอสแอลอี โรคเกาต์  และโรคเบาหวาน ฯลฯ ร่วมอยู่ด้วย พยาธิสภาพที่อาจเกิดร่วมกับข้อเท้าแพลงและหรือเป็นต้นเหตุของการเกิดอาการปวดข้อเท้าเรื้อรังหรือข้อเท้าอักเสบ คือ 

                1.ข้อเท้าขัด

                2.ข้อต่อเอ็นยึด

                3.ข้อเท้าขัดเพราะมีกระดูกไปขวาง

                4.การฉีกขาดที่เป็นเรื้อรังของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ peroneus longus

ข้อเท้าแพลงหรือบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าจากการกีฬา จะแบ่งง่ายๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษา เป็น 3 ระดับ คือ

                1.ข้อเท้าแพลงระดับธรรมดาทั่วๆ ไป

                2.ข้อเท้าแพลงรุนแรงระดับปานกลาง

                3.ข้อเท้าแพลงระดับรุนแรง 

                ข้อเท้าแพลงเป็นการบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุดในการบาดเจ็บจากกีฬา การวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องและมากพอ ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสมตั้งแต่แรกๆ ก็จะทำให้นักกีฬาที่บาดเจ็บนั้นสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ตามปกติ การรักษาไม่ถูกต้อง ไม่ต่อเนื่อง หรือวินิจฉัยไม่ครอบคลุมอาจจะเป็นสาเหตุเบื้องต้นของข้อเท้าแพลงเรื้อรังและเป็นผลให้นักกีฬาทรมาน ขาดความเชื่อมั่น และเลิกเล่นกีฬาก่อนเวลา         อันควร หรือไปไม่ถึงที่สุดตามที่นักกีฬาทั้งหลายได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกเริ่มเล่นกีฬา ดังนั้นทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการกีฬา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์กีฬา รัฐบาล สมาคม ฯลฯ จะต้องตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อเนื่อง และจะต้องเอาใจใส่อย่างยิ่ง เพื่อให้ประเทศไทยได้มีนักกีฬาที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ

 

………………………………………