โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

เรียนรู้….เรื่องมะเร็งปอด

           มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบอันดับ 1 ในผู้ชาย และอันดับ 2 ในผู้หญิงมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอด ทั่วโลกประมาณปีละ 1.3 ล้านคน ผู้ป่วยมะเร็งปอดร้อยละ 85 มีประวัติการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลายาวนาน เกินกว่า 15 ปีขึ้นไป บุหรี่จึงนับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคนี้ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งปอดประมาณร้อยละ 15 ไม่มีประวัติ
การสูบบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งในผู้ป่วยกลุ่มหลังคือ พันธุกรรม และการได้รับสารก่อมะเร็ง เช่น ก๊าซเรดอน แอสเบสตอส มลภาวะในอากาศ เป็นต้น
           เมื่อคนในครอบครัวได้รับคำวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นมะเร็งปอด สมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยอาจตั้งคำถามในใจเป็นต้นว่า การวินิจฉัยแน่นอนแล้วหรือ
เกิดขึ้นได้อย่างไร? จะทำอย่างไรต่อไป แพทย์ที่เชี่ยวชาญสถาบันใดที่ควรรักษา ควรผ่าตัด ให้เคมีบำบัด หรือฉายแสงดี จะมีชีวิตอยู่อีกนานแค่ไหน? ค่ารักษาแพงไหม ฯลฯ บทความนี้จะช่วยไขข้อสงสัยให้ชัดเจนขึ้นในเรื่องมะเร็งปอดให้แก่ทุกท่าน รวมทั้งผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยที่รอคอยความหวัง
           มะเร็งเป็นโรคก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยเริ่มจากยีนในเซลล์ที่เกิดการบุบสลาย และไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นปกติ การบุบสลายของยีน เกิดจาก สารเคมี เช่น
ควันบุหรี่ สารรังสี หรือจากการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากโรคติดเชื้อเรื้อรัง หรือการระคายเคืองเมื่อความผิดปกติของยีนซึ่งเกิดจากการบุบสลายขยายตัวสะสม
มากขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา จนในที่สุดทำให้การทำหน้าที่ของยีนนั้นเปลี่ยนไปแทนที่จะควบคุมจังหวะการแบ่งตัวของเซลล์ให้เกิดขึ้นอย่างปกติ กลับกระตุ้น
ให้เซลล์มีการทวีจำนวนอย่างไม่หยุดยั้ง กลายเป็นเซลล์ดุร้าย เบียดเบียนเซลล์ข้างเคียง และสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ การเปลี่ยนแปลงจากเซลล์ปกติ
ไปเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของเซลล์มะเร็งต้องใช้เวลานับแรมปี ดังนั้นมะเร็งจึงไม่ใช่โรคที่จะเกิดข้ามคืนอย่างเฉียบพลัน
           มะเร็งปอดมีการเปลี่ยนแปลงของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งหลายตัว ที่สำคัญได้แก่ เค-ราสยีน (K-ras gene) ซี-มิค(C-myc) อีจีเอฟอาร์(EGFR)
และพี53 (p53) การที่มียีนหลายตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เซลล์มะเร็งมีธรรมชาติที่ดื้อต่อการรักษา และมีการกลับเป็นซ้ำขึ้นมาใหม่อีก

ลักษณะทางพยาธิวิทยา
มะเร็งปอดจำแนกออกเป็น 4 ชนิดหลักๆ ตามลักษณะของเซลล์ทางพยาธิวิทยา ได้แก่
           1.Adenocarcinoma พบได้บ่อยกว่าชนิดอื่นคือประมาณร้อยละ 45 ของมะเร็งปอดทั้งหมด และไม่เกี่ยวข้องกับประวัติการสูบบุหรี่
           2.Squamous cell carcinoma พบได้บ่อยรองลงมาคือประมาณร้อยละ 30 ของมะเร็งปอดทั้งหมด และมักเกี่ยวข้องกับประวัติการสูบบุหรี่จัด
           3.Large cell carcinoma พบได้น้อยกว่าชนิดอื่นๆ คือ เพียงประมาณร้อยละ 10 ของมะเร็งปอดทั้งหมด และเกี่ยวข้องกับประวัติการสูบบุหรี่จัด
           4.Small cell carcinoma เป็นมะเร็งปอดชนิดที่เซลล์มีขนาดเล็กและดุร้ายกว่า 3 ชนิดแรก แพร่กระจายไปอวัยวะอื่นได้เร็ว
พบได้ประมาณร้อยละ 15 ของมะเร็งปอดทั้งหมด และเกี่ยวข้องกับประวัติ การสูบบุหรี่จัด
มะเร็ง 3 ชนิดแรกมักเรียกรวมเป็นกลุ่มเดียวกันว่า Non-small cell carcinoma (NSCLC) ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า เซลล์มะเร็งทั้ง 3 ชนิดนี้มีหลักการในการจำแนกขั้น และหลักการในการรักษาที่คล้ายกันคือ ผ่าตัด ฉายแสง และเคมีบำบัด ส่วนมะเร็งชนิดที่ 4 นั้นมีหลักการจำแนกขั้นและหลักการรักษาที่แตกต่างออกไปจาก 3 ชนิดแรกคือ ฉายแสง และเคมีบำบัดเท่านั้น ไม่นิยมผ่าตัดเพราะมะเร็งกระจายเร็ว การผ่าตัดจึงไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร

การแพร่กระจายของมะเร็งปอด
           เซลล์มะเร็งปอดเริ่มต้นที่เยื่อบุของหลอดลมทวีจำนวนจาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8……กลายเป็นจุดเล็กๆ และเป็นก้อนในเวลาต่อมา ก้อนมะเร็ง
จะขยายตัวได้ทั้งสองทิศทางคือ เข้ามาในหลอดลม และลงลึกเข้าไปผนังของหลอดลม เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นก็จะมีเส้นเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น และจะเบียดเบียนเซลล์ปกติ
ที่อยู่ข้างเคียง มะเร็งปอดอาจเกิดเริ่มเป็นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของปอดก็ได้ (กลีบบน กลีบล่าง ข้างขวา ข้างซ้าย) เมื่อมะเร็งมีขนาดโตขึ้น ก็จะกระจายสู่อวัยวะข้างเคียง เช่น เยื่อหุ้มปอด กระบังลม เยื่อหุ้มหัวใจ หลอดอาหาร เป็นต้น และในขณะเดียวกันอาจแพร่กระจายจากเนื้อปอดสู่ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ๆ ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด
ข้างเดียวกัน และในเวลาต่อมาจะกระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ห่างออกไป เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่ไกลออกไป เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้า เป็นต้น
และในระยะท้ายมะเร็ง จะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว ซึ่งจะเรียกกันว่าเป็นมะเร็งระยะที่ 4

การจำแนกระยะของมะเร็งปอด
           มีความสำคัญในการตัดสินใจกำหนดแผนการรักษาผู้ป่วยและในการทำนายโรค การจำแนกระยะของโรค มี 2 แบบ คือ การจำแนกก่อนการผ่าตัด
เรียกว่าการจำแนกทางคลินิก (clinical staging) โดยประเมินจากการตรวจร่างกาย และภาพทางรังสีทรวงอก (ทั้งแบบธรรมดา และแบบอาศัยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์)
ส่วนการจำแนกระยะของโรคอีกแบบหนึ่งคือ การจำแนกหลังการผ่าตัดซึ่งแพทย์ผ่าตัดได้ตัดต่อมน้ำเหลืองออกตรวจทางพยาธิวิทยาแล้วเรียกว่า
การจำแนกทางพยาธิ (pathological staging) ซึ่งจำแนกออกได้เป็น 4 ระยะโดยประมาณ คือ
           ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งจำกัดตัวอยู่เฉพาะในปอดข้างเดียว ยังไม่แพร่กระจายไปปอดอีกข้างหนึ่งหรือ
กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะข้างเคียงหรือไปยังอวัยวะอื่น
           ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือที่ขั้วปอด
           ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่เมดิแอสตินัมและที่อยู่ไกลออกไป เช่น ที่บริเวณ ไหปราร้า
หรือกระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจ กระบังลม หลอดอาหาร
           ระยะที่ 4 มะเร็งในระยะที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นที่ไกลออกไป เช่น ต่อมอดรีนัล สมอง ตัว

การวินิจฉัยมะเร็งปอด
           การวินิจฉัยมะเร็งปอดที่แน่นอนจะอาศัยผลการตรวจทางพยาธิเป็นสำคัญโดยการตัดชิ้นเนื้อ ออกตรวจ ยิ่งไปกว่านั้นในบางครั้งจำเป็นต้องตรวจยืนยัน
โดยวิธีการทางชีวโมเลกุลด้วยเพื่อความแม่นยำ ในการจำแนกประเภทของมะเร็งและเป็นแนวทางในการรักษา
อาการของผู้ป่วยมะเร็งปอดมีลักษณะไม่จำเพาะ ได้แก่ ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด เป็นต้น อาการดังกล่าวนี้อาจพบได้ในโรคปอดอื่นๆ เช่น วัณโรคปอด ฯลฯ
การตรวจร่างกายก็เช่นกันจะมีลักษณะไม่จำเพาะ และขึ้นอยู่กับระยะของโรคด้วยมะเร็งปอดในระยะที่ 1 จะไม่พบความผิดปกติจากการตรวจร่างกาย ส่วนใหญ่มักพบมะเร็งปอดโดยบังเอิญจากการเอกซเรย์ปอดในการตรวจสุขภาพประจำปีหรือจากการเอกซเรย์ปอดในกรณีที่มีอาการไอเรื้อรัง ความผิดปกติจากการตรวจร่างกาย
ในผู้ป่วยมะเร็งปอดมักพบได้เมื่อมะเร็งปอดเข้าสู่ระยะที่ 2 ที่ 3 หรือที่ 4 แล้ว เช่น คลำพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้า ปอดมีน้ำ ปอดแฟบ หน้าบวม นิ้วปุ้ม ฯลฯ
ภาพเอกซเรย์ปอดช่วยให้การวินิจฉัยมะเร็งปอดมีความแม่นยำขึ้น และช่วยในการจำแนกระยะของเร็งทางคลินิก (ด้วยการถ่าย เทคนิคธรรมดา และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์) ลักษณะที่ชวนให้สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งคือ ก้อนกลมที่มีขนาดตั้งแต่ 8 มิลลิเมตรขึ้นไป ซึ่งแพทย์อาจทำการส่องตรวจหลอดลมด้วยกล้อง (Bronchoscopy) และพยายามตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาสำหรับยืนยันการวินิจฉัย

การรักษา
           การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก ได้ผลดีที่สุดสำหรับก้อนมะเร็งที่ยังมีขนาดเล็ก และยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียง (มะเร็งระยะที่ 1) สำหรับมะเร็ง
ที่อยู่ในระยะที่ 2 และ 3 การผ่าตัดยังมีประโยชน์ แต่ต้องใช้วิธีอื่น ได้แก่ เคมีบำบัด และการฉายแสงร่วมด้วย สำหรับมะเร็งปอดระยะที่ 4 นั้น การผ่าตัดเพื่อรักษา
ไม่ได้ประโยชน์อาจใช้การผ่าตัดเพื่อการตัดชิ้นเนื้อสนับสนุนการวินิจฉัยเท่านั้น
เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาซึ่งเป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่อยู่ในระยะการแบ่งตัว ดังนั้นยาเคมีบำบัดจึงมีผลกับเซลล์อื่นๆ
ในร่างกายที่อยู่ในระยะการแบ่งตัวด้วย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่สำคัญ ผลข้างเคียงของยาที่เห็นได้ เช่น ผมร่วง ลิ้นแสบ เป็นต้น
การฉายแสง เป็นวิธีการรักษาร่วมกับการผ่าตัดหรือเพื่อระงับอาการเฉพาะที่ เช่น อาการปวด อาการหน้าบวมเนื่องจากก้อนมะเร็งที่ขั้วปอดกดทับ
เส้นเลือดดำใหญ่ เป็นต้น
การรักษาแบบมุ่งเป้า (Target therapy) เป็นการรักษาแบบใหม่ซึ่งกำลังมีความนิยมขึ้นเรื่อย โดยธรรมชาติ เซลล์มะเร็งมีตัวรับสัญญาณ (Receptors) เพื่อกระตุ้นให้เซลล์แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว จึงมีการศึกษาค้นหายามุ่งเป้าไปที่ตัวรับดังกล่าวออกฤทธิ์ขัดขวางการรับสัญญาณที่มากระตุ้นให้เซลล์แบ่งตัว ผลที่ได้คือก้อนมะเร็งจะฝ่อลง แต่ยาเหล่านี้ยังมีราคาแพงอยู่
การรักษาโดยใช้ภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) โดยเจาะเลือดแยกเอา T- cell ของผู้ป่วยเองมาขยายจำนวนนอกร่างกาย ในอาหารเลี้ยงเชื้อที่มีสาร Cytokines
ร่วมด้วย เพื่อกระตุ้นให้ T- cell ดุขึ้น แล้วนำ T- cell ที่ได้รับการกระตุ้นแล้วกลับคืนสู่ร่างกายผู้ป่วย T- cell จะประกบกับเซลล์มะเร็งและฆ่าเซลล์มะเร็ง การรักษา
โดยวิธีนี้ยังอยู่ในขึ้นทดลอง

ผลจากการรักษา
ผลการรักษาจะเป็นการช่วยทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดี การยืนยาวของชีวิตขึ้นอยู่กับระยะของโรคในขณะที่มาพบแพทย์ โดยทั่วไป
วัดเป็นอัตราการอยู่รอดที่ 5 ปี เช่น ผู้ป่วยมาพบแพทย์ในระยะที่ 1 จะมีอัตราการอยู่รอด 5 ปี 85 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ป่วยมาพบแพทย์ในระยะที่ 4 จะมีอัตราการอยู่รอด 5 ปี เพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
…………………………………..