- April 27, 2022
- somdej_admin
- Comment: 0
- อาหารและยา
ภญ.ทิพวรรณ วงเวียน
ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เป็นยารักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ยากลุ่มนี้มีหลายชนิด เช่น เพนนิซิลลิน อะม๊อกซี่ซิลลิน อีริทโทมัยซิน ร็อกซิโทมัยซิน ซัลฟา นอร์ฟล็อกซาซิน โอฟล็อกซาซิน ซิโปรฟล็อกซาซิน เตตร้าซัยคลิน ทีซีมัยซิน กาโน่ เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนิดใช้รักษาแบคทีเรียได้ต่างชนิดกัน ยาปฏิชีวนะต้องใช้เฉพาะเมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ แผลพุพองเป็นหนอง เป็นต้น ซึ่งยาปฏิชีวนะที่ใช้ก็ต้องตรงกับเชื้อที่เป็นสาเหตุ ไม่ใช่จะใช้ยาชนิดใดก็ได้
คนไทยมักเรียกยาปฏิชีวนะว่า “ยาแก้อักเสบ” ซึ่งเป็นการเรียกที่ไม่ถูกต้อง และทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ทุกครั้งที่มีอาการอักเสบไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาทั้งหมด อันเป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง
การอักเสบเป็นผลจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกาย ก่อให้เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน และอาจมีไข้
การอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
1.การอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ แผลพุพองเป็นหนอง เป็นต้น
2.การอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
3.การอักเสบจากการไม่ติดเชื้อ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ ปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดประจำเดือน หลอดลมอักเสบจากโรคภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น
การอักเสบส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า เมื่อเป็นหวัด มีอาการเจ็บคอ น้ำมูกไหล เสียงแหบ มีเสมหะต้องกินยาปฏิชีวนะซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะอาการเหล่านี้เป็นอาการของโรคหวัดซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนยาปฏิชีวนะใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงใช้ไม่ได้ผลกับโรคหวัด
อาการเจ็บคอและคอแดง เป็นอาการที่พบได้บ่อยเมื่อป่วยด้วยโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน ขณะเจ็บคอย่อมมีการอักเสบขึ้นในบริเวณลำคอ เนื่องจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อการติดเชื้อ การติดเชื้อที่คอร้อยละ 85 ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรคหวัด ไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโรคมือ เท้า ปาก เป็นต้น ดังนั้นการเจ็บคอมากกว่า 8 ใน 10 ครั้งจึงไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้เพราะยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัส จึงไม่ทำให้โรคหายเร็วขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นเราจึงควรสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับสังคมไทยด้วยการเลิกเรียกยาปฏิชีวนะว่ายาแก้อักเสบ เพื่อขจัดความเข้าใจผิดว่าเมื่อมีคออักเสบ ต้องกินยาแก้อักเสบ ทั้งที่คออักเสบส่วนใหญ่หายได้เองด้วยภูมิต้านทานโรคของร่างกาย โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
1. โรคหวัดหายได้เอง โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
การรักษาโรคหวัด ควรรักษาตามอาการ เช่น
– ถ้าเป็นไข้ ก็กินยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล หรือเช็ดตัวให้ลดไข้
– ถ้ามีน้ำมูกมาก อาจล้างรูจมูกด้วยน้ำสะอาด เพื่อให้จมูกรู้สึกโล่งขึ้น
– ถ้าคัดจมูก อาจกินยาเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก
– ถ้ามีอาการเจ็บคอ เสียงแหบหรือไอ ควรลดการใช้เสียง ดื่มน้ำอุ่น อาจกินยาฟ้าทะลายโจร เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ หรืออมยามะแว้ง ให้ชุ่มคอได้
– หากไอมาก อาจใช้ยาแก้ไอช่วยบรรเทาอาการ
– วิธีการรักษาโรคหวัด เจ็บคอที่ดีที่สุดคือ ดื่มน้ำอุ่นและพักผ่อน เพราะจะช่วยให้หวัดหายได้เร็วขึ้น
– ยาปฏิชีวนะไม่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ จาม ปวดหัว ครั่นเนื้อครั่นตัว
อาการเจ็บคอแบบไหนที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
หากท่านเจ็บคอมากและมีไข้สูง โดยไม่มีอาการหวัดหรือไอ มีจุดสีขาวที่ต่อมทอนซิล (ตามรูปที่ 1)
หรือคลำบริเวณขาไกรกรรพบต่อมน้ำเหลืองโตกดเจ็บ ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและเชื้อที่เป็นสาเหตุ และรับการรักษาหรือใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมทั้งชนิด ขนาด และระยะเวลาที่รักษา เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเจ็บคอรักษาได้ง่ายด้วยยาปฏิชีวนะที่มีราคาไม่แพง ซึ่งแพทย์หรือเภสัชกรจะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์แคบและเจาะจงต่อเชื้อให้ท่าน เพื่อป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา และลดอันตรายจากยาที่ออกฤทธิ์กว้าง
นอกจากจะไม่สามารถรักษาโรคหวัด เจ็บคอได้แล้ว ยาปฏิชีวนะยังใช้ไม่ได้ผลกับโรคท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรืออาหารเป็นพิษ อีกด้วย ยาปฏิชีวนะจะใช้ได้ผลกับอาการท้องเสียที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น และอาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะพบได้น้อยมาก จากสถิติพบว่าผู้ป่วยท้องเสีย 100 คน จะติดเชื้อแบคทีเรียเพียงแค่ 5 คนเท่านั้น
2. ท้องเสียหายได้เอง โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
วิธีการรักษาท้องเสีย ควรปฏิบัติ ดังนี้
1.ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป
2.ควรกินอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก หรือ ข้าวต้ม
3.งดอาหารรสจัด หรือ อาหารย่อยยาก
4.หลีกเลี่ยงการทานนมทุกชนิด
5.หากท้องเสียไม่ติดเชื้อแบคทีเรียอาจใช้ผงถ่านคาร์บอน (Activated charcoal) ดูดซับสารพิษ และก๊าส ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียและทำให้อุจจาระเหลวน้อยลง
6.ถ้าท้องเสียร่วมกับมีไข้สูง และถ่ายเป็นมูกเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ หรือ ปรึกษาเภสัชกร
สำหรับผู้ป่วยที่มีแผลเลือดออก ถ้าแผลไม่สัมผัสสิ่งสกปรก และผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงดี เช่นไม่เป็นเบาหวาน ก็ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ผู้ป่วยจะต้องไม่ให้แผลโดนน้ำ รักษาบริเวณแผลให้สะอาด ไปทำแผลตามนัด หรือทำแผลเองอย่างถูกวิธี ยาปฏิชีวนะไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ ไม่ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น การรักษาความสะอาดของแผลให้ดีก็เพียงพอที่จะทำให้แผลหายได้ แต่ถ้าแผลบวมอักเสบ ต้องรีบไปหาหมอทันที
3. แผลสะอาด “ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ” หมายถึง บาดแผลเปิดที่มีขอบเรียบ ไม่มีเนื้อตาย บาดแผลสกปรกแต่ล้างออกง่าย
ส่วนแผลที่มีโอกาสติดเชื้อสูง “ควรใช้ยาปฏิชีวนะ ป้องกันการติดเชื้อ” หมายถึง แผลถูกวัตถุทิ่มเป็นรู ถูกบดอัด มีเนื้อตาย ขอบไม่เรียบ ปนเปื้อนสิ่งที่มีแบคทีเรียมาก เช่น น้ำคร่ำ น้ำสกปรก
วิธีดูแลบาดแผลสะอาด
1.ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำเกลือ หรือ น้ำสะอาด ชะล้างบาดแผลให้ทั่วถึง
2.ไม่จำเป็นต้องใส่น้ำยาฆ่าเชื้อใดๆ ลงในบาดแผล เพราะอาจทำลายเนื้อเยื่อ ทำให้หายช้าลง
3.ดูแลบาดแผลอย่าให้โดนน้ำเป็นเวลา 3-7 วัน
4.ล้างแผลในอีก 24-48 ชั่วโมงถัดไป โดยการเช็ดเบาๆ ด้วยสำลีชุบน้ำเกลือหมาดๆ อย่าให้แผลชุ่มหรือเปียก แต่ถ้าแผลบวมอักเสบ ต้องรีบไปหาหมอทันทีใช้ให้ถูก เมื่อจำเป็นต้องใช้…ยาปฏิชีวนะ
– เมื่อจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร โดยกินยาให้ครบตามขนาดและตามกำหนดอย่างเคร่งครัด
– อย่าแบ่งยาให้ผู้อื่น เพราะจะทำให้ทั้งเราและผู้อื่นกินยาไม่ครบตามขนาด
– อย่าเก็บยาไว้กินครั้งต่อไป เพราะยาอาจหมดอายุ หรืออาจเป็นเชื้อชนิดอื่นที่ไม่สามารถใช้ยานี้รักษาได้
– อย่าใช้ยาปฏิชีวนะตามที่คนอื่นแนะนำ เพราะเขาอาจหวังดีแต่เขาไม่มีความรู้เรื่องยาและโรคที่เราเป็น จึงอาจเป็นอันตรายกับเราได้
อันตราย…หากใช้ยาปฏิชีวนะไม่เหมาะสม
– แพ้ยา มีตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น ผื่น คัน จนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เช่น รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก และช็อค
– อาการข้างเคียง มีตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน จนไปถึงอาการรุนแรง เช่น ตับอักเสบ ตาบอด และเอ็นร้อยหวายฉีกขาด
– เชื้อดื้อยา ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะอื่นที่แพงขึ้น มีผลข้างเคียงหรืออันตรายมากขึ้น ใช้เวลารักษานานขึ้น สุดท้ายยาอะไรก็รักษาไม่หาย ที่สำคัญเชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นนั้นสามารถติดต่อสู่คนรอบข้างได้ผ่านทางการไอ จาม กิน และสัมผัส ถ้าเชื้อดื้อยากระจายออกไปมากๆ จะเป็นอันตรายร้ายแรงมากต่อสังคมไทย
– ติดเชื้อแทรกซ้อน จะทำให้ติดเชื้ออื่นๆ แทรกซ้อน เช่น เชื้อราทำให้มีตกขาว คันก้น หรือเป็นฝ้าขาวในช่องปาก หรือติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่รักษาได้ยากทำให้ป่วยหนัก ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
หลังจากท่านอ่านบทความนี้คิดว่าคงทำให้เข้าใจหลักการใช้ยาใน 3 โรคที่พบบ่อย ซึ่งสามารถหายได้เอง โดยไม่ต้องใช้ปฏิชีวนะกันมากขึ้นนะคะ ต่อไปท่านผู้อ่านทุกท่านคงใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นเพื่อลดโอกาสเกิดการแพ้ยาและการดื้อยาในอนาคต และหยุดเรียก “ยาแก้อักเสบ” เปลี่ยนไปใช้คำว่า “ยาปฏิชีวนะ” แทน เพื่อไม่ให้มีการใช้ยาผิดประเภท หรือรักษาผิดโรคได้ และอย่าแปลกใจ ถ้าแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่จ่ายยาปฏิชีวนะให้คุณ ทั้งนี้เป็นเพราะ คุณไม่ได้เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เรื่องสำคัญแบบนี้ อย่าลืมบอกต่อคนที่คุณรักและคนที่รักคุณนะคะ
เอกสารอ้างอิง: แนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจส่วนบนและอวัยวะใกล้เคียง โรคท้องร่วงเฉียบพลัน โรคแผลเลือดออก ในโครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล Antibiotics Smart Use สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)