- April 27, 2022
- somdej_admin
- Comment: 0
- อาหารและยา
เภสัชกรหญิงกมลชนก ม่วงเนียม
โรคเรื้อรัง (Chronic disease) หมายถึง โรคที่เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการหรือต้องรักษาติดต่อกันนาน เป็นแรมเดือนแรมปี หรือตลอดชีวิต มักได้แก่โรคไม่ติดเชื้อ (Non-infectious disease) เป็นส่วนใหญ่ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกอัมพาต โรคหัวใจ โรคหอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง ตับแข็ง มะเร็ง โรคภูมิแพ้ ปวดข้อเรื้อรัง (ที่เรียกว่า รูมาติสซั่ม ซึ่งได้แก่ โรคข้อเสื่อม รูมาตอยด์ โรคเก๊าต์ เป็นต้น) โรคประสาท โรคกระเพาะเรื้อรัง คอพอกเป็นพิษ ธาลัสซีเมีย โรคลมบ้าหมู เป็นต้น นอกจากนี้โรคติดเชื้อเรื้อรัง (Chronic infectious disease) เช่น วัณโรค ก็จัดอยู่ในกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่นเดียวกัน โรคเรื้อรังเหล่านี้ บางชนิดก็อาจค่อยๆทุเลา หรือหายได้ (เช่น อัมพฤกอัมพาต) แต่จะต้องใช้เวลานานหลายปี บางชนิดจะค่อย ๆ ทรุดลงและหมดทางเยียวยา (เช่น มะเร็งตับแข็ง) บางชนิดถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็อาจหายขาดได้ (เช่น วัณโรค คอพอกเป็นพิษ) แต่ต้องกินยาและติดตามผลการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ บางชนิดถ้าได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ก็อาจควบคุมโรคไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และอยู่ได้นานชั่วอายุขัย เช่นคนปกติธรรมดา (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง) แต่ถ้าขาดการควบคุมก็มักจะเกิดโรคแทรกซ้อน และในที่สุดอาจจะเสียชีวิตได้ โรคเรื้อรังที่พบบ่อย เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง สามารถป้องกันได้โดยการลดพฤติกรรมเสี่ยง การไม่สูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกาลังกาย การงดดื่มแอลกอฮอล์ แต่หากตรวจพบว่าเป็นโรคแล้วก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอย่างเคร่งครัด
ในสภาพสังคมปัจจุบันที่ชุมชนเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว และผลจากปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทุกคนมี “สุขภาพดี” หรือมี “สุขภาวะ” อีกทั้งการที่ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น คนในวัยอื่น ๆ ก็มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังมากขึ้น เช่น ขาดการออกกาลังกาย บริโภคอาหารไม่มีประโยชน์ ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และมีปัญหาความเครียด ประชาชนมีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้มีผู้ป่วยเรื้อรังมากขึ้น ผลคือ สังคมเราในทุกวันนี้มีปัญหาสุขภาพที่เกิดมากขึ้น เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง เป็นโรคอ้วน เส้นเลือดในสมองแตก เป็นมะเร็ง เบาหวาน และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เหล่านี้เป็นปัญหาสุขภาพที่ต้องการการจัดการอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุที่อยู่กับบ้าน ไม่มีญาติคอยให้การดูแลเรื่องการทานยา ดังนั้นอาสาสมัครสาธารณสุข จึงควรมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับยา หลักการใช้ยาอย่างถูกต้อง รวมถึงเข้าใจปัญหาความเชื่อผิดๆ และปัญหาการใช้ยาของผู้สูงอายุ เพื่อที่จะช่วยให้อาสาสมัครสาธารณสุข สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแล สร้างเสริมสุขภาพแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้านได้อย่างสมบูรณ์
หลักการให้ยา ที่นิยมกันเป็นสากล คือ กฎ 5 R เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาก่อนให้ยา ดังนี้
R1 Right Person คือ ให้ถูกต้องกับคน คือ ตัวผู้ป่วยที่สูงอายุ มีชื่อตรงตามที่ซองฉลากยาระบุ
R2 Right Drug คือ ให้ถูกชนิดยา/ถูกโรค ซึ่งจะบ่งบอกถึงสรรพคุณยาในการรักษาโรคแต่ละโรค
ควรตรงกับโรคหรือภาวะเจ็บป่วยของผู้ป่วย
R3 Right Dose คือ ให้ถูกขนาดยา เช่น จำนวนมิลลิกรัมของยาตรงตามฉลากยา,จำนวนเม็ด แคปซูล หรือเป็นหยด
R4 Right Route คือ ให้ถูกทาง/ถูกวิธีใช้ เช่น ทางปาก(รับประทาน) ทางผิวหนัง(ทาภายนอก) หยอดตา หรือเหน็บทวารหนัก
R5 Right time คือ ให้ถูกเวลา เช่น ก่อนอาหารเช้า หรือหลังอาหาร หรือให้เมื่อมีอาการ และให้วันละกี่ครั้ง หรือ จำหลักง่ายๆในการเตือนตนเอง คือ
Ø ยาของใคร
Ø เวลาใด
Ø ชนิดไหน
Ø ให้ทางใด
Ø ขนาดเท่าไร
10 พฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ปลอดภัยที่พบบ่อย
ปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยาของคนไทยที่พบบ่อย ได้แก่ การแพ้ยา ใช้ยาเสื่อมคุณภาพ ใช้ยาเกินขนาด หรือการได้รับปริมาณยาในขนาดที่ไม่เหมาะสม เช่น มากไป หรือน้อยไป และการใช้ยาไม่ถูกกับโรค เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความไม่เข้าใจและพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมของตัวผู้ป่วยเอง ในอีกมุมอาจเกิดจากระบบสาธารณสุขและการให้ บริการทางเภสัชกรรมที่ทำได้ไม่ทั่วถึง จำนวนผู้ป่วย และรายการยาของผู้ป่วยแต่ละรายมีจำนวนมาก อาจทำให้มีการสื่อสารอย่างรวดเร็วเกินไป ผลคือเข้าใจไม่ตรงกัน ผู้ใช้ยาจึงมีพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความเข้าใจไม่ถูกต้อง หรือความเชื่อแบบผิด ๆ ของผู้ใช้ยา โดยพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ปลอดภัยที่พบ ได้แก่
1. ปรับขนาดยาเองตามใจชอบ ด้วยความเชื่อที่ว่ารับประทานยามากไม่ดี เมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็หยุดยาเอง เช่น บางคนความดันเลือดสูง พอรับประทานยาแล้วความดันลดลง ก็งดยาเองไม่ยอมรับประทานต่อตามแพทย์สั่ง ความดันก็จะสูงขึ้นอีก หรือยาบางอย่าง เช่น ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ ซึ่งต้องรับประทานให้หมดตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยบางคนรับประทานไปได้ระยะหนึ่ง อาการหายไปก็หยุดยาเอง ผลคือเกิดเชื้อดื้อยาขึ้น ครั้งต่อไปต้องใช้ยาที่แรงขึ้น เป็นต้น หรือในทางตรงข้ามเชื่อว่ารับประทานยามากแล้วหายเร็ว จึงเพิ่มขนาดยาเอง ผลคือความดันอาจลดลงต่ำจนเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้
2. นำยาของคนอื่นมาใช้ ด้วยความเอื้อเฟื้อจากเพื่อนบ้าน หรือคนในบ้านเดียวกัน เมื่อฟังว่ามีอาการเหมือนกัน ก็ขอยาที่เพื่อนใช้มาทดลองใช้บ้าง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าอาการที่เหมือนกันนั้นอาจมาจากสาเหตุที่ต่างกัน ซึ่งนอกจากโรคไม่หายแล้วยังเสี่ยงต่อการเกิดการแพ้ยา หรือเกิดอาการข้างเคียงจากยาอีกด้วย
3. ไม่พร้อมฟังคำอธิบายจากเภสัชกร พฤติกรรมนี้พบบ่อยมากเวลาผู้ป่วยมารับยาที่ห้องยาตามสถานพยาบาล ผู้ป่วยมักจะรีบกลับบ้าน ไม่สนใจว่าเภสัชกรจะอธิบายวิธีใช้อย่างไรเพราะเข้าใจว่าอ่านฉลากเองได้ แต่เมื่อกลับไปบ้านแล้วมีข้อสงสัยวิธีการใช้ ก็ไม่ทราบจะถามใคร ซึ่งในบางกรณีแพทย์อาจเปลี่ยนชนิดของยาหรือเปลี่ยนขนาดที่เคยใช้อยู่เดิม ก็อาจไม่ทราบ เพราะเคยใช้อยู่อย่างไรก็ใช้ในขนาดเดิมนั้น ไม่ได้อ่านฉลากยาให้ละเอียด หรือบางครั้งรับประทานยาเดิมที่แพทย์สั่งหยุดแล้วควบไปกับยาใหม่อีก ทำให้ได้ยาเกินขนาด หรือบางครั้งยามีอาการข้างเคียงที่เภสัชกรจะบอกให้ทราบล่วงหน้าเพื่อเป็นการ สังเกตอาการ หรือไม่ต้องกังวลเมื่อเกิดอาการดังกล่าว แต่ไม่มีโอกาสบอก เพราะผู้ป่วยไม่พร้อมรับฟัง
4. เก็บยาไม่ถูกต้อง เมื่อรับยามาจากสถานพยาบาล หรือซื้อยามาแล้วทิ้งไว้ในรถซึ่งจอดกลางแดด หรือเข้าใจว่ายาทุกชนิดควรเก็บไว้ในตู้เย็น หรือในช่องแข็ง ทำให้ยาเสื่อมก่อนถึงวันหมดอายุ ประสิทธิภาพยาลดลง
5. ไม่ดูวันหมดอายุเวลาซื้อยา ทุกครั้งที่ซื้อยาต้องหาดูวันหมดอายุที่แผงหรือขวดยา หรือหลอดบรรจุยา ให้มั่นใจว่ายาที่ซื้อไปยังไม่ถึงวันหมดอายุ อย่างน้อยที่สุด 6 เดือนถึง 1 ปี
6. ลืมรับประทานยา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรับประทานยาจำนวนมากมักลืมรับประทานยามื้อกลางวันบ่อยที่สุด หรือมักลืมรับประทานยาก่อนอาหาร ซึ่งยาบางอย่างจำเป็นต้องรับประทาน ก่อนอาหารครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง เพราะยาจะถูกดูดซึมดีตอนท้องว่าง หรือยาบางชนิดเพื่อให้ออกฤทธิ์พอดีเวลาอาหาร
7. ใช้ยาไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะยาที่มีเทคนิคพิเศษในการใช้ ทำให้ใช้ยาไม่ได้ผล เช่น ยาพ่นป้องกันการจับหืด ซึ่งมีชนิดต่าง ๆ มากมาย เป็นต้น
8. ไม่นำยาเก่ามาด้วยเวลามารักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้บางครั้งไม่ได้รับยาที่รับประทานต่อเนื่องเพื่อรักษาโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่เดิม แต่ครั้งนี้มารับการรักษาอาการอื่น แพทย์เองก็ไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไรอยู่ก่อน
9. ชอบไปรับการรักษาจากหลายสถานพยาบาล ทำให้ได้รับยาซ้ำซ้อน บางครั้งยามีปฏิกิริยากัน อาจเสริมฤทธิ์กันหรือทำให้ฤทธิ์ยาลดลง
10. เชื่อว่าการใช้ยาดีกว่าการป้องกันการเกิดโรค คนส่วนใหญ่ชอบที่จะได้รับยาจากแพทย์เพื่อรักษามากกว่าการรับฟังคำแนะนำการ ดูแลรักษาตัวเพื่อป้องกันการเกิดโรค ซึ่งแท้จริงแล้วการป้องกันการเกิดโรคย่อมดีกว่า หรือถึงแม้รับประทานยาเพื่อรักษาโรคเรื้อรังอยู่แล้วก็ไม่ระวังดูแลตนเอง เพราะคิดว่าหากมีอาการมากขึ้นก็เพิ่มขนาดยาเข้าไปอีก ลืมคิดไปว่ายามีทั้งคุณและโทษ ไม่ควรใช้ยาโดยไม่จำเป็น หรือหากต้องใช้ยาก็ต้องใช้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ผู้ป่วยโรคเรื้อรังกับการใช้ยาอย่างพอเพียง
การใช้ยาในผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ จึงควรยึดหลัก “การใช้ยาแบบพอเพียง” โดยใช้อย่างเหมาะสม และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งมีหลักการง่าย ๆ ดังนี้
1. ใช้ยาน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งรวมถึงทั้งจำนวน ชนิดของยา และระยะเวลาในการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้สั่งจ่ายว่า ยาแต่ละชนิดมีข้อบ่งใช้อย่างไร และควรใช้ยานานเพียงใด เพราะยาบางอย่างควรใช้ติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ แต่บางชนิดก็ใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น และเมื่อหายดีแล้วก็ไม่ควรใช้ยาถ้าไม่มีอาการ
2. บอกกล่าว หรือนำยาทุกชนิดที่ผู้สูงอายุใช้อยู่ไปให้แพทย์ได้รับรู้ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยง และลดการซ้ำซ้อนของยา ผลเสียของยา และยาตีกัน ซึ่งรวมถึงสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อยาและความรุนแรงของโรคที่ผู้สูงอายุประสบอยู่ โดยเฉพาะเมื่อไปหาแพทย์หลายคน เนื่องจากเป็นหลายโรค จะมีโอกาสใช้ยาซ้ำซ้อนและเกินขนาด ทำให้เกิดอันตรายได้
3. ตรวจเช็คยาทุกครั้งที่รับยา ถ้ามีข้อสงสัย ควรสอบถามกับผู้สั่งจ่ายทันที เช่น ชื่อผู้ป่วย ชนิดของยา วิธีใช้ โดยเฉพาะยาแบบพิเศษ ข้อควรระวัง ยาใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ เป็นต้น โดยยึดหลัก ถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด ถูกวิธีใช้ และถูกเวลา (5R) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
4. จัดเตรียมยาให้พร้อมต่อการใช้ เช่น การหักครึ่งเม็ด การกดยาเม็ดออกจากห่อ หรือกระดาษ ฟรอยด์ การจัดยาเป็นเวลา เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้ยาอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและเหมาะสม เป็นการเพิ่มความสะดวก และเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยา ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดี แต่ทั้งนี้ไม่ควรเตรียมยาไว้เยอะ โดยเฉพาะยาที่อาจชื้นง่าย หรือจำเป็นต้องเก็บพ้นแสง หากแกะออกจากห่อ หรือแบ่งครึ่งเม็ดยาออกมาเยอะจนเกินไป อาจทำให้ยาเสื่อมสภาพก่อนถึงเวลาในการรับประทานยาจริง
……………………………………………………