การบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญที่สุดของผู้ป่วยที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทุกประเภท
ความหมาย การบาดเจ็บที่เกิดจากแรงที่เข้ามากระทบต่อศีรษะและร่างกาย แล้วก่อให้เกิดความบาดเจ็บต่อหนังศีรษะ
กะโหลกศีรษะ และ สมอง กับเส้นประสาทสมอง
ชนิดของการบาดเจ็บต่อศีรษะ
1. การบาดเจ็บต่อหนังศีรษะ เช่น หนังศีรษะฉีกขาด หัวโน
2. การบาดเจ็บต่อกะโหลกศีรษะ เช่น กะโหลกร้าว กะโหลกแตกยุบ
3. การบาดเจ็บต่อสมอง ได้แก่ เลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมอง เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง สมองช้ำ สมองบวม เลือดออกในสมอง
อาการในช่วงแรกๆ เป็นได้ตั้งแต่ไม่มีอาการเลย หรือปวดศีรษะเล็กน้อยไปจนถึงไม่รู้ตัว เกร็ง หรือแย่จนถึงขั้นจะเสียชีวิต โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บในช่วงแรกๆ แต่ลักษณะที่สำคัญและเป็นปัญหาที่ต้องคิดถึง คือการบาดเจ็บหรือเลือดที่ออกสามารถขยายตัวและเพิ่มความรุนแรงได้
เราจึงพบผู้ป่วยบางราย ที่คิดว่าตนเองไม่เป็นอะไรมากแต่ต่อมาแย่ลง ญาตินำส่งโรงพยาบาล แพทย์พบสมองเสียมากแล้ว หลังการรักษาพยาบาลเกิดการเสียชีวิต หรือความพิการ ซึ่งไม่น่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น
การดูแลและป้องกันสำหรับบุคคลทั่วไป
1. หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ เมาไม่ขับ สวมหมวกกันน็อค ไม่ใช้ความเร็วในการขับขี่สูง ไม่หาเรื่องทะเลาะวิวาท เป็นต้น
2. หลังได้รับบาดเจ็บ ถ้ามีประวัติสลบจำเหตุการณ์ไม่ได้ ถึงแม้ไม่มีอาการใดๆ ก็ให้มารับการตรวจที่โรงพยาบาล
เพราะบ่งถึงความรุนแรงที่มีต่อศีรษะพอควร
3. ในผู้ป่วยที่ซึมแต่ยังพอสื่อสารได้ ให้ดูบาดแผลที่มีเลือดออกจำนวนมาก แล้วทำการห้ามเลือดโดยการพัน หรือกดปากแผล
ก่อนนำส่งโรงพยาบาล
4. ในผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยพยายามให้อยู่ในท่าตรง หลีกเลี่ยงการอุ้มหลังงอ หรือศีรษะห้อย
เพราะผู้ป่วยอาจจะมีการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังหรือกระดูกต้นคอได้ ขณะนำส่งโรงพยาบาลระวังเรื่องการหายใจ
อาจตะแคงหน้าเล็กน้อยเพื่อป้องกันลิ้นตกและการสำลัก
5. สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก ตรวจไม่พบการบาดเจ็บที่รุนแรงในสมอง หลังสังเกตอาการในโรงพยาบาลและแพทย์
อนุญาตให้กลับบ้าน ญาติหรือผู้ใกล้ชิดจะต้องสังเกตอาการต่ออย่างน้อย 48 – 72 ชั่วโมง โดยวิธีการสังเกตอาการ
จะอยู่ในใบสังเกตอาการที่ทางโรงพยาบาลจะมอบให้ ทุกราย ซึ่งจึงจำเป็นที่ญาติหรือผู้ใกล้ชิดจะต้องทำความเข้าใจ
อย่างชัดเจน
6. โดยทั่วไปอาการที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยแย่ลง ได้แก่ ซึมลง สับสนมากขึ้น อาเจียน มีอาการกระตุก หรือชักเกร็ง