โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง…ในเด็กสมองพิการ

          ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งที่พบได้มากที่สุดในเด็กเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทการควบคุมการเคลื่อนไหวที่สมอง หรือไขสันหลัง เช่น จากโรคสมองพิการ โรคของไขสันหลัง ภาวะหดเกร็งนี้หากปล่อยไว้นานไม่ได้รับการรักษาจะเกิดภาวะข้อยึดติดทำให้เคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก 

 

นอกจากนี้ถ้าเด็กไม่ได้เคลื่อนไหว หรือใช้งานแขนขาส่วนใดไปนานๆ สมองส่วนที่ควบคุมแขน ขา ตรงนั้นจะไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งอาจจะทำให้เด็กไม่เคลื่อนไหวส่วนของแขน ขา นั้นไปเลยก็ได้ ดังนั้นการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยป้องกันความพิการที่เกิดตามมาได้

          เนื่องจากภาวะหดเกร็งเกิดจากความผิดปกติที่สมอง ดังนั้นหากป้องกันไม่ให้เกิดได้ก็จะเป็นการดีที่สุด คุณแม่ต้องฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลอื่นๆ เพื่อดูแลไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ หากมีภาวะผิดปกติต่างๆ ขณะตั้งครรภ์ก็จะรักษาได้อย่างทันท่วงที และจะต้องดูแลเรื่องโภชนาการให้ดีเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสมองพิการแก่ลูก เช่น การคลอดก่อนกำหนด การติดเชื้อ การขาดออกซิเจนขณะคลอด แต่ถ้าหากว่าเกิดโรคสมองพิการแล้วมีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งเกิดขึ้น แพทย์ก็จะดูแลให้แนวทางการรักษา ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยโรค และเป้าหมายในการรักษา โดยใช้หลากหลายวิธีประกอบกันไม่ว่าจะเป็น

       

        1. การแนะนำเรื่องการจัดท่าทางของผู้ป่วยให้เหมาะสมเพื่อช่วยลดอาการเกร็ง เช่น การจัดท่านั่ง ท่านอน และอิริยาบถต่างๆ รวมทั้งการสอนท่ายืดกล้ามเนื้อตามข้อต่างๆ
        2. การทำกายภาพบำบัด ได้แก่ การยึดกล้ามเนื้อ การฝึกการทรงตัว การเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ เพื่อควบคุมภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยเทคนิคทางกายภาพ
        3. การทำกิจกรรมบำบัด ได้แก่ การฝึกการใช้มือ การกระตุ้นประสาทการรับรู้ การฝึกกิจวัตรประจำวัน โดยการใช้อุปกรณ์ ของเล่น และกิจกรรมต่างๆ เข้ามาช่วย
        4. การใช้ยาฉีด Botulinum Toxin Type A เข้าไปในกล้ามเนื้อเพื่อยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อบางส่วน ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อทำให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น และไม่มีผลข้างเคียงในแง่ของการง่วงซึมเหมือนยารับประทานซึ่งทำให้เด็กให้ความร่วมมือในการฝึกได้ดีขึ้น ยา Botulinum Toxin Type A ถือว่าเป็นยาที่มีความปลอดภัยเพราะมีมาหลายสิบปีแล้ว เริ่มแรกใช้ในการฉีดเด็กที่มีปัญหาตาเข ต่อมานำมาใช้ในภาวะคอบิดเกร็งในผู้ใหญ่ ตากระตุก ปากกระตุก แขนขาเกร็งจากโรคหลอดเลือดสมอง และปัจจุบันได้นำมาใช้ในเด็กที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคสมองพิการ

          ดังนั้นการพาลูกมาพบแพทย์เพื่อรักษาแต่เนิ่นๆ นอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสในด้านความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง และป้องกันการเกิดความพิการให้แก่ลูกแล้ว ยังอาจทำให้พบศักยภาพด้านอื่นๆ รวมไปถึงอัจฉริยภาพที่ซ่อนอยู่ของลูกได้ เพราะโรคสมองพิการนั้นไม่ได้เสียไปทั้งสมอง แต่จะมีส่วนหนึ่งผิดปกติที่สมองที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว สมองในส่วนที่ปกติยังมีอยู่ และยังสามารถพัฒนาได้ต่อไป หากได้รับการดูแลกระตุ้นให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งท่านสามารถรับคำปรึกษาและรักษาพยาบาลได้ที่ คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย วันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 11.00 น. ในวัน และเวลาราชการ

———————————————–