โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

ถามมาตอบไป ปัญหาคาใจเรื่องยา

                                                                                                                                             เภสัชกรหญิงกมลชนก  ม่วงเนียม

                สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านที่น่ารัก ฉบับนี้ได้รับมอบหมายมาไขข้อข้องใจของผู้ใช้ยาหลายๆ ท่าน ถึงเรื่องการใช้ยารูปแบบต่างๆ ที่เราหาซื้อกันตามร้านขายยา และคลินิกแพทย์กว่า 10 คำถามมาตอบกันให้เข้าใจแจ่มชัดกันไปเลยนะคะ

ถาม: ซื้อยามากินเอง เห็นฉลากเขียนว่า “ยาอันตราย” หมายความว่าอย่างไร ?

ตอบ: ตำรับยาบางชนิด อาจมีข้อความพิเศษ เช่น เขย่าขวดก่อนใช้ ยาใช้เฉพาะที่ ยาใช้ภายนอก ยาอันตราย และยาควบคุมพิเศษ เป็นต้น ก็จะทำให้เราใช้ยาได้ถูกต้อง ถ้าเป็นยาที่มีข้อความว่า “ยาอันตราย” หมายความว่า ยานั้นเป็นยาที่ไม่ควรซื้อหามาใช้เองโดยที่ไม่ทราบว่าเป็นยาอะไร ใช้รักษาอาการใด เนื่องจากเป็นยาที่มีความอันตราย และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้นค่ะ

ถาม: การกินยาก่อน หรือหลังอาหาร หากงดอาหารมื้อนั้น จะต้องกินยาหรือไม่คะ ?

ตอบ: ปัญหานี้จะพบมากในมื้อเช้า เนื่องจากคนเมือง หรือปัจจุบัน ชาวนาชาวไร่ ที่ออกไปทำงานแต่เช้า มักจะไม่ได้กินอาหารเช้า ในกรณียาก่อนอาหารไม่เป็นไร สามารถกินได้เลย และดื่มน้ำตามพอสมควร สำหรับยาหลังอาหาร หากเป็นตัวยาที่ไม่ระคายกระเพาะ ไม่ใช่ยาแก้อักเสบกล้ามเนื้อ ก็สามารถที่จะกินได้เลยเช่นกัน แต่ถ้ากินร่วมกับยาก่อนอาหาร ให้ทิ้งเวลาห่างจากยาก่อนอาหารสักครึ่งชั่วโมง เพราะไม่มั่นใจว่ายาที่กินอยู่นั้นจะตีกันหรือเปล่า หลักการนี้ก็ใช้กับยาที่ต้องให้มื้ออื่นๆ แต่ต้องงดเหมือนกัน กล่าวคืองดอาหารได้ แต่ห้ามงดยาค่ะ อย่างไรก็ตามยาหลังอาหาร อาจหาอะไรรองท้องสักเล็กน้อย เช่น ขนมทุกประเภท หรือน้ำเต้าหู้ จากนั้นจึงกินยา ก็อาจจะลดผลข้างเคียงจากยาลงได้ค่ะ ที่สำคัญจะต้องดื่มน้ำตามมากๆ หลักการนี้ใช้กับยามื้อเย็นของพระสงฆ์ด้วยเช่นกันนะคะ

ถาม: ยาเม็ดแบ่งครึ่ง กิน เช้า-เย็น จะกินครั้งเดียว 1 เม็ดตอนเช้า หรือตอนเย็นได้หรือไม่ ?

ตอบ: ไม่ได้ค่ะ เนื่องจากอาจได้รับยาในขนาดที่มากไปในมื้อใดมื้อหนึ่ง และอีกมื้อไม่ได้รับยา การที่ได้รับยาครึ่งเม็ดนั้น แพทย์ได้คำนวณแล้วค่ะว่าเป็นขนาดที่เหมาะสมในการรักษา หรือเป็นไปตามน้ำหนักของผู้ป่วยค่ะ ส่วนการแบ่งให้กินเช้า-เย็น เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ยาตัวนั้นจะออกฤทธิ์ต่อเนื่อง เพราะหากกินวันละครั้ง อาจไม่สามารถควบคุมอาการในช่วงท้ายของวัน หรือในเวลากลางคืนค่ะ อย่างไรก็ตามมียาบางประเภท แพทย์สั่ง 1 เม็ด แต่ดูว่าเม็ดใหญ่กลืนลำบาก ผู้ป่วยจึงใช้มีดแบ่ง ซึ่งยาบางรายการก็ทำเช่นนี้ไม่ได้ เพราะมีผลทำลายรูปแบบยาที่เหมาะสม เนื่องจากยาบางรายการต้องการให้ไปดูดซึมที่ลำไส้เล็กส่วนต้น การแบ่งครึ่งทำให้ยาไปแตกตัวที่กระเพาะอาหารแทน ซึ่งยาอาจไม่ทนกรดในกระเพาะอาหารก็ได้ค่ะ

ถาม: ยาน้ำบรรจุในขวดหน้าตาคล้ายๆ กัน อ่านชื่อยาไม่ออก ดูอย่างไรว่า ขวดไหนเป็นยาใช้ภายนอก หรือใช้กิน ?

ตอบ: “ยาใช้ภายนอก มักติดฉลากข้อความว่า “ยาใช้ภายนอก ห้ามกิน” โดยใช้ตัวหนังสือสีแดง ส่วนยาใช้ภายใน หรือยาชนิดกิน จะเขียนฉลากว่า “ยากิน” โดยใช้ฉลากสีน้ำเงิน หรือตัวอักษรสีน้ำเงิน หรือสีดำ ทั้งนี้เราควรควรจัดตู้ยาให้เป็นระเบียบ โดยแยก ยาใช้ภายนอก ยาใช้ภายใน และเวชภัณฑ์ เพื่อป้องกันอันตรายจากการหยิบยาผิดนะคะ

ถาม: พาราเซตะมอล จากฉลากยาที่บอกว่ากินเมื่อมีอาการ จะกินอย่างไรคะ

ตอบ: พาราเซตะมอล (Paracetamol) เป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ใช้เฉพาะเมื่อมีอาการปวด หรือมีไข้ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานกว่า 10 วัน ส่วนใหญ่มีขนาด 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด ผู้ใหญ่ไม่ควรกินพาราเซตะมอลเกินกว่าครั้งละ 2 เม็ดและไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน สำหรับผู้หญิงที่มีรูปร่างเล็กน้ำหนักน้อยกว่า 50 กิโลกรัม อาจกินเพียงครั้งละ 1 เม็ด 500 มิลลิกรัมก็เพียงพอ บางครั้งจะเห็นบนฉลากยาเขียนว่า กินครั้งละ 2 เม็ด ทุก 4 – 6 ชั่วโมง หากกินตามฉลากยาอาจกิน 8 – 12 เม็ดต่อวัน ซึ่ง 12 เม็ดจะเกินกว่าที่แนะนำ (ไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน) ดังนั้น ควรกินครั้งละ 2 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง หรือหากปวดมาก หรือมีไข้สูง อาจเลื่อนเวลากินเม็ดถัดไปให้ใกล้เข้ามาคือ อีก 4 ชั่วโมงกินยาใหม่ได้ แต่วันหนึ่งไม่ควรกินยาพาราเซตะมอลเกิน 8 เม็ด และกินติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน การกินยานี้ติดต่อกันนานๆ อาจเกิดอันตรายจากการใช้ยาพาราเซตามอลที่พบได้มากที่สุด คือ “พิษต่อตับ ทำให้ตับวาย”

ถาม:  อาชีพยาม ยาก่อนนอนกินอย่างไร หรือยาหลังอาหารกินอย่างไร ถึงจะเหมาะสมดีคะ ? 

ตอบ: อาชีพยาม หรือรักษาความปลอดภัย (รปภ.) จัดเป็นอาชีพหนึ่งที่พบว่ามีปัญหากับการกินยาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะยามที่ต้องอยู่เวรตอนกลางคืน ดังนั้นเมื่อถามว่ายาที่กินตอนกลางคืนนั้นจะต้องกินอย่างไร พบว่ายาที่แพทย์สั่งให้กินตอนก่อนนอนตอนกลางคืน ส่วนใหญ่นั้นพบว่าเป็นการสั่งเพื่อลดอาการข้างเคียงจากยา เช่น ยาที่กินแล้วทำให้ง่วงซึม จึงให้กินก่อนนอนเพราะฉะนั้นยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึมนั้น ถ้ากินตอนเริ่มทำงานก็อาจจะทำให้เป็นปัญหาในการทำงานได้ เช่น การทำงานกับเครื่องจักร การขับขี่ยานพาหนะ หรือโดยเฉพาะอาชีพยามนั้นอาจทำให้หลับยามได้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้ายาตัวใดที่ให้กินก่อนนอนเพื่อลดอาการข้างเคียงจากยาที่อาจเกิดกับผู้ป่วย ยากลุ่มนั้นควรกินก่อนจะนอนหลับจริงๆ ตามแบบแผนแต่ละบุคคล หากยามออกเวรตอนเช้า ก็อาจปรับเวลายาก่อนนอนมากินตอนเช้า สำหรับประเด็นอื่นก็อาจจะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาของยา หรือเพื่อเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย ยากลุ่มนี้อาจจำเป็นต้องกำหนดเวลากินที่ชัดเจนของการกินยาก่อนนอน เช่น หนึ่งทุ่ม หรือสองทุ่ม เป็นต้น กล่าวโดยสรุป หากกินก่อนนอนวันละครั้ง ให้ถามแพทย์ หรือเภสัชกรว่าเหตุผลคืออะไร เช่น ทำให้ง่วงนอน ก็ปรับตามเวลาที่ว่า หรือเป็นเวลาที่เหมาะสำหรับกินยาประเภทนั้น ๆ ก็กินตามเวลานั้น แต่หากให้วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร และก่อนนอน เช่นนี้ไม่น่าเกี่ยวข้องกับการที่ยาทำให้ง่วง สามารถกำหนดตารางเวลากินเป็นทุก 6 ชั่วโมงได้ และปรับให้สอดคล้องกับความสะดวก

                สำหรับประเด็นในเรื่องของการกินยาก่อน และหลังอาหารก็พบว่าจะคล้ายกับยาที่กินก่อนนอนคือยาที่แพทย์สั่งให้กินก่อนและหลังอาหารเพราะว่าเพื่อลดอาการข้างเคียงจากยาหรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ยกตัวอย่างยาลดน้ำตาลในเลือด อาจมีทั้งก่อน และหลังอาหาร เช่น ยากลัยพิไซด์ให้กินก่อนอาหารเพื่อหวังผลให้ยาไปลดระดับน้ำตาลหลังกินอาหาร หรือยาเมทฟอร์มินให้กินหลังอาหารเพื่อลดอาการข้างเคียงจากยา เป็นต้น ดังนั้นยาในกลุ่มดังกล่าวควรใช้มื้ออาหารมาเป็นข้อกำหนดในการกินยาจะดีที่สุด แต่หากไม่สามารถใช้มื้ออาหารมากำหนดระยะเวลากินได้สม่ำเสมอ หรือชัดเจน อาจกำหนดระยะเวลาทุก 6 หรือ 8 ชั่วโมงได้ แทนการกินยาวันละ 4 หรือ 3 ครั้งตามลำดับ

ถาม: ยาหยอดตา ต้องใช้จนหมดขวดหรือไม่ ?

ตอบ: มีทั้งจำเป็น และไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามยาหยอดตาหลังเปิดใช้แล้ว ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นที่ชั้นวางปกติ อุณหภูมิประมาณ 2-8 องศาเซลเซียส หากใช้ไม่หมดภายใน 1 เดือนให้ทิ้ง แม้ว่ายาจะยังเหลืออยู่ก็ตาม เนื่องจากยาหยอดตาแม้เป็นยาใช้ภายนอก แต่กระบวนการผลิตเน้นปราศจากเชื้อ การเก็บไม่เกิน 1 เดือนก็เนื่องจากกลัวการปนเปื้อนจากการหยอด แล้วส่งผลให้มีการเจริญเติบโตของเชื้อในน้ำยาหยอดตาได้ คงเคยได้ยินข่าวการติดเชื้อที่ตาหลังการผ่าตัด ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับน้ำเกลือที่ใช้ทำความสะอาดดวงตาขณะผ่าตัดอาจไม่ปราศจากเชื้อ เพราะฉะนั้นความสะอาดของยาที่ใช้กับดวงตาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ยาหยอดตาที่ได้มาบางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องหยอดต่อเนื่องจนยาหมด เช่น ยาหยอดตาสาหรับอาการระคายเคือง คันตา หรือตาอักเสบจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง โดยระยะเวลาในการใช้ยาหยอดตานั้นจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ และชนิดของยา เนื่องจากยาหยอดตาบางชนิดที่ใช้ระงับอาการระคายเคือง หากใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ต้อหิน หรือต้อกระจก เป็นต้น แต่ก็มียาหยอดตาหลายชนิดที่ต้องใช้ต่อเนื่องจนหมดขวด และต้องใช้เป็นประจำ เช่นยาหยอดเพื่อลดความดันตา เป็นต้น ซึ่งยาหยอดที่ต้องใช้ต่อเนื่อง 1 ขวด มักใช้หมดภายใน 1 เดือนเท่านั้นค่ะ

ถาม: ซื้อยาหยอดตามาใช้แก้เจ็บตาข้างซ้าย อยากจะหยอดข้างขวาที่ไม่ได้มีอาการด้วยได้หรือไม่ ?

ตอบ: ไม่แนะนำให้ใช้ยาหยอดตากับตาข้างที่ยังไม่เกิดอาการ เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนจากการหยอดได้ เช่น มือสั่นขณะหยอด ทำให้ปลายหลอดยาหยอดตาโดนส่วนต่างๆ ของตาที่มีอาการติดเชื้อ แล้วนำเชื้อโรคที่อยู่ในตาข้างซ้ายไปติดยังตาข้างขวาได้ ซึ่งคงไม่ดีแน่ต่อผู้ป่วยค่ะ

ถาม: ยาป้ายปากแก้ร้อนใน รักษาแผลในปาก กลืนลงคอได้หรือไม่ ?

ตอบ: ยารูปแบบใช้ภายในปากได้ออกแบบมาให้กินได้ ดังนั้นเมื่อจะใช้ยาจำพวกนี้จึงสามารถกลืนน้ำลายที่อาจมีตัวยาละลายอยู่ลงไปที่คอก็ได้ไม่เป็นอันตรายใดๆ ทั้งสิ้นค่ะ

ถาม: ลืมกินยาคุมกำเนิด ต้องทำอย่างไร ?

ตอบ: หากลืมกินยาคุมกำเนิดก็ต้องรีบกินทันทีที่รู้ตัว โดยกำหนดให้กินยาคุมกำเนิดภายใน 12 ชั่วโมงนับจากเวลาที่ต้องกินยา เช่น ปกติกินยาคุมกำเนิดเวลา 20.00 น. หากลืมให้กินยาทันที่ที่นึกได้ แต่ไม่เกินเวลา 8.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ส่วนยาเม็ดต่อไปก็กินยาตามเวลาเดิม อย่างไรก็ตามการกินยาเม็ดที่ลืมห่างเวลาเดิมเกิน12 ชั่วโมง สามารถทำได้ แต่ผลในการคุมกำเนิดก็จะน้อยลดลง เพราะฉะนั้นในเดือนนั้นก็ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่น ๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้หากลืมกินยาเกิน 12 ชั่วโมง หรือลืมกินยามากกว่า 1 เม็ด ควรพบแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อรับคำแนะนำในการกินยาครั้งต่อไปค่ะ

ถาม: ยาปฏิชีวนะ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ายาฆ่าเชื้อ กินแค่พอหายจากอาการได้หรือไม่ ?

ตอบ: ยาปฏิชีวนะ จำเป็นต้องกินยาอย่างต่อเนื่องตามจำนวนยา และระยะเวลาในการใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง เนื่องด้วยยามีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา ตามแต่สรรพคุณของยานั้นๆ หากกินยาไม่ครบตามที่แพทย์กำหนด ก็จะเพิ่มโอกาสทำให้เชื้อโรคดื้อยา เป็นผลให้อาการเจ็บป่วยในคราวต่อไป เป็นนานขึ้น หรืออาการหนักกว่าเก่า หรือต้องใช้ระยะเวลาในการรักษามากขึ้น หรือใช้ยาที่แรงขึ้น หรือมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาที่แพงขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นควรกินยาให้ครบตามที่แพทย์สั่งจะเป็นการดีที่สุดค่ะ

                หวังว่าคำตอบเหล่านี้จะทำให้ผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านใช้ยาอย่างถูกต้องมากขึ้นนะคะ โปรดอย่าลืมว่า ยาทุกตัวมีเหตุ และผลในการสั่งใช้ ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด หากพบข้อสงสัย หรือใช้ยาแล้วพบปัญหาให้รีบสอบถามแพทย์ และเภสัชกรของท่านทันทีค่ะ สวัสดีค่ะ

…………………………………………………..